คลัง-ผู้นำองค์กรธุรกิจใหญ่ จัดเต็มภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจ สังคม เน้นปรับตัวรับเทคโนโลยีดิจิทัล ฟื้นเศรษฐกิจไทยทะยานสู่ความแกร่ง

อาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ

แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะซา แต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ การมองหาทางออกร่วมกันเพื่อฝ่าวิกฤต เสริมภูมิคุ้มกันชีวิต ดูแลสังคม และประคับประคองธุรกิจให้รอด จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในห้วงเวลานี้ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ผู้นำสื่อด้านเศรษฐกิจของไทย ภายใต้ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จึงจัดสัมมนา “สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” ในโอกาสที่ประชาชาติธุรกิจก้าวสู่ปีที่ 45 ถ่ายทอดในรูปแบบไลฟ์ สตรีมมิ่ง เมื่อวันที่ 29 กันยายน ผ่านเฟซบุ๊กประชาชาติธุรกิจ มติชน ข่าวสด และยูทูบมติชน ทีวี 

ประเดิมด้วย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ “สร้างภูมิคุ้มกัน-ฝ่าภัยโควิด” ต่อด้วย สนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “New normal : ประเทศไทยในวิถียั่งยืน” 

เข้มข้นไม่หยุด! กับ 5 ผู้นำเบอร์ต้นของบริษัทเอกชนชั้นนำระดับประเทศจากหลากหลายธุรกิจ ในหัวข้อ  “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” ทั้ง รุ่งโรจน์  รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) นพ.ธนาธิป  ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (THG) เจมส์  ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่ไม่เคยปรากฏตัวบนเวทีสัมมนาที่ไหน แต่มาเวทีสัมมนาของประชาชาติธุรกิจเป็นที่แรก อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

Advertisement

เปิดวิสัยทัศน์ จัดเต็มทางรอด ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปต่ออย่างแข็งแกร่ง!

“ต้องทำนโยบายนอกตำรา”

อาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ “สร้างภูมิคุ้มกัน-ฝ่าภัยโควิด”

Advertisement

อาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในปาฐกถาพิเศษ “สร้างภูมิคุ้มกัน-ฝ่าภัยโควิด” ตอนหนึ่งว่า เมื่อวาน (28 กันยายน) ธนาคารโลกออกรายงานสถานการณ์ไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 จาก 2% เหลือ 1% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างเยอะ เพราะเดิมคาดไว้ 2-3% ซึ่งเหตุผลที่ปรับลดเพราะความยืดเยื้อของโควิดที่ยาวนาน แต่ยังเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด ที่รัฐบาลให้หลักประกันว่า ภายในธันวาคมปีนี้ อัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 70% ของประชากรแน่นอน โดยปริมาณวัคซีนที่สั่งซื้อจะอยู่ที่ 178 ล้านโดสในสิ้นปีนี้ และปีหน้าก็ยังสั่งซื้อวัคซีนเพื่อใช้บูสต์เป็นเข็ม 3 ด้วย ซึ่งเบื้องต้นอยู่ที่ 120 ล้านโดส ดังนั้นไม่มีปัญหาในแง่ปริมาณวัคซีน 

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า ธนาคารโลกพูดถึงมาตรการรัฐบาลหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ในวิกฤตโควิด ไม่ว่าประเทศใดก็ตาม รัฐบาลต้องใช้เงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เมื่อไม่พอก็ต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มระยะสั้นคือ 2-3 ปี ซึ่งที่ผ่านมามี พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และปีนี้ก็กู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท 

“นโยบายการเงินกับนโยบายการคลังต้องประสานกัน ถ้ากู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ช่วงปกติเอามาใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ อันนั้นนโยบายการเงินต้องรีบออกมาจัดการว่าการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมันมากเกินไป ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินไม่ให้ร้อนแรงเกินไป แต่ตอนนี้การกู้เงินของเราเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ นโยบายการเงินก็ต้องผ่อนคลาย เราต้องทำนโยบายนอกตำรา ตำราเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมาต้องพับไว้ก่อน รัฐบาลต้องใช้อย่างเดียว ในเงื่อนไขว่าใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์” 

