กรมชลประทาน ผุดโครงการ “ประหยัดน้ำ ทางรอดต้านแล้ง” เตรียมพร้อมก่อนเกิดวิกฤตภัยแล้ง

“ภัยแล้ง” เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นประจำทุกปี ซึ่งภัยแล้งแต่ละครั้งล้วนนำมาสู่ปัญหาในลักษณะโดมิโน่ ที่เมื่อล้มลงหนึ่งตัวย่อมกระจายปัญหาไปทั่วสารทิศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคน ทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ในภาคครัวเรือนและภาคเกษตร ลุกลามถึงปัญหาความอดอยากของประชาชน กลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค ดังนั้น น้ำจึงเป็นทรัพยากรสำคัญที่ต้องอาศัยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ กรมชลประทาน จึงไม่รีรอเตรียมรับมือวิกฤตภัยแล้ง พร้อมขานรับนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการแก้ปัญหาภัยแล้งประจำปี เปิดตัวโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ “ประหยัดน้ำ ทางรอดต้านแล้ง” มีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้คนไทยหันมาประหยัดน้ำ เตรียมพร้อมก่อนภาวะวิกฤตภัยแล้งจะเกิดขึ้น ชูแนวคิด “ประหยัดน้ำ=บริจาคน้ำ” นำเสนอผ่านเพลงและมิวสิกวิดีโอโดยศิลปินชั้นนำของเมืองไทย “ว่าน ธนกฤต” และ “เปาวลี พรพิมล” พร้อมเดินหน้าชู 8 มาตรการเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งปี 2564/65

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เผยว่า กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ และการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ ได้เตรียมความพร้อมให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดทรัพยากรน้ำก่อนภาวะวิกฤตภัยแล้งจะมาถึง 

Advertisement

โดยโครงการ “ประหยัดน้ำ ทางรอดต้านแล้ง” เน้นกลุ่มเป้าหมายที่กลุ่มเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งการรณรงค์จะนำเสนอผ่านเพลงและมิวสิกวิดีโอเพลง “Save Water” หรือ เพลง “ประหยัดน้ำ” โดยศิลปินชั้นนำของเมืองไทย อาทิ “ว่าน ธนกฤต” และ “เปาวลี พรพิมล” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในการรวมตัวเฉพาะกิจต้านภัยแล้ง นำมาผสมกับดนตรีสมัยใหม่ ฟังง่าย เข้าใจง่าย เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น โดยสามารถรับฟังผ่านมิวสิกสตรีมมิ่งได้ทุกช่องทาง 

“ผมเชื่อว่าเพลงคือ ‘ภาษาสากล’ เราสามารถใช้บทเพลงถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีกว่าการพูด สามารถสร้างการจดจำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราได้นักร้อง นักแต่งเพลง อย่างคุณเอก Season Five มาถ่ายทอดเรื่องราวที่กรมชลประทานอยากบอกทุกคน อยากให้ฟังแล้วทุกคนตระหนักถึง ‘ปริมาณน้ำ’ และ ‘การใช้น้ำ’ อย่างรู้คุณค่า ผลลัพธ์ส่วนบุคคลจะกลายเป็นผลลัพธ์เพื่อชาติ ประโยชน์ไม่ได้เกิดแค่กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่การประหยัดน้ำคือการที่เราร่วมมือกันเพื่อคนไทยทั้งประเทศ” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

เพลง “ประหยัดน้ำ” นับว่าเป็นแนวทางสร้างสรรค์ในการปลูกฝังจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาภัยแล้ง โดยใช้เพลงเป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจ เนื้อหาเพลงสอดแทรกความรู้แนวทางการประหยัดน้ำในชีวิตประจำวันที่ประชาชนสามารถทำตามได้ง่ายๆ อย่างช่วงหนึ่งของเพลงที่ว่า

“จะแปรงฟันก็อย่าเปิดน้ำทิ้งไว้ ใช้แก้วรองไว้จะได้ไม่เปลือง

เช็ดเศษอาหารบนจานที่เหลือ ก่อนที่จะล้างจาน

ล้างรถหรือว่ารดน้ำต้นไม้ ตักแต่พอใช้งดใช้สายยาง

ใช้น้ำกันแบบบันยะบันยัง จะได้มีน้ำใช้ไปนานๆ”

เพื่อเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น กรมชลประทานยังจัดทำคอนเทนต์อื่นๆ เช่น การรายงานสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำ แนวทางการประหยัดน้ำ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลแบบเข้าใจง่าย สร้างจิตสำนึก เกิดความเข้าใจ จนนำไปสู่การแชร์ต่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง 

นอกจากนี้ เพื่อยกระดับและเตรียมรับมือภัยแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ อธิบดีกรมชลประทานยังนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 ของกรมชลประทาน ทั้ง 8 มาตรการ ได้แก่

มาตรการที่ 1 เร่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อเป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้ง

มาตรการที่ 2 จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งสํารวจ ตรวจสอบ พื้นที่ที่มีศักยภาพ ที่จะพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองได้

มาตรการที่ 3 กําหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง รวมทั้งติดตามกํากับให้เป็นไปตามแผน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค พร้อมจัดทําทะเบียนผู้ใช้น้ำ

มาตรการที่ 4 วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนการเพาะปลูกในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นอันดับแรก

มาตรการที่ 5 เตรียมน้ำสํารอง สําหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อสนับสนุนน้ำเตรียมแปลง

มาตรการที่ 6 เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง และเตรียมแผนรองรับกรณีเกิดปัญหา

มาตรการที่ 7 ติดตามประเมินผล เพื่อให้ผลการดําเนินงานเป็นไปตามแผน

มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำ ให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กําหนดไว้

ทั้งยังมีการกำหนดแผนจัดสรรน้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564-30 เมษายน 2565 อีกด้วย

เรื่องนี้นั้น อธิบดีกรมชลประทาน ให้รายละเอียดว่า จากปริมาณน้ำต้นทุนทั่วประเทศ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จํานวน 37,857 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำ จํานวน 22,280 ล้าน ลบ.ม. สํารองน้ำต้นฤดูฝนปี 2565 รวม 15,577 ล้าน ลบ.ม. โดยจัดลําดับความสําคัญตามกิจกรรม ดังนี้ การอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ การเกษตรฤดูแล้ง และอุตสาหกรรม โดยมีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง จํานวน 6.41 ล้านไร่

แม้ว่าจะมีมาตรการเตรียมรับมือดีแค่ไหน หากขาดความร่วมมือจากภาคประชาชนก็อาจไม่เป็นผลสำเร็จ ด้วยเหตุนี้กรมชลประทานจึงขอให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และร่วมแรงร่วมใจช่วยกันประหยัดน้ำ ใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด 

ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานชลประทานในพื้นที่ หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image