‘Nasket’ สตาร์ทอัพเทคโนโลยีเติมเต็มความสะดวกให้ชีวิต โดดเด่นด้วยดีไซน์บวกฟังก์ชั่นสุดว้าว!

การใช้ชีวิตแบบอัจฉริยะเป็นเรื่องใกล้ตัว

    จากจุดเริ่มต้นความต้องการดื่มกาแฟกระป๋องของโปรดซึ่งปกติมีอยู่ติดบ้านไม่เคยขาด แต่จู่ๆ ก็กลับหมดเกลี้ยง จะออกไปซื้อในเวลานั้นก็ไม่สะดวก กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของนักธุรกิจหนุ่มคนรุ่นใหม่ ‘อ๋อง-ผรินทร์ สงฆ์ประชา’ ในการพัฒนา ‘Nasket’ แพลตฟอร์มที่ออกแบบเพื่อตอบโจทย์คนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรือบรรดาคนเมืองโดยเฉพาะ

    “เป็นไอเดียที่ปิ๊งแว่บขึ้นมาตอนนั้นว่า ถ้าเราอยู่บ้านแล้วอยากจะซื้อน้ำอัดลมหรือกาแฟเหมือนกับหยิบจากชั้นวางสินค้าในร้านสะดวกซื้อแล้วนำมาให้พนักงานสแกนบาร์โค้ด จ่ายเงินเสร็จแล้วยกดื่มได้ทันทีก็คงจะดี รวมถึงตัวผมเองที่มีประสบการณ์ทำงานมานานทั้งด้านอี-คอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ เคยเป็น Head of E-Commerce บมจ.ซีพีออลล์ ก่อนไปเป็นผู้บริหารของดีเอชแอล ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ระดับโลก ก็อยากให้ไอเดียนี้มารวมกับความต้องการที่จะให้อี-คอมเมิร์ซออกมาสู่โลกจริงมากขึ้น จึงชักชวนเพื่อนๆ ที่แต่ละคนเริ่มมีความคิดว่าไม่อยากทำงานประจำที่มีเวลาตายตัวแล้ว อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือทำงานแบบยืดหยุ่นเวลาได้ (Flexible Time) ออกมาลุยทำแพลตฟอร์มตัวนี้อย่างจริงจัง”

Advertisement

    CEO และ Co-Founder บริษัท นาสเกต รีเทล จำกัด เล่าถึงที่มาของชื่อ Nasket ว่า มาจาก ‘Next basket’ สื่อความหมายถึงการเลือกสินค้าลงตะกร้าขณะกำลังช็อปปิ้งออนไลน์ ให้เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่ายๆ มีฮาร์ดแวร์สำหรับสแกนบาร์โค้ดสั่งซื้อสินค้าจากบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตของแต่ละห้างได้จากในบ้าน และรอรับสินค้าทุกชิ้นที่จะมาส่งพร้อมกันได้ในครั้งเดียว

    “เริ่มจากพัฒนาฮาร์ดแวร์ เขียนโปรแกรม ติดต่อกับซัพพลายเออร์หลายรายมาก ใช้เวลาอยู่ประมาณ 2 ปี ระหว่างนั้นต้องดีไซน์ตัวเครื่องให้สวยงามดูดี วางแผนไว้แต่แรกว่าจะนำไปประกวดตามงานประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ระดับประเทศเพื่อให้ได้รางวัล เพราะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของสินค้าเราคือกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ระดับท็อปเทน”

    ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและวางแผนอย่างชัดเจน จนภายหลังสามารถคว้ารางวัลระดับโลกมาได้สมใจ ได้รับการยกย่องว่าเป็นสตาร์อัพคนไทยที่ครองรางวัลออกแบบระดับโลกถึง 2 รางวัลใหญ่อย่าง ‘European Product Design Award’ จากยุโรป และ ‘International Design Awards’ จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมอบให้เพื่อสนับสนุนนักออกแบบที่มีความมุ่งมั่น และมีแนวคิดในการดีไซน์และสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ พร้อมฟังก์ชั่นที่ช่วยให้การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันสะดวกสบายขึ้น

    แม้แต่ในเมืองไทยก็ยังได้รับรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ‘Design Excellent Award’ DE Mark จากสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 

โดดเด่นด้วยดีไซน์บวกฟังก์ชั่นสุดว้าว

    นอกจากดีไซน์เท่ทันสมัยเสมือนเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ระดับโลกแล้ว อีกความโดดเด่นของ Nasket ก็คือฟังก์ชั่นใช้งานที่ทำให้เพิ่มมูลค่าให้กับคอนโดมิเนียมหรือบ้านสำหรับโครงการที่นำไปติดตั้งให้แก่ลูกบ้าน ผรินทร์บอกว่า ทันทีที่ลูกบ้านเห็นครั้งแรกว่ามีอุปกรณ์อัจฉริยะตัวนี้อยู่ในห้องจะรู้สึกว้าว เหมือนกับเป็นสมาร์ทโฮมชิ้นหนึ่ง แต่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสั่งของออนไลน์จากหลายที่ได้พร้อมกันในครั้งเดียวโดยไม่ต้องเสียเวลาโหลดทุกแอปพลิเคชัน