รมว.คลัง ยังกล่าวถึงการปิดช่องว่างการขาดดุลให้น้อยลงไปอีกในอนาคต ทางหนึ่งคือต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล คือต้องขยายฐานการจัดเก็บภาษีหรือเพิ่มการจัดเก็บภาษีให้สะดวกและมีคนเข้าร่วมมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี ภาครัฐไม่ได้ทอดทิ้งผู้ประกอบการ เพราะถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้า

แม่ทัพใหญ่กระทรวงการคลัง มองถึงทิศทางแห่งอนาคตที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้ประเทศ 3 เรื่องด้วยว่า 

  1. สิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตคือเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลจึงเป็นเรื่องดิจิทัล อีโคโนมี เช่น ใช้แอปพลิเคชันเป็นช่องทางโอนเงินให้ประชาชน เพื่อให้มีระบบตรวจสอบและยืนยันตัวตนว่าไปถึงคนที่ถูกต้อง 
  2. ตั้งเป้าลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการผลิต มุ่งเน้นพลังงานสะอาด อย่างการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้ได้ 30% ของยานยนต์ที่ผลิตในไทย ภายใน ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) และ 
  3. เรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ((Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG) ซึ่งทั้งหมดจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เรียนรู้ให้ทันเทคโนโลยี ประสานการทำงานสู่เศรษฐกิจ BCG

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสวนาพิเศษในหัวข้อ “New normal : ประเทศไทยในวิถียั่งยืน”

ภาวะวิกฤตเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ คือความเห็นของ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประคับประคองผู้ประกอบการทั้งหลายให้รอดวิกฤตโควิด 

สนั่นเผยว่า ปัญหาของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในช่วงโควิดคือเรื่องสภาพคล่อง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายของหอการค้าไทย สภาหอการค้าฯ รวมทั้งรัฐบาล ว่าจะทำอย่างไรที่จะเสริมสภาพคล่องให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ได้ เกิดแนวคิดจัดซอฟต์โลน เสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ เจรจากับธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ให้ปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือธุรกิจทุกขนาดต้องจับมือร่วมฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

“ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องช่วยธุรกิจขนาดกลางและเล็ก จำเป็นต้องเดินไปด้วยกัน ไม่อย่างนั้นทั้งระบบก็จะอยู่ต่อไม่ได้ เมื่อมีการจับมือกัน ก็จะสามารถร่วมฝ่าวิกฤตและกลับไปฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไปได้”

ในแง่การคลี่คลายปัญหาจากวิกฤตโควิด ประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าฯ เปิดเผยว่า ต้องจัดการให้เหมาะสมกับยุคสมัยคือด้วยวิธีนิวนอร์มอล ซึ่งเบื้องต้นหอการค้าไทย และสภาหอการค้าฯ ได้ประสานการทำงานจากหลากหลายภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรธุรกิจ ให้เกิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ด้วยการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในภาคเกษตรกรรม หรือในอนาคตการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพ ยานยนต์ไฟฟ้า จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นมาได้

“วิกฤตโควิดทำให้เกิดธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องและนับเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ทั้งธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ เทคโนโลยี ที่จะเพิ่มความสามารถให้เศรษฐกิจไทยโตไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญในเวลานี้ ประเทศไทยจะอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ต้องปรับกฎหมายให้ทันสมัย เพื่อรองรับเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ สำหรับบทบาทของหอการค้าไทย และสภาหอการค้าฯ ในการช่วยฟื้นฟูประเทศ ที่มีการท่องเที่ยว ส่งออก และเกษตร เป็นปัจจัยสำคัญ ต้องปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อไป ทั้งการปรับเปลี่ยนการเกษตรให้ทันสมัย นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ การทำเกษตรสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง รวมถึงการเพิ่มคุณภาพการท่องเที่ยวให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ให้ได้”

