‘BCG’ โมเดลเศรษฐกิจขับเคลื่อนชุมชน ที่คนบ้านนาปอ จ.เลย หยิบมาพัฒนาพื้นที่ตนเอง

เพราะอยากตอบแทนสังคมและคืนประโยชน์ให้ชุมชนที่เติบโตมา ‘อิ๋ม-สุรีรัตน์ สิงห์รักษ์’ อดีตเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลทางการแพทย์ของบริษัทวิจัยเอกชนแห่งหนึ่ง จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่บ้านนาปอ อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย เพื่อพลิกฟื้นภูเขาหัวโล้น ให้กลายเป็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่เต็มไปด้วยต้นไม้กว่า 100 ชนิด ควบคู่กับการมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนวิถีเกษตรชุมชนของคนในพื้นที่ จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวสู่เกษตรผสมผสาน 

วันนี้ ‘ลองเลย’ ไม่ได้เป็นแค่ไร่ที่ไว้ปลูกต้นไม้ใบหญ้าเท่านั้น แต่ยังเป็น ‘ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้’ ‘กิจการของชุมชน’ ที่สำคัญเป็น ‘สถานที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน’ ที่ถ่ายทอดความเป็น BCG Tourism ได้อย่างดี

ชวนอ่านเรื่องราวสุดประทับใจ ตั้งแต่ที่มาที่ไป แรงบันดาลใจ อุปสรรคต่างๆ ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีของคุณอิ๋ม ที่จะทำให้คุณอยากแพ็คกระเป๋าแล้วออกเดินทางไปลองเลย

Advertisement

หลังเดินทางมาอย่างยาวนาน จากเมืองก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นทิวทัศน์ธรรมชาติ ภาพภูเขาเรียงตัวซ้อนกันตามแนวขอบฟ้ายาวสุดลูกหูลูกตา ที่พาความชุ่มฉ่ำจากสายฝนตกลงมาต้อนรับ เหมือนกับจะบอกว่าเราทุกคนถึง ‘ไร่ลองเลย’ บ้านนาปอ อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย แล้วนะ!

คุณอิ๋ม เล่าว่า ตั้งแต่จำความได้ตนเห็นคนในหมู่บ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีมาโดยตลอด ภาพจำจึงเป็นไร่เชิงเดี่ยวภูเขาหัวโล้น

“เรามีโอกาสได้ทำงานในโครงการตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับชุมชนและการสร้างป่า จึงเกิดความคิดอยากตอบแทนสังคม อยากคืนประโยชน์ให้ชุมชนที่เราเติบโตมา เพราะเคยได้รับโอกาสมามาก อยากเป็นผู้ให้บ้าง จึงวางแผนว่าจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดและเริ่มหาความรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้”

Advertisement

คุณอิ๋ม หยิบแนวคิดจาก ‘โครงการสร้างป่า สร้างรายได้’ ที่มุ่งเน้นฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารที่ถูกทำลาย โดยดำเนินการไปพร้อมกันทั้งด้านการสร้างแรงจูงใจให้แก่ประชาชนร่วมฟื้นฟูป่า เป็นผู้รักษาป่าและอยู่กับป่าอย่างกลมกลืนแบบมีส่วนร่วม มีรายได้จากป่าที่สร้างขึ้นเองอย่างยั่งยืนรวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ปี 2554 คุณอิ๋มและแฟน ‘คุณต้อม-รณกร จันทโรทัย’ เริ่มทดลองปลูกกาแฟที่กรุงเทพฯ เมื่อเพาะได้ต้นกล้าที่แข็งแรงก็จะนำกลับไปปลูกที่บ้าน จังหวัดเลย เมื่อผ่านไปได้ 2-3 ปี ทั้งสองตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เดินทางกลับจังหวัดเลย ทำตามความฝัน ไปดูแลต้นไม้อย่างจริงจัง พร้อมวางแผนทำแบรนด์  ‘กาแฟ’ คุณภาพปลอดสารเคมี ที่ได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หรือที่เรียกว่า แนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ในชื่อ ‘กาแฟลองเลย’ 

