เปิดวิสัยทัศน์ ซีอีโอ ‘ไทยออยล์’ คนใหม่ มุ่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ลุยสร้างคุณภาพชีวิตยั่งยืน

ถือเป็นลูกหม้ออยู่คู่กับ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ร่วมกว่า 32 ปี สำหรับ บัณฑิต ธรรมประจำจิต ที่เริ่มจากตำแหน่งวิศวกรรมผลิตในปี 2534 ก้าวขึ้นมาเรื่อยๆ กระทั่งได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยออยล์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 และล่าสุดนี้เดินหน้าลุยงานอย่างเต็มที่ นำคณะผู้บริหารร่วมแถลงกลยุทธ์และวิสัยทัศน์การดำเนินงาน เพื่อแสดงถึงความพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่าน และเดินหน้าองค์กรอย่างยั่งยืน

เริ่มแรก บัณฑิต ธรรมประจำจิต กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับโอกาสขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่ ‘ไทยออยล์’ โดยเน้นย้ำความตั้งใจอันแรงกล้าต่อบทบาทใหม่ในบ้านหลังเดิม กับเส้นทางที่ตนอยากเข้ามาสานต่อการทรานส์ฟอร์มธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ตามเส้นทางยุทธศาสตร์หลัก 3V เพื่อนำไทยออยล์ก้าวสู่องค์กรที่ยั่งยืนมีอายุเกิน 100 ปี โดยแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจประกอบไปด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ

  1. Value Maximization เดินหน้าต่อยอดธุรกิจปิโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง  
  2. Value Enhancement เสริมความแข็งแกร่งในประเทศ ขยายตลาด และกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค รองรับการเติบโตของธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในอนาคต รวมถึงการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น
  3. Value Diversification ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เน้นการประกอบธุรกิจที่มีมูลค่าสูง และการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ สู่การพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี (New S-Curve) เพื่อให้สอดคล้องต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก

อินโดนีเซีย ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ของไทยออยล์ เพราะเป็นที่ตั้งของโรงงาน ที่เราร่วมกับ Chandra Asri และกำลังต่อยอดโรงงานแห่งที่ 2 ขณะที่ในเวียดนามมีบริษัท TOP Solven เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย solvent ที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ซึ่งเราได้แปลงให้กลายเป็นบริษัท TOP Next เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ร้านเรายังมีการร่วมกับพันธมิตรมีการลงทุนในประเทศอินเดีย

ชู TOP for The Great Future แนวคิดสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืน

Advertisement

ซีอีโอ เล่าต่ออีกว่า สำหรับเป้าหมายหลักของ ‘ไทยออยล์’ ที่ตนตั้งใจไว้ คือ การเร่งดำเนินโครงการสำคัญตามแผนกลยุทธ์ อาทิ โครงการพลังงานสะอาด หรือ Clean Fuel Project (CFP) การเตรียมยกระดับการลงทุนสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย

นอกจากนี้ยังเร่งศึกษาการต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และแสวงหาโอกาสเข้าสู่ธุรกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น ธุรกิจสารเคมีที่ใช้เพื่อการยับยั้งและกำจัดเชื้อโรค รวมถึงสารลดแรงตึงผิวที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (Disinfectants & Surfactants)

Advertisement

สำหรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มีเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อม นับเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 

ด้วยเมกะเทรนด์เหล่านี้ ทำให้ ไทยออยล์ ตัดสินใจปรับเป้าหมาย ธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ ปี 2573 สัดส่วนกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงมากกว่า 70-80% ลดลงเหลือ 40% และมีรายได้ส่วนของปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ 30% ขณะที่ธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจใหม่ๆ 25% และธุรกิจไฟฟ้า 5% เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

“หลังทั่วโลกและไทยต่างให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยออยล์ก็มีแผนที่เดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และเป็นเน็ตซีโร่ ในปี 2603 ซึ่งกระตุ้นให้ไทยออยล์ต้องมีการปรับแผนเพื่อสร้างธุรกิจใหม่”

บัณฑิต กล่าวด้วยอีกว่า ภายหลังได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งซีอีโอครั้งนี้ ตนและผู้บริหาร รวมถึงกลุ่มพนักงานได้ร่วมนำเสนอแนวคิด TOP for The Great Future ขับเคลื่อนธุรกิจให้มั่นใจว่า ไทยออยล์สามารถบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายใหม่ที่ตั้งไว้ได้อย่างสำเร็จ โดยคำว่า ‘TOP’ อธิบายได้ดังนี้

