Coding Arena แพลตฟอร์มเขียนโค้ดออนไลน์ ทักษะแห่งอนาคตของเด็กเจเนเรชันใหม่

เมื่ออินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีกลายเป็นสะพานให้ผู้คนสามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัด ทลายอุปสรรคเรื่องเวลาและสถานที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง New Normal อินเทอร์เน็ตจึงถูกยกระดับเพื่อเติมเต็มโอกาสสนับสนุนให้ผู้เรียน เข้าถึงการศึกษาได้สะดวกสบายและเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น เทรนด์ธุรกิจด้านการศึกษา หรือ EdTech จึงเกิดขึ้นและน่าจับตามองมากขึ้นในปัจจุบัน

Coding Arena อีกหนึ่งสตาร์ทอัพสาย EdTech แพลตฟอร์มสอนการเขียนโปรแกรมรูปแบบออนไลน์ที่เรียกได้ว่ารวบรวมทักษะที่จำเป็นให้คนรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้แบบที่เดียวจบ มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเขียนเริ่มต้น การเขียนโปรแกรมเพื่อแข่งขัน เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ รวมไปถึงเปิดเวทีให้เขียนโปรแกรมฝึกฝนอย่างมืออาชีพ ด้วยการนำเสนอในรูปแบบของเกม ยกตัวอย่างเกมที่หลายคนคุ้นเคย เกมหมูป่า

หัวใจของการสร้าง “Coding Arena”

Advertisement

จั๊ม ณัฐภัทร เลาหระวี ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท โค้ดดิ้ง อารีน่า จำกัด เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มที่ก่อตั้งมาประมาณ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 ว่า เดิมทำงานอยู่ที่ DURIAN หรือ บริษัท ดูเรียน คอร์ปปอเรชัน จำกัด บริษัทผู้ดูแลเรื่องหลักสูตรของสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีต่างๆ แต่ระหว่างนั้นเองเขาพบว่า ประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่จะเข้ามาตอบโจทย์การพัฒนาคน เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับทักษะแห่งอนาคตที่สตาร์ทอัพหรือองค์กรต่างๆ ยังขาดแคลน ซึ่งเขามองว่าทักษะด้านการเขียนโปรแกรม (Coding and Programming) คือสิ่งสำคัญ และจะแฝงลงไปในทั้งธุรกิจ ชีวิต และสังคม ในแทบทุกมิติ รวมถึง การทำให้เยาวชน ตลอดจนคนในประเทศ มีความคุ้นเคย ความเข้าใจ และการตระหนักถึงความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

“จุดเริ่มต้นมาจากการมองเห็นถึงความขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีในเมืองไทย จึงมีความรู้สึกว่าอยากทำอะไรสักอย่างที่เข้ามาทดแทนตรงนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ คือ ให้กับประเทศไทยสามารถเข้าไปแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ในวันที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทเกือบทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยมีหัวใจหลัก คือ ทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด”

Advertisement

สร้างด้วยความสุข เล่นด้วยความสนุก และต่อยอดสู่อาชีพ”

CEO Coding Arena เล่าต่ออีกว่า การตั้งแพลตฟอร์มนี้ อาศัยความเชี่ยวชาญของทีม DURIAN คือ การสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรม ที่จะทำให้เกิดชุมชนของผู้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน และต่อยอดสายสัมพันธ์จนรักและกลายเป็นเครือข่ายการพัฒนา ที่ยึดโยงและขยายต่อได้ในทุกมิติในอนาคต 

‘Coding Arena’ เราเริ่มต้นด้วยความปรารถนาดีต่อเด็กๆ และประเทศไทย จึงทำให้เราทำงานอย่างมีความสุข และทุกมิติของการคิด คือ “ทำอย่างไรให้เยาวชน และผู้ที่สนใจ สามารถเรียนรู้ทักษะแห่งอนาคตนี้ได้ ด้วยความสนุก ไม่เครียด และมีกระบวนการเรียนรู้ต่อยอดได้ตลอดชีวิต”

ณัฐภัทร บอกว่า ช่วงแรกของการก่อตั้งแพลตฟอร์ม เขาตั้งโจทย์ว่า “จะทำอย่างไรให้เยาวชนมาสนใจด้านการเขียน Coding เลยเป็นไอเดียที่ตั้งเกมที่มีชื่อเรียกว่า เกมหมูป่า ซึ่งเป็นเกมที่ยึดเหตุการณ์ที่เป็นกระแสดังไปทั่วโลก ทีมหมูป่า 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เมื่อปี 2561 มาสู่การก่อตั้งแพลตฟอร์มที่เป็นลักษณะของเกมในช่วงแรก

เกมหมูป่า มีลักษณะการเล่นเหมือนเกมทั่วไป ผู้เล่นสามารถเลือกบทบาทในเกมตามความต้องการ ทั้งบทบาทผู้ติดในถ้ำ หรือทีมช่วยเหลือ ซึ่งทุกคาแรคเตอร์จะต้องทำภารกิจเอาชีวิตรอดจากถ้ำให้ได้ แต่สิ่งที่พิเศษ คือ เกมหมูป่า ได้นำเอารูปแบบการเขียนโปรแกรม หรือการเขียนโค้ดเข้ามาแทนที่การควบคุมการเล่นรูปแบบเดิมที่มีฟังก์ชันไม่กี่ปุ่ม ซึ่งแต่ละด่านของเกม ผู้เล่นจะต้องเขียนโค้ดต่างๆ เพื่อให้สามารถทำภารกิจได้สำเร็จ นอกจากนั้น Coding Arena ยังเตรียมพร้อมปล่อยเกมอื่นๆ ที่มีลักษณะการเล่นผ่านการเขียนโค้ด ให้ผู้ที่สนใจอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ได้เรียนรู้ผ่านลักษณะพิเศษ (Feature) ของแพลตฟอร์มอีกด้วย ซึ่งลักษณะพิเศษของแพลตฟอร์ม มีด้วยกัน 4 รูปแบบ คือ