สนั่นกล่าวด้วยว่า ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สิ่งแรกคือต้องสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาหอการค้าไทย และสภาหอการค้าฯ มีการส่งสัญญาณและขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าในตลาด 3 ประการ คือ 1. การลงทุน ไม่เพียงแต่ดึงคนมาลงทุนในไทยอย่างเดียว แต่ต้องสร้างการลงทุนให้เกิดขึ้นในต่างประเทศด้วย 2. การท่องเที่ยวและการบริการ อยากให้ต่างประเทศเข้ามาก็ต้องสร้างแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย และ 3. หอการค้ากำลังเรียนรู้จากประเทศจีนอยู่ว่า ช่วง 100 ปีแรก จีนลดจำนวนคนจนและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนได้อย่างไร  และในอีก 100 ปี จีนมีวิธีสร้างประเทศผู้ทรงอิทธิพลต่อไปได้อย่างไร ซึ่งเราต้องกลับมามองประเทศไทยและตั้งโจทย์ใหญ่ว่า จะลดความเหลื่อมล้ำในประเทศได้อย่างไร และจะเพิ่มขีดความสามารถให้ภาคเอกชนทัดเทียมนานาประเทศต่อไปอย่างไรได้บ้าง

  “สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ หอการค้าไทยจะทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนให้ทำงานด้วยกันเป็นรูปธรรม เพื่อฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทยต่อไป”

ต้องเข้าใจสถานการณ์และปรับตัวให้เร็ว

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) บรรยายพิเศษในหัวข้อ  “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด”

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) เจ้าของประโยค “ต้องพาวัคซีนไปหาคน” จนกลายเป็นแนวทางการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ถ่ายทอดประสบการณ์ธุรกิจช่วงโควิดว่า SCG มีธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งโควิดทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้รับผลกระทบเชิงบวก เนื่องจากมีการใช้บรรจุภัณฑ์มากขึ้น กลุ่มที่สองคือกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ แม้สถานการณ์จะทำให้กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีได้รับผลกระทบ แต่โดยรวมยังเป็นทิศทางที่ดี สุดท้ายคือกลุ่มธุรกิจการก่อสร้าง เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ทำให้ SCG ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว เรียนรู้จากสถานการณ์ ทำให้ได้เห็นศักยภาพและมุมมองการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น

ในแง่การฟื้นตัวของธุรกิจ แม่ทัพ SCG เปิดเผยว่า ธุรกิจที่เคยคิดว่าเมื่อโควิดคลี่คลายแล้วจะกลับไปเป็นแบบเดิม ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ขณะนี้ต้องเริ่มคิด เริ่มคุยกันแล้วว่าจะเป็นแบบเดิมอย่างไร หรือจะปรับตัวเพื่ออยู่กับสิ่งนี้อย่างไร เพราะทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ ผู้อยู่รอดคือผู้ปรับตัว ส่วนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก อย่าง ภาคการท่องเที่ยว สายการบิน โรงแรม อาจต้องใช้เวลา 

กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG กล่าวด้วยว่า โควิดทำให้มีเทรนด์ใหม่เกิดขึ้นหลายอย่าง โดย SCG มองว่า 4 กลุ่มธุรกิจที่หากเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลจะเกิดโอกาสอย่างชัดเจน ได้แก่

