‘กรมชลประทาน’ ต่อยอด “ทุ่นยางดักผักตบ” เพิ่มศักยภาพจัดการน้ำ

เป็นที่ทราบกันว่า ‘ผักตบชวา’ เป็นวัชพืชทางน้ำที่ส่งผลกระทบต่อการส่งและการระบายน้ำในระบบชลประทาน และยังทำให้ลำคลองตื้นเขิน จากปัญหาดังกล่าว กรมชลประทาน จึงวางแผนการควบคุมและกำจัดผักตบชวา โดยสำนักวิจัยและพัฒนา ได้ทำการศึกษาวิจัย พัฒนาทุ่นยางพาราดักผักตบชวา หรือ Para-Log Boom ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นเอง โดยนำยางพารามาใช้เป็นวัสดุทำเป็นทุ่นดักผักตบชวา โดยทำการศึกษามาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ยางพารา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ตามนโยบายของรัฐบาล โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการต่อยอดพัฒนา “ทุ่นยางพาราดักผักตบชวา” เพิ่มประสิทธิการบริหารจัดการน้ำ

จากผลการศึกษาดังกล่าว เมื่อปี 2563 กรมชลประทาน นำต้นแบบทุ่นยางพาราดักผักตบชวา นำร่องติดตั้งใน 3 โครงการ ได้แก่ คลองพระยาบรรลือ บริเวณหน้าเครื่องผลักดันน้ำและหน้าประตูระบายน้ำ คลองผักไห่ บริเวณท้ายประตูระบายน้ำ และคลองจินดา บริเวณหน้าประตูระบายน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม ผลปรากฎว่าสามารถดักผักตบชวาได้ ควบคุมและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี ในปี 2564 กรมชลประทาน มีแผนการขยายผลการติดตั้ง “ทุ่นยางพาราดักผักตบชวา” ให้ครอบคลุมคลองส่งน้ำและประตูระบายน้ำของสำนักงานชลประทานที่ 1-17 ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาวัชพืชกีดขวางการไหลของน้ำในระบบชลประทานได้เพิ่มมากขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและควบคุมวัชพืชน้ำในทางน้ำชลประทาน และยังเป็นการส่งเสริมการใช้ยางแผ่นรมควันจากเกษตรกรให้มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ และแก้ปัญหายางพาราล้นตลาดได้อีกด้วย

Advertisement

และเมื่อเร็วๆ นี้ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการติดตั้งทุ่นยางพาราดักผักตบชวา พร้อมเปิดเผยสถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวว่า ผักตบชวาเป็นวัชพืชทางน้ำที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดปัญหาต่อแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมทั้งกีดขวางการไหลของน้ำ 

กรมชลประทาน ได้พัฒนาต่อยอดตัวทุ่น จุดเชื่อมต่อทุ่น และการผูกยึดกับตอม่อให้มีความแข็งแรงคงทนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เรือสัญจรผ่านไปมาได้ สามารถนำไปติดตั้งในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวได้ และเพื่อใช้ในการควบคุมผักตบชวาและวัชพืชไม่ให้ไหลไปตามแม่น้ำลำคลองลงสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำ ทำให้ง่ายต่อการจัดเก็บ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในระบบชลประทาน อีกทั้งยังเป็นต้นแบบแนวทางการใช้ยางแผ่นรมควันจากเกษตรกรที่ได้รับการรับรองจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และยังเป็นส่วนหนึ่งของการสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ยางพาราในกิจการภาครัฐ 

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า ลักษณะของทุ่นยางพาราฯ เป็นทุ่นทรงกระบอก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร น้ำหนัก 55 กิโลกรัม มีส่วนผสมของยางพารา 30 กิโลกรัม อายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 5 ปี โดย ในปี 2564 นี้ กรมชลประทาน มีเป้าหมายในการจัดทำทุ่นยางพารา ทั้งสิ้น 10,404 ทุ่น ช่วยส่งเสริมการใช้ยางพาราของเกษตรกรได้ประมาณ 312 ตัน ก่อนจะส่งมอบให้กับโครงการชลประทานทั่วประเทศนำไปติดตั้ง

Advertisement

ปัจจุบัน กรมชลประทานติดตั้งทุ่นยางพารา ไปแล้วกว่า 120 จุดทั่วประเทศ ใช้ทุ่นยางพาราไปแล้ว 7,650 ทุ่น จะช่วยแก้ไขปัญหาวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำในระบบชลประทาน ทำให้คุณภาพน้ำและน้ำไหลได้ดียิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image