    ไม่เพียงแต่สั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อเท่านั้น แพลตฟอร์มอัจฉริยะนี้ยังสามารถจัดหาบริการช่างทุกรูปแบบ ดูแลทำความสะอาดบ้าน ฟู้ดเดลิเวรี่ แม้แต่ติดต่อจองคิวกับร้านผมที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ในประเทศไทยอย่าง ‘ชลาชล’ ก็เป็นเรื่องง่าย เพียงสระผมแล้วนั่งรอสบายๆ แฮร์สไตลิสท์จากซาลอนชื่อดังก็จะมาให้บริการถึงบ้านทันที

คู่แข่งในกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน

    ปัจจุบัน Nasket จำหน่ายไปแล้วกว่า 6,000 เครื่อง รวมกว่า 20 โครงการ ล้วนแล้วเป็นโครงการของดีเวลลอปเปอร์ระดับแถวหน้า เช่น The Line วงศ์สว่าง ของ บมจ.แสนสิริ, ไนท์บริดจ์ พหลโยธิน อินเตอร์เชนจ์ ของ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, ไอดีโอ คิว สยาม-ราชเทวี และ คิว ชิดลม-เพชรบุรี ของ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, เซ็นทริค รัชโยธิน ของ บมจ.เอสซี แอสเสท รวมถึงโครงการบ้านหรูระดับราคาสิบล้านขึ้นไปอีกหลายโครงการ

    “เหตุผลที่เราได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในหลายๆ โครงการ เพราะเป็นฟังก์ชั่นที่ช่วยเพิ่มมูลค่าอย่างที่กล่าวข้างต้น แล้วก็ยังไม่มีคู่แข่งแพลตฟอร์มที่เป็นอุปกรณ์และเทคโนโลยีเหมือนกับเรา มีแต่คู่แข่งทางอ้อมซึ่งเป็นแอปพลิเคชันช้อปปิ้งทั่วไป หรือที่เป็นงานบริการช่าง สั่งอาหารเดลิเวรี่ แล้วพาร์ทเนอร์ของ Nasket ปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 30 ราย ก็คัดเฉพาะเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น ลอนดอน แท็กซี่ สไตล์,  ชลาชล, เซ็นทรัล เรสเตอรองค์ กรุ๊ป, แกร็บแท็กซี่, เบทาโกร เป็นต้น”

    “แม้แต่ดีไซน์ของตัวเครื่องที่ให้อารมณ์ว้าวเท่ ซึ่งออกสู่ตลาดมา 4 ปีแล้ว แต่วันนี้ทุกคนที่เห็นต่างบอกเป็นเสียงเดียวว่ายังว้าวอยู่ เรียกว่าออกแบบได้ทันสมัยเหนือกาลเวลา ลูกค้าโครงการบางรายไม่เคยเห็นมาก่อน พอมาเจอที่เซลล์ แกลเลอรี่ ก็ตื่นเต้น บอกว่าจะได้ใช้หรือเปล่ายังไม่รู้ แต่ถ้ามีแถมก็อยากได้นะ (หัวเราะ) แล้วก็มีหลายรายที่ตัดสินใจซื้อห้องชุดหรือบ้านในโครงการเพราะมาเห็นเครื่องนี้ในห้องตัวอย่าง”

แนวทางพิชิตอุปสรรค

    “ต้องย้อนไปถึงช่วงกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาโปรดักส์ 2 ปีแรก เราใช้เงินทุนประมาณ 5-6 ล้านบาทซึ่งมาจากผู้ร่วมก่อตั้งรวมกับของนักลงทุนบางส่วน ที่ใช้เงินค่อนข้างเยอะเพราะการทำฮาร์ดแวร์ก็มีอุปสรรคปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง เหมือนกับพยายามเดินบนผืนน้ำแข็งแล้วไม่มีไม้ปักให้ยึด ทีมต้องเดินทรงตัวอย่างมีสติอยู่ตลอด ส่วนตัวผมเองแม้จะมีคอนเนคชั่นในวงการพอสมควร แต่ก็ต้องพัฒนาโปรดักส์แบบเงียบๆ ซึ่งต้องมีผิดพลาดบ้าง การทำฮาร์ดแวร์ก็เหมือนสร้างเครื่องใช้ไฟฟ้า ทุก 2 เดือนต้องมีการพัฒนาฮาร์ดแวร์ตัวใหม่ขึ้นมา เพราะเมื่อทำเสร็จแล้วเจอปัญหาก็ต้องรื้อทำใหม่ ต้องไปแก้ไขที่โรงงานทันที ค่อนข้างวุ่นวายมากสำหรับงานออกแบบฮาร์ดแวร์”