  1. เรื่องเครื่องจักร หรือระบบออโตเมชัน ภาคธุรกิจจำเป็นต้องพัฒนาระบบการผลิตให้สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มความน่าเชื่อถือของธุรกิจ มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ หรือการสร้างฝาแฝดดิจิทัล (Digital Twins) จำลองกระบวนการผลิต การบริการ การขนส่ง เพื่อใช้ในการรับมือและปรับตัวได้
  2. เรื่องอี-คอมเมิร์ซ อนาคตเริ่มเห็นชัดเจนแล้วว่าจะเป็นสังคมไร้เงินสด การเอาดิจิทัลไปใช้ในการให้บริการ การทำระบบอัตโนมัติ คือการพัฒนาโมเดลในการทำธุรกิจให้ดีขึ้น SCG เองก็เริ่มมีการทำแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ จัดการระบบคิวช่างให้เป็นระบบ หรือ “ดีไซน์ คอนเน็กซ์” (Design Connext) แพลตฟอร์มเพื่อนคู่ใจเจ้าของบ้าน
  3. สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง เอาเทคโนโลยีมาใช้สร้างประโยชน์ เกิดแนวคิดการแบ่งปันกันใช้ สร้างการเปลี่ยนแปลงของประเทศเป็นฟู้ดเชนสมัยใหม่
  4. เรื่องการก่อสร้างที่ยั่งยืน เอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ อย่าง BIM (Building Information Modeling) เพื่อใช้ในการวางแผนออกแบบการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพ โดยมีของเสียน้อยที่สุด

“เมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ จำนวนคนจะลดลงไหม ผมว่ามีผล แต่เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเราไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าเรายังมีจำนวนที่มากกว่าคู่แข่งของเรา เศรษฐกิจก็จะไปไม่ได้ ดังนั้นต้องรีสกิลพนักงาน เพื่อให้มีความสามารถในการสร้างธุรกิจให้เติบโต” 

ยึดมั่นในหลักจริยธรรมพลเมืองแบบ THG

นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (THG) บรรยายพิเศษในหัวข้อ  “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด”

“หลักการสำคัญที่สุดคือการยึดมั่นในหลักจริยธรรมพลเมือง” นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (THG) กล่าวถึงบทบาทของเครือโรงพยาบาลธนบุรีในสถานการณ์โควิด บนเวทีสัมมนาของประชาชาติธุรกิจ แล้วอธิบายว่า หลักการดังกล่าวคือการที่ธุรกิจต้องปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพอย่างซื่อสัตย์และจริงใจ และสิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นคือต้องใช้หลักการนี้ทั้งในยามปกติและภาวะฉุกเฉิน 

นพ.ธนาธิป เล่าว่า ตั้งแต่โควิดระบาด โดยเฉพาะช่วงวิกฤตหนักๆ ผู้ป่วยทั้งกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เข้าไม่ถึงการรักษา ทั้งที่จำเป็นต้องเข้าถึงการแพทย์อย่างเร่งด่วนที่สุด จึงจำเป็นต้องใช้โรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วย เพราะถ้าไม่ขยาย ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตได้ง่ายขึ้น ซึ่งแนวทางสร้างโรงพยาบาลสนามของ THG คือ นำมาตรฐานของโรงพยาบาลมาใช้ ภายใต้การทำงานที่ครบวงจร ทั้งการตรวจคัดกรอง การรักษาในโรงพยาบาลปกติ เพื่อขยายให้ทันกับโรค โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข กองทัพบก และกรุงเทพมหานคร จัดตั้งโรงพยาบาลสนามและเตียงสนาม จำนวน 306 เตียง รับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีแดง มีไอซียูสนามห้องความดันลบ มีเตียงสนามสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองอีก 400 เตียง และมีฮอสพิเทลสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวอีก 10 แห่ง รวมทั้งหมดแล้วเกือบ 4,000 เตียง

“โดยปกติห้องไอซียูในโรงพยาบาลต้องวางแผน 3 เดือน ทำอีก 7 เดือน และใช้เวลาอีกเกือบปีกว่าจะใช้การได้ แต่ครั้งนี้เราใช้เวลาแค่ 10-15 วัน ดัดแปลงทุกอย่าง ทำงานทั้งวันทั้งคืน เรียกช่าง ผู้บริหาร พูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน จนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ และจัดตั้งโรงพยาบาลสนามได้สำเร็จ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในภาวะวิกฤตคือเวลา ช้าไป 1 วัน คนก็เสียชีวิตไปแล้ว 300 คน ถ้าคุณทำเร็วขึ้น 10 วัน คุณรักษาชีวิตคนได้มหาศาล”

