ไขข้อข้องใจ เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ทำให้แท้งลูกได้หรือไม่?

เมื่อไม่นานมานี้ กรณีเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ที่ส่งผลต่อสุขภาพกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง โดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า มีการร้องเรียนว่า เสาส่งสัญญาณส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการปวดศีรษะ หน้ามืด อ่อนแรง ก่อให้เกิดมะเร็ง หรือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการแท้งลูก ฯลฯ เช่น กรณีชาวบ้านจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.เชียงคำ จ.พะเยา ออกมาประท้วงให้ย้ายเสาสัญญาณโทรศัพท์ออกจากพื้นที่ เพราะทำให้หญิงมีครรภ์แท้งลูกถึง 5 คน และบางคนมีอาการใจสั่น ประสาทเสีย จนป่วยจิตเวช

หลังจากมีข้อสงสัยเรื่องเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์สามารถทำให้แท้งลูกได้หรือไม่? มาฟังคำตอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ที่สามารถช่วยคลายความสงสัยให้ทุกคนได้เบาใจมากขึ้น

พญ. ธิศรา วีรสมัย สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว และหัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 1 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะการแท้งลูกไว้ว่า แบ่งได้เป็น 3 ประเด็น 

ประเด็นแรก แพทย์ต้องเข้าไปดูถึงปัญหาของคุณแม่แต่ละท่าน เพราะการแท้งบุตรในไตรมาสที่ 2 เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น สาเหตุเกิดจากคุณแม่ เกิดจากรก เกิดจากลูกในท้อง ถ้าสาเหตุเกิดมาจากคุณแม่ อาจเป็นเพราะคุณแม่มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูก อาทิ มีความผิดปกติของมดลูกตั้งแต่เกิด พังผืดในโครงมดลูก ปากมดลูกไม่แข็งแรง เนื้องอกมดลูก ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้ง 

Advertisement

ประเด็นที่ 2 หากคุณแม่มีโรคประจำตัวที่ควบคุมได้ไม่ดี เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือโรคทางเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่พบบ่อย เช่น มีภาวะแพ้ภูมิตัวเอง นับเป็นอีกสาเหตุของการแท้งที่พบบ่อย

หรือประเด็นสุดท้าย คุณแม่อาจมีโรคติดเชื้อร้ายแรงที่ควบคุมไม่ได้ สาเหตุเหล่านี้ก็ทำให้เกิดการแท้งลูกได้ หรือคุณแม่อาจมีปัจจัยภายนอก เช่น ได้รับอุบัติเหตุร้ายแรง รุนแรง หรืออาจเป็นความผิดปกติของรก เช่น มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ทำให้มีภาวะตกเลือด หรืออาจเป็นความผิดปกติของลูกเอง เช่น มีความผิดปกติของโครโมโซมของเด็ก 

เป็นที่แน่นอนว่า การเกิดปัญหาการแท้งลูกเป็นเรื่องใหญ่ ที่อาจทำให้คุณแม่และทุกคนไม่อาจเพิกเฉยได้ จึงต้องมีการศึกษาปัญหาของคุณแม่แต่ละท่านว่า มีปัจจัยอะไรที่เชื่อมโยง หรือคล้ายๆ กันในชุมชน อาทิ รูปแบบการใช้ชีวิต อาหารการกิน โรคประจำตัว หรือการติดเชื้อโรค 

Advertisement

ถ้ามีโรคที่เกี่ยวข้องกับชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน การใช้ชีวิต การกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาเหล่านี้เราสามารถแก้ไขได้ทั้งชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตได้

ด้าน รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ไม่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์  ลักษณะการส่งสัญญาณของเสาสัญญาณไม่ได้แผ่เป็นรัศมีวงกลมเต็มพื้นที่ แต่จะเป็นแนวระนาบจากตัวยอดเสา ซึ่งอยู่เหนือระดับบ้านเรือนขึ้นไป ไม่กระจายมายังบ้านเรือน

“ถ้าวัดจากปลายของเสาส่งสัญญาณ อาจเป็นไปได้ว่าสัญญาณมีความแรง แต่การยิงสัญญาณในแนวระนาบ ยิ่งไกลขึ้นสัญญาณจะมีความแรงเบาลง ไม่ต่างอะไรจากการใช้โทรศัพท์ทั่วไป ในเชิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่า สัญญาณที่มาจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ จะสามารถส่งผลอันตรายต่อผู้คนที่อยู่ข้างล่างได้”

อีกทั้งเสาส่งสัญญาณที่ชาวบ้านพูดถึง ได้ติดตั้งมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว การแท้งลูกจึงไม่น่ามีสาเหตุมาจากเสาส่งสัญญาณ ทั้งนี้ ต้องดูสาเหตุเป็นรายบุคคลมากกว่าว่าภาวะแท้งลูกนั้นเกิดขึ้นอย่างไร และมีความสอดคล้องกันมากน้อยแค่ไหนในจำนวนผู้ที่แท้งลูกทั้ง 5 คนนี้ 

เมื่อพิจารณาจากคำตอบและข้อมูลที่ รศ.ดร. เจษฎา กล่าวมา ก็พอจะบ่งชี้ได้ว่า เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ไม่มีคลื่นความเข้มข้นพอจะเป็นอันตรายต่อผู้คนได้ และไม่ได้ส่งผลต่อการแท้งลูก 

อย่างไรก็ตาม มีคนไม่น้อยที่ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน ทั้งในระดับท้องถิ่น สื่อสาธารณะ หรือแม้แต่ศาลปกครอง กสทช. จึงได้ส่งคำถามเรื่องนี้ไปที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อหาคำตอบที่แน่ชัด 

ดร. อีมิลี ฟาน เดเวนเตอร์ หัวหน้าคณะรังสีวิทยา องค์การอนามัยโลก ได้ให้คำตอบ โดยยืนยันจากผลการศึกษาช่วงระยะ 10 ปี ระหว่างพ.ศ. 2539-2549 ว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถชี้ได้ว่า การส่งสัญญาณในคลื่นความถี่ระหว่าง 0-300 กิกกะเฮิร์ตซ์ จากสถานีฐานและการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ จะมีผลร้ายแรงต่อสุขภาพ

อีกทั้งในปี 2553 คณะนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ได้ศึกษาการส่งคลื่นสัญญาณเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่จากสถานีฐาน แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานว่า คลื่นความถี่มีผลต่อสุขภาพ

หลังจากนั้น องค์การอนามัยโลกยังศึกษาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพร่างกายกับการปล่อยคลื่นความถี่ จากอุปกรณ์ไร้สายและสถานีส่งสัญญาณคลื่นโทรศัพท์ แต่ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ใดๆ อีกเช่นกัน

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกข้างต้น กสทช. จึงยืนยันได้ว่า เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ไม่มีผลกระทบต่อการแท้งลูก และไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในสังคมด้วยเช่นกัน

แต่ทั้งนี้ แพทย์และนักวิชาการยืนยันได้ว่า เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ไม่ได้เป็นอันตรายต่อผู้คน และไม่สามารถทำให้คุณแม่แท้งลูกได้อย่างแน่นอน

ข้อมูลอ้างอิงจาก:

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_590874
https://www.dailynews.co.th/news/741878/
https://www.techoffside.com/2021/05/4g-5g-mobile-phone-cell-site-health-risk-facts/
https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9640000014329

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image