รู้รอบเรื่องโควิด-19 ‘วัคซีน’ ทางรอดของกลุ่มเสี่ยงในวิกฤต ‘โควิด-19’

แม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งสูงกว่า 15,000 ราย ในระยะหลังจะดูน่าวิตกกังวล แต่นั่นคงไม่อาจเทียบเท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 เท่า ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน จาก 50 กว่าคน กลายเป็นกว่า 150 คน ซึ่งจำนวนดังกล่าวไม่ใช่แค่ตัวเลข ทว่าเป็นชีวิตของคนไทย และคนในครอบครัวของใครสักคนที่ต้องสูญเสียไป 

ความสูญเสียที่เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นได้ว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งสิ่งที่จะหยุดยั้งความสูญเสียต่อชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ได้ดีที่สุดก็คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

แนวคิดดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวในตอนหนึ่งของการแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขว่า ตอนนี้ทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นวันละ 5 แสนคน แม้แต่ในประเทศที่ควบคุมโรคสำเร็จหรือประเทศที่ฉีดวัคซีนไป 50-60% ทว่าผู้เสียชีวิตยังคงที่ประมาณ 8 พัน-1 หมื่นคนต่อวัน เท่ากับว่าประเทศต่างๆ มีผู้เสียชีวิตต่ำกว่าระดับร้อยคน ไม่ได้สูงเป็นพันคนเหมือนช่วงก่อน โดยอัตราการเสียชีวิตที่ไม่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลจากการฉีดวัคซีน

เป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยจึงมุ่งเน้นใน 3 เป้าหมาย ได้แก่ 1.ลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต 2.ปกป้องระบบสุขภาพ และ 3.กลับเข้าสู่การใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งในเป้าหมายแรก กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นด่านหน้า และทยอยฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นการบูสเตอร์เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากยิ่งขึ้น 

Advertisement

สำหรับปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขกำลังเดินหน้าตามเป้าหมายที่ 2 ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวน 12.5 ล้านคน ฉีดไปแล้ว 2.4 ล้านคน คิดเป็น 20% ส่วนผู้ป่วยกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง มีเป้าหมาย 5.3 ล้านคน ฉีดแล้ว 1.2 ล้านคน คิดเป็น 23.4% รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากระยะหลังพบการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยทั้ง 3 กลุ่มจะฉีดให้ครอบคลุมในพื้นที่ระบาดสูงสุดก่อน และเรียงตามประชากรกลุ่มอื่นและพื้นที่อื่นต่อไป

“ประชาชนทุกคนที่สมัครใจรับวัคซีนจะได้รับวัคซีนทั้งหมดแน่นอน เนื่องจากระยะแรกที่วัคซีนมีจำกัดจึงจำเป็นต้องให้กลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตก่อน เพื่อลดการเสียชีวิตและไม่ให้เกินศักยภาพของระบบการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ กลุ่มผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง หากติดเชื้อ 10 คน มีโอกาสเสียชีวิต 1 คน แต่คนทั่วไปที่ไม่มีโรค อายุ 20-59 ปี ติดเชื้อ 1 พันคน มีโอกาสเสียชีวิตเพียง 1 คน ต่างกันประมาณ 100 เท่า จึงต้องขอความร่วมมือทุกท่าน เชิญชวนและพาผู้สูงอายุ 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัว มารับการฉีดวัคซีนก่อนเพื่อเป้าหมายในการลดผู้เสียชีวิตและช่วยควบคุมโควิดในระยะถัดไป” นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่กังวลถึงอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนเมื่อ 18 ก.ค. 2564 มีผู้เข้ารับวัคซีน 14,298,596 โดส พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ 1,592 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแล้ว 482 ราย พบเกี่ยวกับวัคซีนเพียง 71 ราย เช่น มีอาการแพ้ ปวดบวมบริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน ที่สำคัญทุกรายรักษาหาย 

Advertisement

เมื่อเทียบระหว่างโอกาสเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีสูง กับอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนที่ไม่ได้รุนแรงนักคงตัดสินใจได้ไม่ยากว่าจะเลือกฉีดวัคซีนหรือไม่ เพราะฉะนั้นแล้วอย่าลืมไปฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อถึงคิว ฉีดวัคซีนเพื่อลดความสูญเสีย และฉีดวัคซีนเพื่อสังคมไทยสู้โควิด

 

ที่มากระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image