พช.หนุนกิจกรรมวันดินโลก ผ่านโครงการอันมาจากพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่9 เพื่อความมั่นคงชีวิตประชาชน-โลกใบนี้

“นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน ที่มติขององค์การสหประชาชาติ  มีฉันทานุมัติ ร่วมกัน เลือกวันที่5ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น “วันดินโลก World Soil Day’ เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักถถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน โดยใช้โอกาสนี้ชับเคลื่อน เผยแพร่ความรู้ ทั้งในระดับไปเทศและระดับโลก” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พช. เปิดเผยถึงที่มาของวันดินโลก ที่ต้องการรณรงค์ให้ทุกคนหันมาใส่ใจรักษาทรัพยากรดินให้มีความยั่งยืนอย่างจริงจัง 

อธิบดี พช. กล่าวว่า ดินเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชากรโลก นำไปสู่การขจัดความหิวโหย การแก้ปัญหาความยากจน และการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน กิจกรรมที่สำคัญทุกปีจะมีการประกวดเพื่อชิงรางวัลวันดินโลก  ในรางวัลชื่อ King Bhumibol World Soil Day Award  ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และถวายสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรและประชาชน รวมทั้งเสริมสร้างให้บุคคลหน่วยงาน องค์กรหรือประเทศ มีความรู้ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรดิน

สำหรับกรมการพัฒนาชุมชนของเรา ได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ  ดำเนินงานโครงการการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก Sufficiency Economy Philosophy to Sustainable Development Goals (SEP to SDGs) โดยมีจุดเริ่มต้นประกาศปฏิญญาในข้อตกลงความร่วมมือ ในงานวันดินโลก “พลังงานสรรค์สร้างพลังแผ่นดิน เพื่อการฟื้นฟูโลก” เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ณ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ไปแล้วนั้น ต่อเนื่องมาปัจจุบันพลังความร่วมมือของเครือข่าย ได้ร่วมกันขับเคลื่อนหลายโครงการในทฤษฎีใหม่ ภายใต้กลไกการสืบสานศาสตร์พระราชาเพื่อการปฏิรูปประเทศ ผ่านกระบวนการพัฒนาคน

ที่ผ่านมาเราได้ขับเคลื่อนโครงการมากมาย ทั้งการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ พัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง โครงการ 9 ; 10 ปฏิบัติบูชา “สืบสาน รักษา ต่อยอด” เพื่อพัฒนาชุมชน และ โครงการปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับ พช. ภายใต้การน้อมนำ แนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น

Advertisement

           โดยรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนทุกโครงการ เราเริ่มจากการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับ พัฒนาผู้นำเข้าร่วมอบรมตามหลักสูตรพัฒนากสิกรรมธรรมชาติ สู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง สร้างให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวมาถึงวันนี้มีผู้เข้าร่วมทุกโครงการจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนแล้ว

เรามีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมใจกันสร้างจิตสำนึกตามเป้าหมายของงานวันดินโลกในปีนี้ ภายใต้แนวคิด “รักษ์ปฐพีคืนชีวีที่หลากหลายให้ผืนดิน”  หรือ Keep soil alive, protect soil biodiversity  ในการรักษาและสร้างความหลากหลายในทรัพยากรดิน โดยนำคนทั้งประเทศมาร่วมมือกัน ลงมือทำกิจกรรมด้านการจัดการดิน น้ำ ป่าไม้ และ สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน โดยใช้หลักกสิกรรมธรรมชาติ คือ “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช” ไม่ปอกเปลือกเปลือยดิน แต่จะนำเศษไม้ ใบหญ้า เศษฟาง มาห่มดินไว้สร้างความอบอุ่นให้ “แม่ธรณี” ใส่ปุ๋ยหมักแห้ง และรดด้วยน้ำหมักรสจืด 

รวมถึงพัฒนาตามหลักภูมิสังคมตามพระราชปณิธาน ในการบริหารจัดการพื้นที่ มีการปลูกป่า 5 ระดับ ปลูกป่า 3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มีการจัดการน้ำขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมกับภูมิสังคม ผ่านกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน เอามื้อสามัคคี กว่า 55,000 ครั้ง โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 2,000,000 คน จาก 38,093 ครัวเรือนที่เข้าร่วมในโครงการต่างๆ กระจายทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้เราจะสามารถสร้างเครือข่ายความสามัคคี ต่อยอดการพัฒนาเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของแปลงพื้นที่ต้นแบบให้เป็นศูนย์เรียนรู้ และขยายผลความสำเร็จไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

Advertisement

           ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือน ในทุกหมู่บ้าน ปลูกพืช ปลูกผัก ผลิตอาหารปลอดภัยจากสารเคมี  ให้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ทุกครัวเรือนเป็นคลังอาหาร ทุกหมู่บ้าน คือ ศูนย์แบ่งปันซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมาดำเนินการเกิดขึ้นในทั่วประเทศแล้ว พร้อมกันนี้ในช่วงสถานการณ์ยามวิกฤตการแพร่ระบาดโรคโควิด เราก็ได้ส่งเสริมการปลูกสมุนไพร ปลูกให้กลายเป็น“ตู้ยาข้างบ้าน ตู้อาหารข้างครัว” ผลผลิตทั้งหมดที่เกิดขึ้น ได้ช่วยเหลือ แบ่งปันการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้กับชุมชน ผู้มีรายได้น้อย และช่วยกลุ่มเปราะบางได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในดินด้วย

