วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข. จัดระดมสมอง เน้นบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลดเหลื่อมล้ำ 

ช่วงเวลาที่ผ่านมา วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พยายามค้นคว้าวิจัยเพื่อหาแนวทางและตัวแบบนโยบายสาธารณะ ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก ซึ่งคำตอบที่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่า ‘ท้องถิ่น’ เป็นกลไกสำคัญ ในการเสริมสร้างความมั่งคั่ง และความยั่งยืนในระดับชาติ และผลที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยควรได้รับ การนำไปกำหนด และพัฒนาเป็นนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

จึงได้จัดเวทีระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิด ภายใต้โครงการ ‘KKU Public Policy Advocacy Forum 2022’ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะ โดยมีผู้ร่วมงานเป็นตัวแทนพรรคการเมือง และหน่วยงานต่างๆ มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

 รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น กล่าวว่า ระยะเวลาที่ผ่านมา วิทยาลัยฯ ได้ทำการศึกษาและวิจัยการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก เพื่อขับเคลื่อน ให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

Advertisement

จากการวิจัยพบว่า ช่วง 60 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยใช้ทฤษฎี ‘น้ำหยดรินจากที่สูง’ มาเป็นกรอบในการดำเนินการ โดยให้กลุ่มที่มีความพร้อมหรือมีความมั่งคั่งเป็นหลักในการขับเคลื่อน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จ จึงทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนสถานภาพ จากประเทศที่มีรายได้ต่ำ มาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง  

ปัจจุบัน นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์มหภาค มีความวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจของไทย อาจไม่เพียงแต่จะย่ำอยู่กับที่ แต่อาจถดถอย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยต้องกำหนด ให้องค์กรปกครองส่วนถิ่นมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น

Advertisement

ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี ม.ขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า พันธกิจสำคัญของ ม.ขอนแก่น คือ การสร้างและเผยแพร่ รวมถึงการส่งเสริมให้มีการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาและทำวิจัย นำไปต่อยอด จนกำหนดเป็นแนวทางในการบริหารด้านนโยบายสาธารณะ โดยกำหนดให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ของประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนสำคัญ ในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศต่อไป

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภา ม.ขอนแก่น กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในท้องถิ่น ทำไมจึงไม่พัฒนาเหมือนกับต่างประเทศ โดยกล่าวว่า ผลจากการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ของไทย ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ข้อจำกัดด้านโครงสร้างการปกครองแบบรวมอำนาจ เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมาก

รัฐบาลกลางเป็นผู้มีหน้าที่หลักในการตัดสินใจ และกำหนดรูปแบบการบริการสาธารณะ โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเพียงผู้จัดทำหรือให้บริการสาธารณะ และมีอำนาจตัดสินใจ ในการจัดทำการบริการสาธารณะเพียงบางเรื่องเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนา เศรษฐกิจจากฐานรากได้อย่างแท้จริง

สำหรับตัวแบบที่น่าจะเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากของประเทศไทย Prof. Bruce Gilley จาก Portland State University สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย จะมีประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เมื่อเป็นผู้ตามมากกว่าเป็นผู้นำ โดยให้การริเริ่มสร้างสรรค์ กับภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะไม่ทราบเลยว่า การบริการและอุตสาหกรรมใด ในท้องถิ่นของตนนั้นมีข้อได้เปรียบ หากไม่ติดตามธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จ และกระแสธุรกิจใหม่ๆ ในท้องถิ่น

การพัฒนาเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จสูงสุด จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาล สนับสนุนความคิดริเริ่มของภาคเอกชน ซึ่งเรียกสิ่งนี้ว่า บทเรียนด้านความรู้จากท้องถิ่น อีกทั้ง บุคลากรที่รับผิดชอบการพัฒนาเศรษฐกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำเป็นต้องสานสัมพันธ์ที่ดีกับภาคเอกชนในท้องถิ่น 

ทั้งนี้ ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น จะต้องเริ่มต้นจากท้องถิ่น โดย Dr. Andrey Timofeev จาก Georgia State University ได้มาเผยผลการวิจัยและการศึกษาค้นคว้าเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งเป็นประสบการณ์จากต่างประเทศ โดยกล่าวว่า งานวิจัยนี้ได้เน้นศึกษาผลกระทบ ของนโยบายที่อิงอยู่กับสถานที่ โดยเป็นแนวปฏิบัติพิเศษในการจัดเก็บภาษี กฎระเบียบ ข้อบังคับ และสภาพแวดล้อมการลงทุนโดยรวม เฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น

ดังเช่นกรณีตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา หรือในประเทศจีน แม้ว่าในประเทศที่รัฐบาลกลาง เป็นผู้ดำเนินนโยบาย แต่โดยธรรมชาติแล้วนั้น ประเทศเหล่านี้มีสิ่งที่เหมือนกัน คือ มุ่งเน้นไปที่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีจำกัด เนื่องจาก รัฐบาลกลางต้องการทดลองใช้นโยบายให้มั่นใจ ก่อนจะเผยแพร่ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศ

ตัวแบบทางนโยบายที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยและการขับเคลื่อนข้อเสนอ สู่การเปิดหน้าต่างนโยบาย (Policy Windows) ในระดับสถาบันการเมือง โดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน การคลังสาธารณะ และ ผศ.ดร.กฤชวรรธน์ โล่ห์วัชรินทร์ นักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่น และการคลังท้องถิ่น ได้อธิบายว่า จากการสำรวจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 72 แห่ง ใน                                     28 จังหวัดของประเทศไทย โดยศึกษาศักยภาพขององค์กรฯ ที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก ทำให้สามารถแบ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม ระดับศักยภาพด้านงบประมาณ การหาแหล่งทุน และความร่วมมือทางด้านการเงิน โดยแบ่งออกเป็น

กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้สูง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ดีเป็นทุนเดิม มีแหล่งท่องเที่ยว ที่สำคัญสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ และมีผู้นำองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ มีทีมงานบริหารที่เข้มแข็ง รวมไปถึงข้าราชการประจำที่พร้อมสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่

กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้สูง มีสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแรง แต่ภาพรวมขององค์กรมีลักษณะที่อยู่ตัวแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องดิ้นรน หรืออาจเกิดจากการ ผูกขาดทางการเมือง ไร้คู่แข่ง ทำให้ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก

กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้ต่ำ เนื่องจากขาดแหล่งท่องเที่ยวหรือจุดดึงดูดนักลงทุน ประชาชนต้องออกไปแสวงหาทำงานที่อื่น ไม่มีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น แต่ผู้นำองค์กรและทีมงาน มีความตั้งใจและพยายามที่จะแสวงหาแหล่งทุน หรือโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

 กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้ต่ำ โดยผู้นำท้องถิ่น และข้าราชการในพื้นที่ ยังมีความคิดที่จะรอคอยความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียว ไม่พยายามดิ้นรนช่วยเหลือตนเอง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง และขาดโอกาสที่จะแข่งขันกับภายนอก

การระดมสมองครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากพรรคการเมือง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงนักวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนและกำหนดเป้าหมายร่วมกัน โดยได้ข้อสรุปร่วมกันว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลควรปฏิรูปโครงสร้าง บทบาท และหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีหน้าที่หลักในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีการลดข้อจำกัดทางกฎหมาย และให้อิสระทางการคลังแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น และเกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นต่อไป

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://fb.watch/dMVetx1ZNC/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image