‘กรมชลประทาน’ เดินหน้าองค์กรอัจฉริยะพร้อมหนุนประชาชนมีส่วนร่วม แก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน

    เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ‘น้ำ’ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของทุกวิถีชีวิต เพราะไม่เพียงใช้ในการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่น้ำยังมีความสำคัญต่อภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ น้ำจึงเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนประเทศอย่างมีนัยสำคัญ 

    เมื่อการใช้น้ำมีมากขึ้น ประเด็น ‘ความมั่นคงด้านน้ำ’ (water sucurity) จึงยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง กรมชลประทาน ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่มีบทบาทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยตรง ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เดินหน้าส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง ด้วยทรัพยากร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีต่างๆ พร้อมหนุนประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน 

องค์กรอัจฉริยะ มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ

    นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมชลประทานได้มุ่งมั่นบริหารจัดการน้ำ เพื่อประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของไทยอย่างจริงจังต่อเนื่อง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘กรมชลประทานเป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2580’

Advertisement

    ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าว กรมชลประทานมีพันธกิจ คือ พัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้เกิดความสมดุล    บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการให้เพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม ดำเนินการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำตามภารกิจอย่างเหมาะสม และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ     

    อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า ส่วนยุทธศาสตร์ที่ต้องดำเนินการ คือ การพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพลักษณะลุ่มน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ตามวัตถุประสงค์การใช้น้ำ การป้องกันความเสียหายและสนับสนุนการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ การเสริมอำนาจประชาชนในระดับพื้นที่ การสร้างเครือข่าย และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในงานบริหารจัดการน้ำชลประทาน และการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรอัจฉริยะ 

    ที่ผ่านมา กรมชลประทานได้นำเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด อาทิ ระบบโทรมาตร ซึ่งเป็นระบบการตรวจวัดข้อมูลอุตุ-อุทกวิทยา จากสถานีตรวจวัดระยะไกล แล้วส่งข้อมูลน้ำไปยังสถานีแม่ข่ายโดยอัตโนมัติ ข้อมูลที่ได้รับจากระบบโทรมาตรจึงเป็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ สามารถวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อรับมือได้อย่างรวดเร็วฉับไว เพราะข้อมูลดังกล่าวถูกเก็บรวบรวมไว้ในฐานข้อมูล และแสดงผลการตรวจวัดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ได้ทันที 

Advertisement

รวมทั้งมี ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center-SWOC) ที่นำข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำ ระดับน้ำ ฯลฯ มาประมวลและคาดการณ์สถานการณ์น้ำ เพื่อประโยชน์ในการจัดสรรน้ำ เฝ้าระวัง หรือเตือนภัย ช่วยสร้างประโยชน์ และลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อีกด้วย 

ทั้งหมดเพื่อสร้างความอุ่นใจและมั่นใจแก่ประชาชนว่า กรมชลประทานพร้อมอยู่เคียงข้าง และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั่วประเทศอย่างเต็มที่นั่นเอง

สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน 

    นอกจากกรมชลประทานจะพัฒนาการดำเนินงาน และนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘กรมชลประทานเป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2580’ แล้ว 

อีกประเด็นที่กรมชลประทานเน้นย้ำและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ โดยน้อมนำพระราชดำรัสใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานหลักการทรงงาน ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ มาต่อยอดขยายผลในการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด จากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้กำหนดยุทธศาสตร์เสริมอำนาจประชาชนในระดับพื้นที่ ครอบคลุมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี และแนวคิด ‘RID TEAM’ หรือ ‘เราจะก้าวไปด้วยกัน’ ในการขับเคลื่อนงานชลประทาน และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดทำ ‘โครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน  เชียงใหม่ ตาก และลำพูน’   

นายประพิศ ขยายรายละเอียดโครงการฯ ว่า เกิดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของประชาชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม รวมทั้งเพื่อเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชน เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันจะนำสู่การกำหนดรูปแบบโครงการหรือแผนงานต่างๆ ในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างตรงจุด 

เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมชลประทานได้กำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับชุมชนขึ้นไป ทำให้เกิดโครงการที่สะท้อนปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งประชาชนก็เข้ามาร่วมเสนอแนวทางแก้ไข เกิดการทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน 

    “กรมชลประทานให้ความสำคัญกับประชาชน โดยเปิดให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน ร่วมเสนอแนะแนวทาง ไปจนถึงการทำงานร่วมกันระหว่างประชาชนกับกรมชลประทาน เพื่อนำไปสู่การเสริมอำนาจแก่ประชาชนในการตัดสินใจวางแผน หรือดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ แก้ปัญหาได้ตรงจุด  และเกิดการพัฒนาในพื้นที่สู่ความยั่งยืน” อธิบดีกรมชลประทาน เผย 

    โครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ เดินหน้าไปได้ด้วยดี เช่นที่นายประพิศบอกว่า เมื่อวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้จัดให้มีการประชุมปฐมนิเทศโครงการฯ เพื่อรับฟังความเห็น ปูความเข้าใจถึงความเป็นมา เหตุผล และความจำเป็นของโครงการฯ

    โดยพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จัดประชุมที่ อ.อมก๋อย และ อ.ดอยเต่า พื้นที่ จ.ตาก จัดประชุมที่ อ.ท่าสองยาง และพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน จัดประชุมที่ อ.สบเมย ซึ่งผลการประชุมพบว่า ประชาชนบางส่วนในพื้นที่ ยังมีข้อกังวลเรื่องที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เนื่องจากไม่มีตลาดสินค้าเกษตรรองรับ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำ ที่ชาวบ้านต้องการให้มีการก่อสร้างฝายทดน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนไว้ใช้ในพื้นที่ 

    ผลการประชุมยังแสดงให้เห็นว่า ประชาชนในพื้นที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ต้องการให้กรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.นาคอเรือ ใน อ.ฮอด ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะเชื่อว่า จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เช่นเดียวกับประชาชนใน อ.สามเงา จ.ตาก ที่ต้องการให้กรมชลประทานดำเนินการสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล บริเวณ อ.สามเงา เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่   

      “การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม นับว่าก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำอย่างมาก กรมชลประทานจะนำผลที่ได้รับจากโครงการดังกล่าว ไปขยายผลดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะประชาชนคือฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการและแผนงาน อันจะนำสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นได้อีกทางหนึ่ง” อธิบดีกรมชลประทาน ปิดท้าย 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image