รู้รอบเรื่องโควิด 19 CCR Team บุกกรุง ปฏิบัติการเชิงรุกสกัดโควิด 19

กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

พบว่า ปี 2563 กทม. มีประชากรในพื้นที่มากกว่า 5.5 ล้านคน มีความหนาแน่นของจำนวนประชากรกว่า 3,500 คนต่อตารางกิโลเมตร เมื่อมีผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ และไม่ได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR จึงมีโอกาสแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นอย่างง่ายดายเป็นจำนวนมากโดยไม่รู้ตัว

การเร่งตรวจเชิงรุกเพื่อหาผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ จึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะสกัดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โดย กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท จัดหน่วยปฏิบัติการเชิงรุกในชุมชน (CCR Team) โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จิตอาสาหลายสาขาวิชาชีพในภูมิภาคได้กระจายลงพื้นที่ตรวจคัดกรองชุมชนใน กทม. โดยเฉพาะในจุดที่มีประชากรหนาแน่น และมีการตรวจเชื้อได้น้อยหรือมีความเสี่ยงสูง

นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินี ณ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา หนึ่งในทีมแพทย์จากชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงปฏิบัติการตรวจเชิงรุกในชุมชน กทม. ว่า CCR Team จะเข้าไปในชุมชนแออัดที่อยู่ค่อนข้างลึกเพื่อตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK ซึ่งทราบผลเร็ว หากพบว่าติดเชื้อก็จะมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำ เพื่อยืนยันผล และให้ผู้ติดเชื้อนำสมาชิกในครอบครัวมาตรวจด้วย หรือไปตรวจให้ที่บ้านในกรณีที่เป็นผู้สูงอายุไม่สามารถมาที่จุดตรวจได้ ถ้าตรวจแล้วทราบผลเป็นบวกจะทำการประเมินว่าอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยระดับใด โดยอาจมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์หรือเครื่องวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้วตามดุลยพินิจของแพทย์ จากนั้นจะใช้มาตรการการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยจะส่งต่อให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. แต่หากเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะส่งเข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป นอกจากนี้จะมีการแยกผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงและมีผลตรวจเป็นลบออกจากจุดตรวจ พร้อมทั้งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้

Advertisement

ทั้งนี้ การตรวจเชิงรุกในชุมชน กทม. ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 4 – 9สิงหาคม 2564 พบว่า มีผู้เข้ารับการตรวจ ATK จำนวน 117,020 คน มีผลบวก 2,509 คน ส่งตรวจ RT-PCRจำนวน 2,202 คน เป็นผู้ป่วยสีแดง จำนวน 286 คน สีเหลือง 3,420 คน และผู้ป่วยสีเขียว จำนวน 8,803 คนซึ่งหมายถึงส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากหรือไม่มีอาการ สามารถเข้าระบบการรักษาแบบ Home Isolation ได้

อย่างไรก็ตาม นพ.สุวัฒน์ กล่าวว่าสำหรับการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ประชาชนควรให้ความสำคัญในการดูแลป้องกันตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะทางสังคม การไม่ไปที่ชุมชน งดการรวมกลุ่มสังสรรค์ ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบขั้นพื้นฐานของบุคคลแต่ละคน ส่วนชุมชนจะมีบทบาทในการช่วยกันดูแลระแวดระวังคนแปลกหน้าที่เข้ามาในชุมชน นอกจากนี้ จะต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด เพื่อลดความสูญเสีย รวมถึงการฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในด่านหน้าไม่ว่าจะเป็นสัปเหร่อ หรือคนเก็บขยะที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อก็ตาม ซึ่งเมื่อฉีดให้ได้ 70% ของจำนวนประชากรก็จะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่ช่วยควบคุมป้องกันโรคโควิด 19 ได้

วัคซีนโควิด 19 จึงเป็นทางรอดของสังคมไทย โดยไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด ยี่ห้อใด แม้จะป้องกันการติดเชื้อได้ไม่เท่ากัน 

Advertisement

แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดป่วยหนักลดการเสียชีวิต ดังนั้น อย่าลืมไปฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อถึงคิว ฉีดวัคซีนเพื่อสังคมไทยสู้โควิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image