สวก. และ วช.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และภาคีเครือข่าย ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโดยใช้งานวิจัย

สวก. และ วช.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และภาคีเครือข่าย ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโดยใช้งานวิจัยขับเคลื่อน BCG วาระแห่งชาติ ช่วยพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาคตะวันตก และ Thailand Riviera โดยใช้งานวิจัยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร อาหาร และยกระดับคุณค่าศิลปะ วัฒนธรรมสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวในภูมิภาคตะวันตก เชื่อมโยงกับ Thailand Riviera เสริมศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ  ในงาน PBRU Research Open House 2022 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมพะนอมแก้วกำเนิด อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

โดย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การสร้างความโดดเด่นด้านอาหารและการท่องเที่ยว การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้เดินตามนโยบายอย่างชัดเจนในการนำงานวิจัยไปยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร อาหาร หรือการท่องเที่ยวชุมชนแบบสร้างสรรค์ เป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้รับเลือกให้เป็น “มหาวิทยาลัยพัฒนาชุมชนท้องถิ่นยั่งยืนอันดับที่ 1” ปี 2564 และผลงานนิทรรศการที่แสดงในงาน PBRU Research Open House ในครั้งนี้

Advertisement

ผศ.ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ “ภายในปี 2570 จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านอาหาร การท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์สุขภาพด้วยการบูรณาการศาสตร์ และสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้วยศาสตร์พระราชาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” ซึ่งเห็นชัดเจนในงาน PBRU Research Open House 2022 ที่แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยได้ใช้งานวิจัยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานให้ทุน ภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ เพื่อการขับเคลื่อนตามหลักห่วงโซ่คุณค่า และ BCG ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ กล่าวคือ มหาวิทยาลัยได้ยกระดับตามหลักศาสตร์พระราชา และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแบบปลอดภัย และอินทรีย์ให้กับกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนทั้งในจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นผัก มะละกอ กล้วย และสับปะรด เป็นต้น ซี่งได้รับทุนวิจัยแผนงานวิจัย Safe Agriculture and Food Entrepreneur PARK ปี 2565 จาก สวก. งบ Fundamental Fund ของ สกสว. และหน่วยงานให้ทุนอื่นๆ 

ในขณะที่กลางน้ำ มหาวิทยาลัยวันนี้ได้ลงนามความร่วมมือ MOU ร่วมมือแบบ Quad-Helix ระหว่าง สวก. ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค พาณิชย์ เกษตร พัฒนาชุมชนจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ในการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้าอาหารสุขภาพ และอาหารวัฒนธรรม เช่น ขนมหวานเมืองเพชร ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค  เสริมศักยภาพการแข่งขันทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับทุนวิจัยแบบ Matching Fund จาก สวก. และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแผนงานวิจัย RAINs for Lower Central Provinces Food Valley 2565 

ในส่วนปลายน้ำ มหาวิทยาลัยได้รับทุนวิจัยเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนในชุมชนบางตะบูน เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมสร้างสรรค์ จาก วช.ตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเป็นหน่วยงานหลักของจังหวัดเพชรบุรีที่ช่วยขับเคลื่อนให้เพชรบุรี เป็น Creative City of Gastronomy ของ UNESCO และในอนาคตมหาวิทยาลัย จะมีการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยที่จะขอทุนวิจัยยกระดับอาหารพื้นถิ่นเพชรบุรีที่มีคุณค่าให้ได้ Michelin Guide เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รองรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศในการเป็น Thailand Riviera และเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตร จนผู้ประกอบการด้านการบริการในภูมิภาคนี้ นอกจากนั้น เพชรบุรียังมีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นซึ่งจะนำไปสู่โครงการวิจัยในการพัฒนาให้เพชรบุรีเป็น Creative City of Craft and Folk Art ของ UNESCO จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ที่เห็นคุณค่าด้านศิลปะ และวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของเพชรบุรี และ Thailand Riviera ต่อไป  

ท้ายนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมที่จะขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยเป็นเสาหลักของภูมิภาคในการยกระดับด้านอาหาร การท่องเที่ยว และพัฒนาองค์ความรู้ด้วยศาสตร์พระราชาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในภูมิภาคตะวันตก และ Thailand Riviera ด้วยงานวิจัยต่อไปอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image