อีกสิ่งที่ทำให้ THG ฝ่าวิกฤตได้อย่างแข็งแกร่ง คือ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับห้องความดันลบ ใช้การดูแลผ่านรีโมทคอนโทรล 100% ติดตั้งกล้อง CCTV กับผู้ป่วยทุกเตียง สร้างมาตรฐานความปลอดภัยการทำงานของแพทย์และพยาบาลสนาม มอบความอุ่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานหนักขึ้นเป็น 3 เท่าในช่วงวิกฤตโควิด 

เมื่อถามถึงประสบการณ์โรคระบาดที่ผ่านมาว่าจะสร้างภูมิกันฝ่าภัยโควิดได้อย่างไร ผู้บริหาร THG เผยมุมมองว่ามี 3 ประการ คือ 1. สร้างเสริมภูมิคุ้มกันบุคคล นั่นคือประชาชน เมื่อป่วยหรือติดเชื้อต้องสามารถเข้าถึงเตียงหรือโรงพยาบาลได้รวดเร็วที่สุด, 2. สร้างวัคซีนองค์กร ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กรให้ได้   

“ส่วนประการที่ 3 คือ นำดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาปรับใช้ ทั้งในวงการแพทย์และวงวิชาชีพอื่นๆ มีหลายคนพูดว่า ระยะห่าง 1.5 เมตร ที่หายไปของมนุษย์ ทำให้จีดีพีโลกหายไป 10% ฉะนั้นแล้วในส่วนที่หายไป เราจะหาอะไรมาทดแทนได้บ้าง ผมว่าระบบที่ง่ายที่สุดคือระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ โดยเฉพาะในทางการแพทย์ เราจะใช้ประโยชน์อย่างไรให้ง่ายขึ้น ขั้นตอนที่ยากหรือเยอะจะบาลานซ์อย่างไรให้ได้เร็วที่สุด สะดวกที่สุด ลดขั้นตอน แต่ความความปลอดภัยยังคงอยู่”

แอสตร้าฯ ย้ำ! ส่งวัคซีนโควิดให้ไทยรวม 61 ล้านโดสสิ้นปีนี้ เผยพัฒนา “รุ่นใหม่” ประสิทธิภาพดีกว่าเดิม

เจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” – วีณารัตน์ เลาหภคกุล พิธีกรดำเนินรายการ

หนึ่งในวัคซีนป้องกันโควิดที่เป็นความหวังของคนไทยคือ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ซึ่ง เจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ย้ำบนเวทีสัมมนา “สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด” ให้คนไทยมั่นใจว่า บริษัทจะจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน พร้อมเตรียมพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ เพื่อรับมือเชื้อโควิดกลายพันธุ์

ประธานแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันฐานการผลิตทั้ง 25 แห่งทั่วโลก ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วกว่า 1.3 พันล้านโดส เพื่อใช้ในกว่า 170 ประเทศ ซึ่งในไทย บริษัทเป็นพันธมิตรกับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (SBS) ในการผลิตวัคซีนโควิด โดยสามารถผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในไทยโดสแรกได้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และตั้งเป้าส่งมอบให้ไทย 61 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งขณะนี้ส่งมอบแล้ว 24 ล้านโดส 

“บริษัทวางแผนจัดสรรวัคซีนให้ไทย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งในเดือนกันยายนนี้ สามารถส่งมอบได้ถึง 8 ล้านโดส และคาดว่าสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม จะส่งมอบให้ไทยได้ราว 2.2 ล้านโดส” 

เรื่องคุณภาพวัคซีนนั้น ทีกยืนยันว่า ทุกโรงงานมีคุณภาพเหมือนกันหมด วัคซีนแต่ละรุ่นการผลิตผ่านการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพต่างๆ รวมแล้วกว่า 60 รายการ หากไม่มีคุณภาพ บริษัทไม่ปล่อยวัคซีนออกมาแน่นอน นอกจากนี้ วัคซีนที่ผลิตในไทย ยังผ่านการรับรองจากคณะกรรมาธิการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย (Australia’s Therapeutic Goods Administration-TGA) แล้ว และกำลังจะผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ส่วนสหราชอาณาจักรที่ยังไม่ได้รับรองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทย ก็อยู่ที่รัฐบาลไทยจะเจรจากับรัฐบาลสหราชอาณาจักรอย่างไร 