T ย่อมาจาก Transformation หมายถึงการทรานสฟอร์มธุรกิจทุกมิติ ให้มั่นใจว่า องค์กรพร้อมขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายใหม่ สร้างธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการมุ่งสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพความสามารถของพนักงานให้รองรับการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ 

พร้อมทั้งยกระดับนวัตกรรม มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้องค์กรขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

O ย่อมาจาก Operational to Business Excellence คือการยกระดับการทำงานปัจจุบันจากการพัฒนาธุรกิจตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปสู่การจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศ (Business Excellence) โดยขับเคลื่อนระบบงานระดับโลก ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและทีมงานมืออาชีพ

P ย่อมาจาก Partnership & Platform คือการสร้างการเติบโตด้วยแนวทางความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจร่วมกัน รวมถึงใช้ประโยชน์สูงสุดจากแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีอยู่ให้เข้าถึงธุรกิจใหม่ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการสนับสนุนการขยายธุรกิจในอนาคต

“แนวคิด TOP for The Great Future ได้เริ่มนำมาใช้ในทิศทางการขับเคลื่อนไทยออยล์ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งในปี 2566 กำลังเข้าสู่ช่วงที่ 2 ตามกรอบเวลาของปี 2565-2568”

D&S ลุยธุรกิจใหม่ วางอนาคตสู่ธุรกิจมูลค่าสูง

ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยออยล์ พูดถึงแผนการลงทุนในธุรกิจใหม่ คือ การหยิบยกคีย์เวิร์ด D&S หรือ Disinfectant and Surfactant โดยอธิบายว่า แผนการดำเนินธุรกิจจากแนวคิดนี้ นับเป็นการวางอนาคตของไทยออยล์ เพราะตลาดมีการเติบโตมูลค่าถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการเติบโต 5-6% สูงกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพี 

นอกจากนี้ มีความสามารถในการทำกำไรก่อนดอกเบี้ย อยู่ที่ 12-18% ขึ้นสูงกว่าอัตราการทำกำไรของไทยออยที่อยู่เพียงระดับไม่ถึง 2 หลักในปัจจุบัน ทั้งยังต้องเป็นธุรกิจที่ใช้การขับเคลื่อนเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งจำเป็นต้องดูจากหลายปัจจัยเหล่านี้ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะลงทุนร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจใดภายในปีนี้

ส่วนในปี 2569-2573 หลังดำเนินโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะทำให้รายได้กลับคืนมาสู่บริษัทและจะนำไปใช้ในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจที่มีมูลค่าสูง อาทิ การผลิตน้ำมันอากาศยานชีวภาพ การศึกษาโอกาสลงทุนพัฒนาพลังงานจากไฮโดรเจน ซึ่งเชื่อมกับแนวคิด Disinfectant and Surfactant อย่างลงตัว

“น้ำมันอากาศยาน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยออยล์เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งมีแนวโน้มดีมานด์เติบโตเพิ่มขึ้น 50% จากความต้องการใช้น้ำมันที่คาดว่าจะสูงถึง 4-5% หลังจากจีนเปิดประเทศและมีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น คิดเป็นปริมาณความต้องการใช้ 15 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทยออยล์เป็นผู้ผลิตเบอร์ 1 ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด หากตลาดมีแนวโน้มเติบโตขึ้นไทยออยล์ก็สามารถเพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำมันอากาศยานได้จากสัดส่วนกำลังการผลิต 10% ของกำลังการกลั่นภาพรวมทั้งหมด”

ก่อนปิดท้าย แม่ทัพของไทยออยล์คนใหม่ยังกล่าวด้วยว่า ปี 2566 ไทยออยล์ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้ 4 แสนล้านบาท อาจจะลดลงจากปีก่อนซึ่งเป็นปีที่ธุรกิจน้ำมันเติบโตผิดปกติ สามารถทำได้ถึง 5 แสนล้าน แต่ไทยออยล์ยังคงมุ่งมั่นสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี หรือ ESG

ด้วยหลักแนวคิดทั้งหมด และทิศทางขับเคลื่อนองค์กรภายใต้ร่มเงาของ ‘บัณฑิต ธรรมประจำจิต’ ยืนยันได้ถึงแนวคิดที่กำลังจะสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงาน และเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน และก้าวสู่การเป็นองค์กร 100 ปีต่อไป ซึ่งตรงกับความเชื่อมั่นที่ว่า 

“วันนี้สิ่งที่ไทยออยล์มีอยู่ อาจไม่เพียงต่อเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ เราอยากเห็นถึงการก้าวสู่ทิศทางธุรกิจด้านพลังงานใหม่ๆ ทั้งพลังงานทางเลือก เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีที่ยั่งยืนต่อไป” บัณฑิต ธรรมประจำจิต ปิดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image