    ผรินทร์เล่าว่า ด้วยความที่ไม่เคยสร้างฮาร์ดแวร์มาก่อน แล้วก็ไม่รู้ว่าวิธีที่ถูกต้องนั้นต้องทำกันอย่างไร โดยปกติกระบวนการทำฮาร์ดแวร์ในท้องตลาดจะวางแผนออกแบบครั้งเดียว เมื่อเสร็จแล้วจึงค่อยๆ แก้ปัญหาทีละจุด แต่ของ Nasket ทำเสร็จแล้วก็ทำใหม่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคนในวงการตกใจว่าทีมนี้ทำได้อย่างไร ที่สำคัญคือพัฒนาโปรดักส์สำเร็จภายใน 2 ปีถือว่ารวดเร็วมาก แถมยังได้รางวัลระดับโลกอีกด้วย

    “เบื้องหลังความสำเร็จมาจากความไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรก็อัดแรงทำเข้าไป ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการออกแบบให้ดูดีทุกจุดเพื่อให้ได้รางวัล ต้องมีมุมโค้งกี่องศา รูตะแกรงด้านหน้าตัวเครื่องต้องมีระยะความถี่เท่าไร แม้แต่ขนาดก็เล็กและแบนจนกระทั่งฝังอยู่ในผนังได้ แตกต่างไปจากบาร์โค้ด สแกนเนอร์ ตามร้านสะดวกซื้อหรือตามซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่”

    ซีอีโอแพลตฟอร์มอัจฉริยะบอกเล่าถึงการเพิ่มอุปสรรคความยากต่อไปอีกขั้นเมื่อไปเจอโรงงานในระดับราคาที่เอื้อมถึง แต่ไม่สามารถสร้างตัวเครื่องแบบที่ต้องการได้ ทีมงานต้องตัดสินใจกันว่า หากเลือกผลิตตัวเครื่องกับโรงงานในไทย หน้าตาก็คงออกมาบ้านๆ ไม่น่าจะได้รางวัลอย่างแน่นอน หรือจะเริ่มต้นหาโรงงานผลิตแห่งใหม่ที่ต่างประเทศ ก็เป็นความท้าทายที่ต้องตัดสินใจอย่างถี่ถ้วน เพราะใช้เงินไปเยอะแล้ว แต่สุดท้ายพวกเขาเดินหน้าตามความตั้งใจ บินไปต่อรองกับโรงงานที่จีนว่าจะขอจ่ายค่าโมลต้นแบบโดยคิดจากเปอร์เซนต์ของการจำหน่ายเครื่อง ปรากฎว่าเจรจาได้เป็นผลสำเร็จ แก้ไขอุปสรรคไปได้อีกเปลาะ

    “หลังจากแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในปี 2560 ก็ต้องขอบคุณโครงการ Startup Voucher ของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่มองเห็นถึงศักยภาพของ Nasket พาไปโรดโชว์ต่างประเทศ ทำให้เรามีโอกาสขายไลเซนส์ให้กับนักลงทุนต่างชาติ”

18

คำแนะนำสำหรับว่าที่สตาร์ทอัพ

    เนื่องจากประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 Nasket ก็ได้รับผลกระทบทั้งลบและบวก เพราะลูกค้าที่อยู่ในมือเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นภาคส่วนที่รายได้ลดลงเป็นอันดับสองรองจากท่องเที่ยว แต่ด้วยความเป็นบริษัทมหาชนจึงต้องพัฒนาโครงการใหม่ๆ ดังนั้น แม้จะมียอดขายของเครื่องเพิ่มขึ้นจากโครงการที่เปิดตัว แต่ทางผู้ประกอบการมีการเจรจาต่อรองให้โครงการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยจึงจะจ่ายเงิน โดยซีอีโอ บริษัท นาสเกต รีเทลฯ พร้อมที่จะปรับตัวไปตามสถานการณ์ด้วยการรับข้อเสนอ เพราะหากรอเวลาได้ก็จะมีกระแสเงินสดเข้ามาแน่นอน 

    “แต่สำหรับน้องๆ ที่มีไอเดียแล้วอยากเป็นสตาร์ทอัพแต่ทางบ้านไม่สามารถซัพพอร์ตเงินลงทุนได้ แนะนำว่าให้ทำงานประจำหรือไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตามบริษัทสตาร์ทอัพก่อน เพราะกระแสเงินทุนจากบริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการทำธุรกิจร่วมกับสตาร์ทอัพเวลานี้ยังไม่มี รอให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ท้องฟ้าเริ่มสาง มีเงินทุนจากบริษัทใหญ่ๆ กลับมาแล้วเริ่มลุยวงการสตาร์ทอัพก็ยังไม่สาย ฟังดูอาจจะแย้งกับคำแนะนำของคนอื่น แต่ในความเห็นของผมคือต้องแยกเรื่องของชีวิตจริงกับความฝันให้ได้

    ขอย้ำว่า ณ ขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม อย่าเพิ่งรีบเขียนโปรดักส์ที่อยู่ในใจ รอจนกว่าตลาดเงินทุนกลับมาคึกคักอีกครั้ง บอกได้เลยว่าเมื่อถึงวันนั้นไอเดียคุณจะคมยิ่งกว่าเดิม”

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image