ขาดไม่ได้คือประเด็นวัคซีนไขว้ ซึ่งประธานแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ระบุว่า เข้าใจเรื่องการใช้วัคซีนในสภาวะฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขแต่ละประเทศว่าจะตัดสินใจใช้อย่างไร

“เราเห็นว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นฮับด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งเป็นฮับด้านการผลิตยาในภูมิภาค เพราะมีหน่วยงานและสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่มีองค์ความรู้ ที่สามารถพัฒนาสู่การเป็นฮับได้” ทีกกล่าวทิ้งท้าย พร้อมเผยว่า ขณะนี้ บริษัทเตรียมพัฒนาวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ เพื่อรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ รวมทั้งพัฒนายาต่างๆ เพื่อช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ผสานองค์ความรู้ธุรกิจช่วยสังคมสู้โควิด พร้อมปรับตัวสู่ทิศทางพลังงานแห่งอนาคต

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด”

“ปรับตัวและเปลี่ยนแปลง” คือสิ่งที่เห็นได้ชัดจากจังหวะก้าวของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ไม่ยึดติดอยู่กับธุรกิจเดิม แต่มองไปข้างหน้าเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ดังที่ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เผยว่า ปตท. นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) มาใช้กับองค์กร และให้ความสำคัญกับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ที่ต้องเติบโตไปด้วยกัน

สะท้อนจากช่วงโควิดที่ ปตท. ช่วยสังคม อาทิ สนับสนุนวัสดุทางการแพทย์ จัดทำโครงการ Restart Thailand จ้างนักศึกษาจบใหม่รวมแล้วเกือบ 25,000 อัตรา รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยว ด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนให้พนักงาน 50% เมื่อลาพักร้อนไปเที่ยววันธรรมดา ส่วนปีนี้ที่โควิดระบาดแรง ปตท. ได้ทำโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” สนับสนุนเครื่องช่วยหายใจให้โรงพยาบาลกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ สนับสนุนการตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง ทั้งยังร่วมกับกรุงเทพมหานครจัดศูนย์ฉีดวัคซีนเชิงรุก นำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์และยาเรมเดซิเวียร์ เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด รวมทั้งจัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) ซึ่งมีโรงพยาบาลสนามตั้งแต่สีเขียว 1,000 เตียง สีเหลือง 300 เตียง และ สีแดง 120 เตียง ซึ่งอย่างหลังถือว่ามีเตียงไอซียูมากสุดในไทย และในจำนวนนี้มี 24 เตียง ที่มีเครื่องฟอกไต  

“เรานำองค์ความรู้ด้านบริหารธุรกิจมาประยุกต์ใช้กับการช่วยเหลือสังคม เราจะพยายามยืดระยะศูนย์นี้ให้นานที่สุด” ซีอีโอ ปตท. เผย ขณะเดียวกัน นอกจากช่วยเหลือสังคม ในแง่การดำเนินธุรกิจ ปตท. ยังมองถึงทิศทางขององค์กรในอนาคต นำสู่การปรับวิสัยทัศน์เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อตอบรับกระแสโลก 

“เราปฏิรูปถึงขั้นออกวิสัยทัศน์ใหม่ คือ ‘Powering Life with Future Energy and Beyond’ ดำเนินธุรกิจที่เป็นพลังขับเคลื่อนชีวิต โดยมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เช่น ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น” ซีอีโอ ปตท. กล่าว

ปรับตัวสู่โลกเทคโนโลยีดิจิทัล ความหวังดันเศรษฐกิจไทย ต่อยอดสู่ศูนย์กลางระดับภูมิภาค 

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ธุรกิจ-สังคม สร้างภูมิคุ้มกัน ฝ่าภัยโควิด”

 

ในวันที่โควิดดิสรัปต์โลก ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) เห็นว่า การปรับตัวสู่โลกเทคโนโลยีดิจิทัลคือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง 