“การจะปลูกป่ายั่งยืน หมายความว่าชุมชนต้องมีรายได้ที่ยั่งยืนด้วย” ดังนั้น คุณอิ๋มจึงเลือกส่งเสริมให้ทุกคนปลูกต้นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า เพราะสามารถสร้างเม็ดเงินให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ได้ตลอดปี เนื่องจากต้นกาแฟสามารถปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ในป่าตามธรรมชาติ นอกจากจะทำให้ยืนต้นนาน ออกผลได้คุณภาพกว่าการปลูกเดี่ยวๆ แล้ว การปลูกแบบนี้ยังดีต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมด้วย

นับว่าตอบโจทย์เรื่องการดูแลรักษาป่าและการสร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างราบรื่น ไม่ต้องบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวอีกต่อไป

“การเริ่มต้นไม่ง่ายเลย ตอนนั้นที่พูดเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน ชวนชาวบ้านมาปลูกกาแฟ แรกๆ เขาก็จะพากันลุกหนี เพราะไม่เข้าใจ ไม่สนใจ และมองไม่เห็นปลายทางว่าถ้าปลูกพืชแบบนี้จะเกิดผลดีอะไรต่อพวกเขา เขาจะได้อะไรถ้าต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย”

สิ่งที่คุณอิ๋มทำในตอนนั้น นอกจากพลิกฟื้นภูเขาหัวโล้น ไร่ข้าวโพดของตนเองให้กลายเป็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้กว่า 100 ชนิดแล้ว ยังเปิดไร่ลองเลยเป็น ‘ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางการเกษตร’ ทำหน้าที่ให้ความรู้ ฝึกอบรมแก่ชาวบ้านที่สนใจการทำเกษตรผสมผสาน

เพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกกาแฟมากขึ้น คุณอิ๋มและคุณต้อมจึงร่วมตั้ง ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนลองเลย’ ในการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวบ้าน นำมาผลิตเป็นแบรนด์กาแฟลองเลยส่งออกไปทั่วประเทศ

คุณอิ๋ม เล่าว่า กาแฟลองเลยได้รับมาตรฐานระบบการผลิตตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายอาหาร (อย.) และมีความโดดเด่นเรื่องความสะอาด มีกลิ่นหอม รสชาติเข้มกลมกล่อม ถึงขนาดลูกค้าต่างชาติอย่างรัสเซียและญี่ปุ่นออกปากชม

ซึ่งคอกาแฟท่านไหนสนใจ อยากลองกาแฟคั่วบดพรีเมียมของลองเลย เขามีให้เลือกสรรหลากหลายแบบ ทั้งคั่วอ่อน คั่วอ่อนกลาง คั่วกลาง คั่วกลางเข้ม และคั่วเข้ม…มักแนวใด๋จิ้มเอาโลด ! Facebook: ลองเลย Longloei Garden หรือโทร: 08-7057-4995

อย่างที่กล่าวไปตอนต้น ว่าไร่ลองเลยนั้นปลูกต้นไม้หลากสายพันธุ์ นอกจากกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ก็มีไผ่ แมคคาเดเมีย อินทผลัม ฝรั่ง อะโวคาโด ขนุน ต้นหว้า องุ่นบราซิล เซียนท้อ เนยถั่วหรือพีนัตบัตเตอร์ และต้นไม้พื้นถิ่นอื่นๆ ผสมผสานกันไป ทำให้มีผลผลิตออกขายได้ทั้งปี

เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้ารูปเข้ารอย ปี 2560 คุณอิ๋มเริ่มพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสีเขียวที่มีองค์รวมทั้งด้าน B-เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy), C-เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ G-เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่เรียกว่า BCG Tourism 

เริ่มจากการลองหัดทำโฮมสเตย์ โดยชักชวนชาวบ้านให้มาลองทำด้วยกัน ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีส่วนในการสนับสนุนการท่องเที่ยววิถีใหม่ แต่ทางลองเลยและชุมชนยังไม่มีประสบการณ์ ประกอบกับช่วงปี 2562 เกิดวิกฤติโควิด-19 จึงปิดให้บริการโฮมสเตย์ไปก่อน ระหว่างนั้นคุณอิ๋มก็พาชาวบ้านไปหาความรู้เรื่องการทำโฮมสเตย์ และกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง เมื่อช่วงปลายปี 2565

แนวคิดโฮมสเตย์ของบ้านนาปอ อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย คือคนที่ไปพักจะรู้สึกเหมือนไปอยู่บ้านญาติ นอกจากกินนอนอยู่กับชาวบ้านแล้ว ที่นี่ยังมีกิจกรรมให้ทำมากมาย เช่น ยิง Seed Bomb ปลูกป่า, หาผักมากินกับเมี่ยงโค้น, สครับผิวจากกากกาแฟ, ทดสอบความสะอาดของกาแฟด้วยวิธี Cupping, ร่วมกินอาหารกับชาวบ้าน เป็นต้น

