นายกเทศมนตรีเมืองยะลา แชร์แนวทางบริหารสถานการณ์โควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีและสื่อโซเชียล พร้อมแนะ ATK

นายกเทศมนตรีเมืองยะลา แชร์แนวทางบริหารสถานการณ์โควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีและสื่อโซเชียล พร้อมแนะ ATK เป็นทางออกเพื่อการตรวจหาเชื้อที่แม่นยำ

เทศบาลนครยะลา เป็นหนึ่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล ประจำปี พ.ศ.2564 ภายใต้แนวคิด “ท้องถิ่นดิจิทัล เปลี่ยนแนวคิด พลิกรูปแบบการทำงาน” โดยการดำเนินการของศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ที่ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมประกวดนวัตกรรม”ท้องถิ่นดิจิทัล” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีที่เปิดโอกาสในการนำเสนอผลงานดิจิทัลโซลูชันการให้บริการประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการก้าวสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัล และพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ซึ่งเทศบาลนครยะลา ได้นำเสนอโครงการระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารและติดตามควบคุมเฝ้าระวังโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโครงการที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของการบริหารสถานการณ์ด้านสาธารณสุขภายใต้วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของเทศบาลนครยะลา ที่ใช้เทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ และบริการอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการสื่อสารระหว่างประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สะดวกรวดเร็ว ตลอดจนวิธีการตรวจหาเชื้อที่ให้ผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำ นำไปสู่การขยายขีดความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ได้อย่างดีเยี่ยม 

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา เล่าว่า เหตุผลที่ทำให้เทศบาลนครยะลาสามารถรับมือกับภาวะวิกฤตได้นั้น มาจากการริเริ่มจัดตั้งศูนย์ตรวจโควิด-19 โดยเราใช้นวัตกรรมการตรวจด้วย Rapid Antigen Test Kit หรือ ATK และได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในท้องถิ่นรับทราบถึงการดำเนินงาน และให้บริการตรวจหาเชื้อฟรี ซึ่งเราเจาะจงไปที่กลุ่มประชาชนซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงคือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือท้องที่อื่น ๆ ที่พบว่ามีการแพร่ระบาด ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจคือสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการตรวจด้วย Antigen Test Kit หรือ ATK นั้น สามารถให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำและรวดเร็ว ทราบผลการติดเชื้อได้โดยใช้เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น อีกทั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่องมาจนถึงเทศกาลฮารีรายอของพี่น้องชาวมุสลิม ซึ่งมีการเดินทางของประชาชนเป็นจำนวนมาก และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการแพร่ระบาด ทางเทศบาลฯได้ส่งทีมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อเก็บข้อมูลไทม์ไลน์ของประชาชนในท้องที่ หากพบว่ามีประชาชนเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ก็จะทำการสุ่มตรวจทันที โดยการ Swab Test อย่างน้อยครัวเรือนละสองคน เมื่อตรวจเร็ว ทราบผลเร็ว ก็จะช่วยให้เราสามารถควบคุมการแพร่เชื้อได้ อีกเหตุปัจจัยที่สนับสนุนให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีคือ ในพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลานั้น ไม่มีการรวมตัวของประชาชนจนก่อเกิดเป็นคลัสเตอร์ (Cluster) 

สำหรับโครงการระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารและติดตามควบคุมเฝ้าระวังโรคโควิด 19 ในระยะแรกที่มีการแพร่ระบาดนั้นยังคงเป็นสายพันธุ์เบต้า ที่ผู้ติดเชื้อสามารถแสดงอาการได้จากอุณหภูมิทางร่างกายเมื่อเริ่มมีอาการไข้สูง เทศบาลฯได้เลือกใช้กล้องวงจรปิด Thermal Camera ที่สามารถตรวจจับอุณหภูมิร่างกายมนุษย์ได้ ไปวางตามจุดบริการประชาชนต่าง ๆ เช่นห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ ฯลฯ ด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้กล้องตรวจจับอุณหภูมิ รวมถึงบันทึก Face ID จากใบหน้าของประชาชนที่เดินผ่านกล้อง โดยข้อมูลจาก Thermal Camera จะถูกส่งต่อไปยัง LINE Official ของทางเทศบาลฯ และภายในระยะเวลา 3 เดือน เราสามารถตรวจวัดอุณหภูมิของประชาชนได้มากขึ้น 4.7 ล้านคน