“โควิดกระทบทุกองค์กร เราต้องปรับตัวเยอะมาก ซึ่งการปรับตัวเป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นปกติ และต้องปรับกรอบความคิดให้ได้ เอาสถานการณ์นี้มาทำให้เราเข้มแข็งขึ้น ถ้าคิดว่าอยากให้ทุกอย่างเหมือนเดิมแต่ไม่ยอมปรับตัวคือผิดพลาดแล้ว ตอนนี้ทุกคนต้องทำงานหนักขึ้น และมองวิกฤตให้เป็นโอกาส”

ศุภชัยเล่าถึงธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ด้วยว่า มีการปรับเปลี่ยนแผนทันทีเมื่อโควิดระบาด เช่น ธุรกิจอาหาร ต้องปรับวิธีการทำงานไม่ให้พนักงานติดโควิด กรณีค้าปลีกมีปิดเร็วบ้าง แต่บางที่ต้องปิดเลย อย่างค้าปลีกตามสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งนี้ไม่มีนโยบายลดคน มีแต่จะเพิ่ม โดยเฉพาะส่วนออนไลน์ อี-คอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ รวมทั้งหมุนพนักงานไปทำเรื่องใหม่ๆ ส่วนโทรคมนาคมก็กระทบ ต้องปรับตัวทำโซลูชั่น ซอฟต์แวร์ เพื่อให้คนทำงานที่บ้าน เรียนออนไลน์ หรือหาหมอออนไลน์ได้สะดวกขึ้น เรียกได้ว่าต้องปรับแผนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจแทบทุกหน่วยธุรกิจ 

ช่วงโควิด ซีพีเป็นอีกบริษัทที่ช่วยเหลือสังคม ตามที่ศุภชัยกล่าวว่า มีทั้งทำโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ทำโครงการครัวปันอิ่ม แจกข้าวกล่อง 2 ล้านกล่อง ให้ประชาชนที่เดือดร้อน ปลูกฟ้าทะลายโจรเพื่อผลิต 30 ล้านแคปซูล ซึ่งอยากไปให้ถึง 100 ล้านแคปซูล รวมทั้งทำโรงพยาบาลสนาม 3 ที่ใหญ่ๆ รวมแล้ว 1,200-1,300 เตียง โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาคเอกชน เช่น บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โรงพยาบาลจุฬารัตน์ และหน่วยงานรัฐ 

เมื่อโควิดกระทบทุกมุมของสังคม โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ศุภชัยจึงเห็นว่า ต้องลงทุนเรื่องพื้นฐานใหม่ เพิ่มศักยภาพใหม่ในการแข่งขัน ทรานสฟอร์มสู่เทคโนโลยีดิจิทัล เอกชนต้องผนึกกำลังให้ไทยเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค เพื่อดึงดูดการลงทุน นำเม็ดเงินเข้าประเทศ ดึงดูดบุคลากรจากทั่วโลก หากไทยเป็นฮับด้านเทคโนโลยี ก็จะต่อยอดสู่การเป็นฮับด้านการศึกษาด้านดังกล่าวตามมา เกิดเป็นระบบนิเวศที่สำคัญ 

“ส่วนเอสเอ็มอี คำแนะนำคือต้องคิดเรื่องปรับตัว เช่น เกษตร ปีที่แล้วส่งออกไปจีนประเทศเดียวมีมูลค่าถึงแสนล้านบาท หากต่อยอดไปถึงการสร้างคุณภาพและการสร้างแบรนด์ก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่า หรืออินเดียเป็นตลาดที่ประชากร 1.3 พันล้านคน เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5-6 ของโลก หากเรามองโอกาส มองว่าเรามีศักยภาพตรงไหน ตลาดไหนกำลังโต ตลาดไหนกำลังลง ก็ปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสได้” 

#สัมมนาประชาชาติธุรกิจ #ธุรกิจสังคม #สร้างภูมิคุ้มกันฝ่าภัยโควิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image