ชป.ขุดลอกคลองระบายน้ำที่ 26 ขวา สระบุรี แล้วเสร็จ ช่วยเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ

ประเทศไทยเป็นแผ่นดินทองของการทำการเกษตร ด้วยปัจจัยดินดี น้ำดี มีโอกาสรับฝนเกือบตลอดทั้งปี  จะมีอุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เพื่อควบคุมน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้เพียงพอต่อภาคการเกษตร จำเป็นต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ขุดก่อสร้างฝายทดน้ำ สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ สร้างแหล่งเก็บขังน้ำฝน และขุดลอกหนองบึง ซึ่งเป็นงานขุดลอกดินในหนองและบึงธรรมชาติที่ตื้นเขิน ให้มีความลึกจนสามารถเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้เดินทางไปร่วมพิธีเปิดคลอง 26 ขวา ตำบลหนองโรง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นคลองระบายน้ำสายหลักของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ มีระยะทางประมาณ 26.54 กิโลเมตร ช่วงต้นคลองอยู่ที่ตำบลหนองสรวง อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี และปลายคลองระบายน้ำลงสู่คลองหกที่ตำบลวังจุฬา อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทำหน้าที่ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรกว่า 20,000 ไร่ในเขตตำบลหนองหมู อำเภอวิหารแดง ตำบลหนองจระเข้ ตำบลหนองโรง อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี และรวมไปถึงพื้นที่ของตำบลสนับทึบ ตำบลชะแมบ ตำบลวังจุฬา ตำบลข้าวงาม อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายประพิศกล่าวว่า ที่ผ่านมาลำคลองดังกล่าวมีสภาพตื้นเขินเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก จึงได้มอบหมายให้สำนักเครื่องจักรกลดำเนินการขุดลอกคลองดังกล่าวในปีงบประมาณ 2564 กระทั่งขุดลอกแล้วเสร็จ สามารถส่งน้ำให้กับเกษตรกรได้ใช้เพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งนี้ได้อย่างเพียงพอ รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก

“กรมชลประทาน สร้างความเข้าใจ ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด โดยได้มีการจัดรอบเวรการใช้น้ำชลประทาน ซึ่งผ่านมติของคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งเป็นไปอย่างทั่วถึงและเพียงพอ”

Advertisement

หลังจากนี้ กรมชลประทานยังมีแผนดำเนินการในการสร้างประตูน้ำ ซึ่งนอกจากการป้องกันอุทกภัยแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งทั้งด้านการอุปโภคบริโภคและด้านการเกษตร เป็นผลดีในการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งของเกษตรกรได้เพิ่มขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image