Advertisement

จนกระทั่งการเข้ามาระบาดของสายพันธุ์เดลต้านั้น รูปแบบการแสดงอาการของผู้ติดเชื้อก็เปลี่ยนไป คือไม่สามารถตรวจวัดจากอุณหภูมิร่างกายได้ กล่าวคือผู้ป่วยมีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการใด ๆ ทำให้วิธีการตรวจต้องเปลี่ยนไปใช้การตรวจโดยการหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit หรือ ATK และยืนยันผลอีกครั้งด้วย RT-PCR หากการตรวจด้วย ATK พบว่าผลเป็นบวกภายใน 30 นาที ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องกักตัวในศูนย์พักคอยที่ทางเทศบาลฯ จัดเตรียมไว้ให้ทันที และรอผลการตรวจซ้ำจาก RT-PCR ที่ศูนย์บริการเปิดให้บริการ เพื่อยืนยันผลก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาล และนำไปสู่กระบวนการรักษาต่อไป ซึ่งปัจจุบันต้องการเพิ่มการตรวจ RT-PCR ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อ

สำหรับประชาชนที่มีความประสงค์จะเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ก็สามารถจองคิวเข้ารับการตรวจโดยแจ้งไปยัง LINE Official ของเทศบาลฯ สามารถลดความแออัดของประชาชนที่เดินทางมาตรวจหาเชื้อ ในขณะที่การใช่สัญญาณอินเตอร์เน็ตในท้องถิ่นของเทศบาลฯ ก็ถือเป็นเรื่องง่ายเนื่องจากในพื้นที่เขตเทศบาลฯ เราให้บริการ wifi ฟรีแก่ประชาชน เพราะฉะนั้นจึงมีการรับส่งข้อมูลระหว่างเทศบาลฯ และประชาชนอยู่ตลอดเวลา

Advertisement

อนึ่ง ปัจจัยที่ถือเป็นความท้าทายของการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นคือบริบททางวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องที่ ซึ่งอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ และลักษณะทางกายภาพของที่อยู่อาศัยนั้นยากต่อการกักตัวในรูปแบบ Home Isolation ในท้องที่ซึ่งอยู่นความดูแลของเทศบาลฯ จึงมุ่งเน้นการกักแยกผู้ป่วยติดเชื้อด้วยรูปแบบ Community Isolation ซึ่งให้ผลการควบคุมสถานการณ์ที่ดีกว่า 

“สำหรับแผนการรับมือในอนาคต ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องนั้น ทางเทศบาลฯ ยังคงดำเนินแผนการตรวจเชิงรุก แต่อาจมีแผนเชิงนโยบายที่จะควบคุมสถานการณ์ในเขตพื้นที่ 3 ตำบลในความดูแลของเทศบาลฯ โดยใช้วิธีการคล้ายกับการทำ Bubble and Seal เพื่อลดการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ 3 ตำบล โดยการปฏิบัติบนพื้นฐานระบบข้อมูลผู้ติดเชื้อที่บันทึกในระบบ อย่างไรก็ดีแม้สถานการณ์ภาพรวมจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สิ่งสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ นอกจากการออกตรวจเชิงรุกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในภาคประชาชนเองก็ควรปฏิบัติตัวบนพื้นฐานการดูแลสุขลักษณะที่ถูกต้อง การตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit หรือ ATK ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำในกรณีที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงหรือสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงนั้นมีความจำเป็นอยู่เสมอ ตลอดจนการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างครบถ้วน ก็จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้แม้เชื้อโควิด-19 นั้นจะยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง” นายกเทศบาลนครยะลา กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image