บอร์ด สปสช. บริหารกองทุนบัตรทอง ร่วมมือแก้วิกฤต “โควิด-19” ดูแลคนไทย

อนุทิน ชาญวีรกูล

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ความร่วมมือของทุกคนถือเป็นหัวใจสำคัญของการนำพาประเทศผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ให้ผ่านพ้นไปได้

ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นอกจากดูแลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แล้ว ยังมีบทบาทสำคัญ คือการทำหน้าที่ “ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” (บอร์ด สปสช.) ร่วมบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “กองทุนบัตรทอง” 

Advertisement

หน้าที่นี้แม้ไม่ได้เป็นการบริหารหน่วยบริการที่เป็นด่านหน้าในการให้บริการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขโดยตรง แต่ก็มีบทบาทคอยเป็นหน่วยสนับสนุนให้ด่านหน้าทั้งกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยบริการภาครัฐและเอกชนดูแลประชาชนได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น 

    ตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของบอร์ด สปสช. ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำหน้าที่ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มุ่งมั่นและตั้งใจช่วยกันทำงานผลักดันเพื่อให้ประชาชน ทั้งผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงการรักษาและบริการที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ที่เป็นเป้าหมายและนโยบายของรัฐบาล

จากสถานการณ์โควิด-19 ของไทย ที่เริ่มขึ้นช่วงต้นปี 2563 สปสช. ได้เตรียมงบประมาณเฉพาะเพื่อรองรับ พร้อมจัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับกรณีโรคโควิด-19 ในการดูแลประชาชน ด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เฉลี่ยรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ อยู่ที่ 180 รายต่อวัน ส่งผลให้ สปสช.ต้องปรับปรุงแผนงบประมาณใหม่ให้เพียงพอต่อการรับมือ โดยเพิ่มเติมเป็นจำนวน 9,847 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับที่ 3) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร์เรียบร้อยแล้ว

    ทั้งนี้ภายใต้งบประมาณ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ รอบที่ 3 ที่ปรับเปลี่ยนนี้ ได้มีการปรับต้นทุนและอัตราจ่ายบริการต่างๆ ให้เหมาะสม เช่น การตรวจหาเชื้อโควิด-19 วิธีทดสอบแอนติเจนจากราคาครั้งละ 1,200 บาท เป็น 500 บาท ที่เกิดจากการต่อรองราคา ทำให้สามารถยายจำนวนการตรวจได้มากขึ้น การปรับอัตราจ่ายค่าบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากครั้งละ 20 บาท เป็น 40 บาท ที่เป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ การเพิ่มบริการตรวจ LAB เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุการตรวจและรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 (ภาวะ VITT) และการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ช่วยลดความวิตกกังวลของประชาชนในการร่วมสร้างภูมิคุ้มกันประเทศ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19        

    ขณะเดียวกันที่ผ่านมา สปสช. ได้จัดระบบบริการเชิงรุก นอกจากความร่วมมือประสานหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้าไม่ถึงบริการ ผ่านกลไกสายด่วน สปสช. 1330 ที่ขยายเพิ่มกว่า 200 คู่สาย การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายกับโรงพยาบาลเอกชน และการปรับระยะเวลาจ่ายชดเชยค่าบริการเป็นทุก 15 วัน เหล่านี้ทำให้ปัญหาความล่าช้าในการให้บริการ ปัญหารอเตียงรักษาและจำนวนการร้องเรียนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

    วันนี้นอกจากโรงพยาบาลที่รับดูผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการแล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัมเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวและสีเหลืองจากโรงพยาบาลต่างๆ ได้ถึง 5,000 เตียง ขณะนี้เปิดรองรับบริการแล้ว 2,000 เตียง ซึ่งภายในมีความพร้อมทางการแพทย์และมีประสิทธิภาพในการดูแล ทั้งห้องความดันลบ ห้องแยกผู้ป่วย ห้องฉุกเฉิน เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ทางการแพทย์ ทั้งมีทีมคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาช่วยกันดูแล ขณะเดียวกัน ณ วันนี้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เริ่มให้บริการประชาชนทั่วประเทศแล้ว ซึ่งบทบาทของบอร์ด สปสช.ในด้านต่างๆ เหล่านี้ ร่วมกับบทบาทที่เข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขก็มีผลทำให้สามารถช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากได้ในช่วงวิกฤต และทำให้ระบบสาธารณสุขไทยได้รับคำชื่นชม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image