“รู้รอบเรื่องโควิด 19” คัดแยก “ขยะติดเชื้อ” ก่อนทิ้งเพื่อความปลอดภัยในยุคโควิด 19

วิกฤตโควิด 19 ในบ้านเราที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมียอดผู้ป่วยสะสมใกล้แตะหลักล้านคน ส่งผลให้ หน้ากากอนามัย ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องสวมใส่อยู่เสมอ เช่นเดียวกับชุดตรวจโควิด Antigen Test Kit (ATK) ที่หลายบ้านซื้อหามาเตรียมไว้ และเมื่อตรวจแล้วมีผลบวกถูกจัดเป็นผู้ป่วยสีเขียวก็ต้องแยกกักตัวอยู่บ้าน Home Isolation ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาขยะติดเชื้อที่ไม่ควรมองข้าม

สำหรับขยะต่างๆ จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ขยะติดเชื้อ คือ ขยะหรือมูลฝอยที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ในปริมาณมาก หรือมีความเข้มข้นเพียงพอที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคได้ รวมถึงสิ่งของที่ปนเปื้อนเลือดหรือสารคัดหลั่งต่างๆ จากร่างกาย อาทิ เลือด น้ำมูก น้ำลาย เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ภาชนะและอุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารแบบใช้แล้วทิ้งอย่าง ช้อน ส้อม แก้ว หลอด ส่วนขยะทั่วไป ได้แก่ ขยะที่ไม่ได้ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น เศษกระดาษ ถุงพลาสติก กระป๋องโลหะ ขวดแก้ว กล่องนม ขวดพลาสติก ถุงขนมต่างๆ และขยะประเภทเศษอาหาร ที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว ซึ่งการทิ้งหรือการจัดการขยะโดยไม่คัดแยกประเภทจะทำให้เชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในขยะติดเชื้อแพร่กระจายไปยังขยะชิ้นอื่นๆ และเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคสู่กลุ่มคนที่สัมผัสขยะนั้นๆ

โดยวิธีการทิ้งหรือการจัดการขยะติดเชื้อนั้น กรณีที่ในพื้นที่มีระบบการเก็บขยะติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมขยะติดเชื้อเป็นประจำทุกวัน โดยใส่ถุงขยะแดง 2 ชั้น สำหรับถุงชั้นแรกที่สัมผัสขยะติดเชื้อควรมัดปากถุงด้วยเชือกให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% แล้วมัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่นและฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง แล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ เพื่อรอการจัดเก็บจากหน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปกำจัดด้วยวิธีที่ได้มาตรฐาน หากกรณีที่ในพื้นที่ไม่มีระบบการเก็บขยะติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุขยะติดเชื้อให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุงให้แน่นแล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ ซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้ง ซึ่งขยะที่ผ่านการทำลายเชื้อแล้วให้ประสานและนำส่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นำไปกำจัดเป็นขยะทั่วไป

ทั้งนี้ ผู้ที่เคลื่อนย้ายขยะติดเชื้อต้องใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น สวมถุงมือยางหรือใช้ถุงพลาสติกจับถุงขยะ และหลังจากจัดการขยะติดเชื้อแล้วต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที ส่วนขยะทั่วไปที่ไม่ได้ปนเปื้อนขยะติดเชื้อให้รวบรวมและบรรจุขยะลงในถุงดำ มัดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปทิ้งในจุดรับทิ้งขยะเพื่อนำไปกำจัดตามมาตรฐาน สำหรับขยะประเภทเศษอาหารให้รวบรวมนำไปหมักทำปุ๋ยด้วยกระบวนการหมักที่ใช้อุณหภูมิสูงและระยะเวลาที่เหมาะสมในการทำลายเชื้อโรคได้

Advertisement

นอกจากการคัดแยกขยะเพื่อความปลอดภัยในยุคโควิด 19 แล้ว อย่าลืมดูแลป้องกันตนเองโดยใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือ ที่สำคัญต้องไปฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อถึงคิว ฉีดวัคซีนเพื่อสังคมไทย สู้โควิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image