นอกจากนี้ได้มีการเสริมพลังสร้างการรับรู้การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยเพิ่มความรู้ให้กับผู้นำชุมชนเกี่ยวกับความหลากหลายทางกายภาพ การจัดการทรัพยากรความหลากหลายของป่าไม้การเชื่อมโยงระหว่าง ดิน น้ำ ป่า ด้วยวิธีการสำรวจข้อมูลดิน การวิเคราะห์ข้อมูลความหลากหลายของพรรณไม้ในป่า เมื่อผ่านการอบรมผู้นำชุมชนดำเนินการจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำสารสนเทศด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เรียนรู้การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช  ใช้ประโยชน์ทรัพยากรท้องถิ่น สร้างความหลากหลายของพรรณไม้ในป่าอีกด้วย 

         ที่สำคัญคือ เป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารได้อย่างยั่งยืน ซึ่งตอนนี้ต้องอาศัยพลังทุกคนต้องร่วมกันพลิกฟื้นผืนดินไทย ให้ผืนดินไทยเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่เราและประชากรโลกได้ตามเป้าหมายของวันดินโลก ทำให้มีการบริการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ อาหาร และพลังงาน สามารถยกระดับชุมชนในการแก้ไขวิกฤตด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ สร้างระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ยกระดับอาหารให้เป็นยาที่สามารถสร้างเสริมภูมิต้านทานโรคต่าง ๆ  เพิ่มการจัดการเพื่อกักเก็บน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกและการดำรงชีวิต ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม อีกทั้งยังเพิ่มพื้นที่ป่าที่ช่วยฟอกอากาศที่บริสุทธิ์และช่วยกักเก็บคาร์บอนในชั้นบรรยากาศลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM ๒.๕ ได้ ซึ่งกิจกรรมต่างๆทั้งหมดเหล่านี้ จะพิสูจน์ผลให้คนทั้งโลก ได้เห็นถึงวิธีการที่จะนำพาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม

จากที่กล่าวมาโดยจะเห็นได้ว่า การดำเนินงานภายใต้โครงการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก Sufficiency Economy Philosophy to Sustainable Development Goals (SEP to SDGs) ของกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆนั้น ได้ดำเนินการในกิจกรรมต่างๆที่ส่งผลต่อการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในทรัพยากรดิน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างดินและปรับปรุงโครงสร้างดินผ่านการห่มดิน การสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารในดิน ให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโต ผลิดอก ออกผล ผ่านการเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช การช่วยให้ดินดูดซับและกรองน้ำผ่านการปลูกหญ้าแฝกซึ่งเป็นกำแพงที่มีชีวิตเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำและการปลูกป่า 5 ระดับ การทำให้ทรัพยากรดินช่วยสร้างความต้านทานต่อโรคและแมลงผ่านการใช้น้ำหมักสมุนไพร และงดใช้สารเคมีลงในดิน การทำให้ดินเป็นแหล่งของยารักษาโรคและใช้เสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่มนุษย์ผ่านการปลูกพืชผักและสมุนไพร การช่วยแก้ไขปัญหาดินปนเปื้อนผ่านการบำบัดน้ำเสีย ระบบสายลมและแสงแดด การใช้ทรัพยากรดินสร้างป่าสามอย่างเพื่อประโยชน์สี่อย่าง ช่วยลดและบรรเทาปัญหาโลกร้อน และเป็นการรักษาระบบนิเวศผ่านการพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล เป็นต้น

ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นผลงานส่วนหนึ่งที่สอดคล้องกับการส่งผลงานเข้าร่วม ชิงรางวัลวันดินโลก ซึ่งสอดคล้องกับหมวดหรือประเภทของการประกวดใน ๖ ด้าน คือ 

         ๑) โครงการด้านการศึกษา (Educational project) 

         ๒) งานภาคสนาม/การ เฉลิมฉลอง (Field work/celebration) 

         ๓) กิจกรรมร่วมกับเกษตรกร (Activities with farmers) 

         ๔) กิจกรรมเฉลิมฉลองภาคสนาม (Celebration in the field) 

         ๕) ทัศนศึกษา (Field trip) และ 

         ๖) ด้านอื่นๆ ซึ่งเราระบุไว้ว่าเป็นด้านที่เกี่ยวกับ การฟื้นฟูหรือบรรเทาปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (Resilience Covid-19 relief)

ในนามของกรมการพัฒนาชุมชน ผมขอเชิญชวนคนไทยทุกคนได้มีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ในการนำรางวัลวันดินโลก King Bhumibol World Soil Day Award มาให้ประเทศไทย ด้วยการแชร์ภาพกิจกรรม แชร์ข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชุน เอามื้อสามัคคี กิจกรรมการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต และกิจกรรมอื่นๆที่เราได้ทำกันอยู่แล้วอย่างเต็มที่ในทุกพื้นที่ แชร์ไปในสื่อทุกช่องทาง และก็อย่าลืมติดแฮชแท็กที่สำคัญ  (#) ที่ต้องมี ก็คือ  

#WorldSoilDay 

#GlobalSoilPartnership

#UNFAO 

#CDD 

#SEPtoSDGs 

#SDGforAll@Kmitl 

และ #กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกันด้วย 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image