  • ARCADE เปรียบเสมือนก้าวแรกของโปรแกรมเมอร์ เป็นพื้นที่ให้ฝึกเขียนโค้ดผ่านโจทย์เกมที่สนุกสนานและท้าทายทุกรูปแบบ 
  • ARENA พื้นที่ที่จะให้เหล่าโปรแกรมเมอร์ได้ฝึกฝนทักษะในก้าวที่ 2 ด้วยการเปิดสนามให้มีการแข่งขันอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างแรงผลักดันและเกิดการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ 
  • VILLAGE คอมมูนิตี้ที่ให้เหล่าโปรแกรมเมอร์ได้พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ขอคำแนะนำในการพัฒนาการเขียนโค้ด
  • TAKE-OFF เสริมสร้างพอร์ตฟอลิโออย่างมืออาชีพ เปิดเส้นทางให้อง์กรต่างๆ ให้เข้ามาดึงตัวเพื่อก้าวสู่นักโปรแกรมเมอร์ตัวจริง

ย่างก้าวในปัจจุบัน และเป้าหมายในอนาคตของ Coding Arena

ปัจจุบันสตาร์ทอัพสาย EdTech อย่าง Coding Arena มีจำนวนสมาชิกเข้าใช้งานในเว็บไซต์มากกว่า 50,000 คน ครอบคลุมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเด็ก เยาวชน ตลอดทั้งผู้สนใจในวัยอื่นๆ ทั้งนี้ผู้บริหารสตาร์ทอัพยังกล่าวถึงการเดินทางของสตาร์ทอัพตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ว่า ยังไม่สามารถเรียกตัวเองว่าประสบความสำเร็จได้ เพียงแต่เป็นการก้าวออกจากจุดเริ่มต้นเท่านั้น

“ขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามคำว่า ประสบความสำเร็จ ไว้อย่างไร แต่ถ้าถามว่า Coding Arena มาไกลกว่าตอนแรกไหม ตอบว่าค่อนข้างไกลกว่าจุดเริ่มต้นมากแล้ว” 

สำหรับเป้าหมายของ Coding Arena ณัฐภัทร บอกว่า จะดำเนินตามความฝันที่วางไว้ คือ พัฒนาแพลตฟอร์มให้มีความทันสมัย เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงการวางเป้าหมายที่จะเป็นหน่วยงานที่ผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยีให้กับองค์กร บริษัทในประเทศต่อไป

นอกจากนี้ ณัฐภัทร ยังกล่าวถึงอีกหนึ่งเป้าหมายของ Coding Arena ว่า “ตั้งใจวางแผนให้แพลตฟอร์มนี้ ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน ในรายวิชาว่าด้วยการเขียนโปรแกรม และตั้งใจทำสื่อตัวนี้ให้สามารถจุดประกายความอยากเขียนโปรแกรมและต่อยอดสู่การเป็นนักเขียนโปรแกรมได้จริงๆ ซึ่ง ภายในช่วงปี 2564 ถึงต้นปี 2565 จะดำเนินการขยาย และเจาะกลุ่มไปยังโรงเรียนต่างๆ ให้ครบ 400 โรงเรียนทั่วประเทศ”

เมื่อถามถึงปัญหา และอุปสรรคระหว่างการดำเนินธุรกิจในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ณัฐภัทร บอกว่า สิ่งที่ Coding Arena ต้องฝ่าฟันในช่วงแรก คือ เรื่องความเชื่อใจและการรับรู้ของคนทั่วไป แก้ปัญหาโดยวิธีการ Roadshow ไปตามที่ต่างๆ เพื่อสื่อสารให้คนได้รู้จักแพลตฟอร์มมากขึ้น

แต่ในขณะที่ Coding Arena กำลังเป็นที่รู้จัก กลับต้องเจอฝันร้าย เมื่อโควิด-19 เข้ามาแพร่ระบาดทั่วประเทศไทย ทำให้การเดินสายแนะนำแพลตฟอร์มต้องหยุดชะงัก และจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการสื่อสารใหม่ โดยอาศัยสื่อออนไลน์อย่าง Facebook เข้ามาแทนที่ ให้ความรู้ ติดต่อสื่อสารกับผู้ที่สนใจ และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น จึงจะเดินหน้าแนะนำแพลตฟอร์มกับโรงเรียนต่างๆ อีกครั้ง

จั๊มณัฐภัทร มองว่า ในสถานการณ์ที่วิกฤติ ย่อมเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนทำธุรกิจสตาร์ทอัพ และช่วงเวลาที่จะเกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวคนในยุคนี้ “เชื่อว่าเวลานี้เป็นโอกาสที่ดีมากๆ อยากให้เริ่มต้นมองปัญหาที่อยู่รอบตัวเรา ทำความเข้าใจว่าปัญาหาคืออะไร แล้วเราจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร รวมถึงต้องมองไปว่า จะวางแผนเดินหน้าอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจมีรายได้ที่ดีได้ และใช้จังหวะนี้สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เชื่อว่าคนพร้อมจะปรับตัว”

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุน Coding Arena ด้วยการอบรมให้ความรู้ด้านนวัตกรรมพร้อมมอบทุนสนับสนุน จนสามารถพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นธุรกิจที่ให้คุณค่าและสร้างสรรค์สังคมไทย  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image