‘เมี่ยงโค้น’ อาหารพื้นบ้านที่หากินได้เแค่ที่ ‘เลย’

เมนูกินเล่นที่เต็มไปด้วยผักสมุนไพร ประกอบไปด้วย มะนาว พริก หอมแดง กระเทียม ข่า ขิง ตะไคร้ มะเขือเทศ ถั่วลิสง หรือแทนด้วยแมคคาเดเมีย พร้อมผักที่เอาไว้ห่อ เช่น ใบผักขี้นาค ใบส้มกุ้ง ใบชะพลู ใบขนุนอ่อน ราดด้วยน้ำ ‘ผักสะทอน’ พืชตระกูลถั่วชนิดไม้ยืนต้น นางเอกของจานนี้ที่ทำจากใบไม้มีรสชาติคล้ายน้ำปลาร้าแต่ไม่เหม็นไม่คาว ให้ความรู้สึกคล้ายน้ำปลาหวานนิดๆ กินรวมแล้วรู้สึกสดชื่น เรียกน้ำย่อยได้ดี

‘หลามไก่’ อาหารบ้านๆ ที่รสชาติไม่ธรรมดา

หลาม คือการนำอาหารใส่กระบอกไม้ไผ่ วัสดุจากธรรมชาติที่นำมาใช้แทนหม้อ แล้วนำไปหลาม ซึ่งคล้ายกับการเผาให้สุก ถือเป็นวิธีการทำอาหารของคนที่ชอบอยู่กับธรรมชาติ ช่วยลดขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน หลามไก่รสชาติกลมกล่อม หอมกลิ่นไม้ไผ่เผาไฟ กินได้ไม่รู้เบื่อ

นั่ง ‘รถอีแต๊ก’ ขึ้นเขากับปู่หลีด

เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน นั่งรถอีแต๊กของปู่หลีดขึ้นเขาไปดูสวนป่า แถมชาวบ้านยังพาเราไปเก็บเห็ด ! รู้หรือไม่ การมีเห็ดขึ้นในไร่ในสวน เป็นตัวชี้วัดว่าดินในพื้นที่นั้นมีความชื้นและอุดมสมบูรณ์ เป็นผลจากการที่ชาวบ้านปลูกป่าปลูกต้นไม้นั่นเอง 

ไปรอบนี้โชคดีเจอ ‘เห็ดระโงก’ เรียกอีกชื่อว่า ‘เห็ดไข่ห่าน’ ซึ่งในครั้งนี้เราเก็บมาได้ตั้งครึ่งตะกร้า แน่นอนว่ามันจะกลายเป็นอาหารเย็นของเราวันนี้…เฮ็ดเมนูหยังดีน้อหมู้เฮาแลงนี่

‘ตุ้มโฮมกินข้าวแลง’ กับพี่น้องบ้านนาปอ

ตกเย็นถึงเวลาตุ้มโฮมล้อมวงกินข้าวกัน ! เมนูอาหารหลากหลาย รสชาติอร่อย บรรยากาศดี เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของทุกคน ทำให้เราเห็นถึงความอบอุ่นเสมือนการได้กลับมาใช้เวลาร่วมกับญาติๆ 

“ใครที่ชอบการท่องเที่ยวธรรมชาติ ท่องเที่ยวสีเขียว ชอบเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน หรือหลงใหลการดื่มกาแฟ  ไร่ลองเลยและชุมชุนบ้านนาปอ อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ยินดีต้อนรับ เพราะบ้านเราอากาศดีมีครบทุกอย่างสามารถเที่ยวได้ทั้งปี” คุณอิ๋มและคุณต้อม ปิดท้าย

BCG Tourism ท่องเที่ยวสีเขียวอย่างเป็นองค์รวม เมื่อผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ททท. เองในฐานะองค์กรที่ต้องการขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยว ให้พร้อมรับนักท่องเที่ยวคุณภาพอย่างยั่งยืนนั้น จึงสนับสนุนแนวคิด BCG Tourism หรือ การท่องเที่ยวยั่งยืน ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวสู่การเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Green Travel) ให้ทุกคนมาเที่ยวได้ตราบนานเท่านาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image