ยกระดับบัตรทอง “30 บาทรักษาทุกที่” รักษาปฐมภูมินอกหน่วยบริการประจำได้ เมื่อจำเป็น

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

จากเวทีรับฟังความเห็นในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” การเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ถูกจำกัดให้ใช้สิทธิได้เฉพาะที่หน่วยบริการประจำที่ขึ้นทะเบียนไว้ เพื่อมุ่งกระจายประชากรในการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการนั้น เป็นหนึ่งในปัญหาที่ได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนผู้สิทธิมาอย่างต่อเนื่อง เพราะด้วยความเจ็บป่วยแม้จะไม่มากถึงขั้นวิกฤติฉุกเฉิน แต่ก็ไม่เลือกบุคคล ไม่เลือกเวลา และไม่เลือกสถานที่ ทำให้หลักเกณฑ์การใช้สิทธิบัตรทองนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ในปี 2564 อุปสรรคการใช้สิทธิบัตรทองที่เป็นปัญหาข้างต้นนี้ได้ถูกทลายลงด้วยนโยบาย “ยกระดับบัตรทอง” ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ที่นำมาสู่การพัฒนาการบริการ “ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ หรือ “30 บาทรักษาทุกที่” 

อย่างไรก็ตามต้องย้ำว่า แม้จะเป็นบริการปฐมภูมิ 30 บาทรักษาทุกที่ แต่ตามนโยบายนี้ยังคงหลักการเดิมที่สำคัญอยู่คือ “ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองยังคงต้องเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำที่ได้ลงทะเบียนไว้หรือที่หน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย” แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุสมควรทางสุขภาพก็สามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิที่หน่วยบริการปฐมภูมินอกเครือข่ายหรือนอกพื้นที่ได้ 

Advertisement

ปีแรกของนโยบายนี้ได้ถูกนำร่องในพื้นที่เขต 9 นครราชสีมา และเขต 13 กรุงเทพมหานคร เพราะมีความพร้อมของหน่วยบริการรองรับมากที่สุด เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ต่อมาจึงได้ขยายเพิ่มเติมไปในพื้นที่เขต 7 ขอนแก่น เขต 8 อุดรธานี และเขต 10 อุบลราชธานี ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีผู้ป่วยการเข้ารับบริการจำนวน 950,176 ครั้ง ในหน่วยบริการ 436 แห่ง

ด้วยเสียงการตอบรับที่ดี ทำให้ประชาชนที่มีความจำเป็นทางสุขภาพสามารถเข้ารับการรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิไหนก็ได้โดยใช้สิทธิบัตรทอง ไม่ต้องถูกเก็บค่ารักษา หรือถูกเรียกให้กลับไปรับใบส่งตัวจากหน่วยบริการประจำเช่นเดียวกับในอดีต ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงพิจารณาและมีมติเพิ่มเติมในการขยายบริการไปยังพื้นที่ยังไม่ดำเนินการ คือ ในพื้นที่เขต 1 เชียงใหม่, เขต 2 พิษณุโลก, เขต 3 นครสวรรค์, เขต 4 สระบุรี, เขต 5 ราชบุรี, เขต 6 ระยอง, เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา เพื่อให้เป็นบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการให้กับผู้มีสิทธิ โดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครในการขยายหน่วยบริการรองรับ พร้อมมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 ให้กับคนไทยทั่วประเทศ

ทั้งนี้จากข้อมูลการรับบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ ปี 2565 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีประชาชนเข้ารับบริการ 30 บาทรักษาทุกที่แล้วจำนวน 38,051 คน เป็นจำนวน 49,409 ครั้ง ในหน่วยบริการ 321 แห่ง 

Advertisement

โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เป็นโรงพยาบาลที่ร่วมให้บริการ 30 บาท รักษาทุกที่อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากการให้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกแล้ว ยังจัดการบริการนี้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิเครือข่ายของโรงพยาบาล ซึ่งช่วงแรกก่อนเริ่มต้นนโยบายนี้ หนึ่งในข้อกังวลคือ จำนวนการเข้ารับบริการของผู้ป่วยที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จนกระทบต่อการให้บริการปกติของหน่วยบริการได้ แต่จากข้อมูลภาพรวมการเข้ารับบริการที่ปรากฎข้างต้นนี้ และข้อมูลการเข้ารับบริการของผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ในเดือนมกราคม อยู่ที่ 115 ราย และเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่  104 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกปกติของโรงพยาบาล เฉลี่ยอยู่ที่ 1,900 ราย/วัน และส่วนใหญ่มาด้วยอาการเจ็บป่วยโรคทั่วไปที่ไม่รุนแรง เช่น เช่น ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ ท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นผื่น เป็นต้น โดยมีสถิติมารับบริการเฉลี่ยประมาณ 2 ครั้งต่อราย 

ขณะที่ในด้านงบประมาณนั้น บริการ 30 บาทรักษาทุกที่ไม่ได้ทำให้เกิดภาระกับหน่วยบริการ  เนื่องจากการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ สปสช. กำหนดให้จ่ายตามการบริการในรูปแบบการเบิกจ่ายตามรายการที่กำหนด หรือ Fee Schedule แยกจากงบเหมาจ่าย ซึ่งทางโรงพยาบาลสามารถบันทึกข้อมูลเบิกจ่ายเพิ่มเติมมายัง สปสช. ที่ได้จัดสรรงบประมาณรองรับบริการไว้แล้ว

แม้ว่าบริการ 30 บาทรักษาทุกที่เบื้องต้นได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นนโยบายที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในการรับบริการในยามจำเป็นทางสุขภาพได้ในกรณีที่ไม่สามารถรับบริการที่หน่วยบริการประจำ เช่น อยู่ระหว่างเดินทางไปต่างจังหวัด เป็นต้น แต่ในระยะยาวคงต้องติดตามดูระบบต่อเนื่อง เพราะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้ารับบริการ ดังนั้นข้อมูลที่ปรากฎอาจจะยังไม่สะท้อนความเป็นจริงได้ 

อย่างไรก็ดีถือเป็นอีกหนึ่งผลงานการพัฒนาระบบบริการภายใต้กองทุนบัตรทองที่ไม่หยุดนิ่ง  โดยมีประชาชนเป็นเป้าหมายเพื่อมุ่ง “ยกระดับบัตรทอง” 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image