PTT Art Gallery หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา เอาใจคนชอบเสพงานศิลป์ ยกผลงาน ‘ศ.อริยะ กิตติเจริญวิวัฒน์’ ชวนใช้เวลาว่าง ไปเดินเล่นชิลๆ ซึมซับงานอาร์ต ผ่อนคลายอารมณ์ไปในตัว
ตั้งต้น, 2566, เชื่อมเหล็ก, สูง 59 ซม.
ไม่ว่ากาลเวลาจะหมุนไปเร็วขนาดไหน ศิลปะ ก็ยังเป็นพื้นที่ฮีลใจของใครหลายคนอยู่เสมอ มากกว่านั้นผลงานเหล่านั้นกลายเป็นพลังของการสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินคลื่นลูกใหม่ในแวดวงศิลปะได้อีกด้วย และวงการศิลปะได้สร้างความตื่นเต้นให้กับสังคมอีกครั้ง เมื่อ ศ.อริยะ กิตติเจริญวิวัฒน์ ศิลปินชั้นครูผู้ฝากผลงานประดับวงการศิลปะของไทยมากมาย ได้หยิบยกผลงานเก่าอายุกว่า 30 ปี มารังสรรค์เป็นงานศิลปะชิ้นใหม่ พร้อมจัดแสดงให้ชมกันอย่างใกล้ชิดกับ นิทรรศการ S M L
ตัวต่อตัว, 2567, สเตนเลส ระบายสี, ขนาด 70x125x45 ซม.
ศ.อริยะ กิตติเจริญวิวัฒน์ ปัจจุบันเป็นประธานหลักสูตรทัศนศิลป์ ภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยผลงานที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ชื่อ นิทรรศการ S M L รวบรวมผลงานที่เป็นความภาคภูมิใจเกือบ 20 ชิ้น ซึ่งทุกชิ้นยังไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน ทั้งยังมีผลงานชิ้นเอกของกลุ่มลูกศิษย์มาร่วมแสดงอีกด้วย
‘ศ.อริยะ’ เล่าถึงที่มาของนิทรรศการ S M L ด้วยสีหน้า แววตา และน้ำเสียงที่ภาคภูมิใจว่า เสน่ห์อย่างหนึ่งของงานศิลปะ คือ การแทรกซึมเข้าไปทุกช่วงเวลาของการใช้ชีวิต ตั้งแต่การแต่งตัว การสร้างอารมณ์ความรู้สึก การเกิดจินตนาการอย่างไม่มีสิ้นสุด
“การเปลี่ยนของยุคสมัยทำให้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่างานศิลปะจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แม้แต่ตนเองก็ไม่คาดคิดว่าวันหนึ่งได้มาทำผลงานที่ผสมผสานของความสวยงามของแต่ละยุค และนี่คือความงดงามของมัน แน่นอนศิลปะยังคงวนเวียนกับเราต่อไป และกลายเป็นที่มาผลงานที่ให้ได้ชมในนิทรรศการ S M L ครั้งนี้”
S M L ไม่ใช่แค่ไซซ์ แต่คือขนาดของการเปลี่ยนแปลง
เบิกบาน, 2566, เชื่อมเหล็ก, สูง 71 ซม.
ศ.อริยะ พูดถึงที่มาของแนวคิดของการสร้างสรรค์ผลงานมาตลอดกว่า 3 ทศวรรษจนรังสรรค์เป็นนิทรรศการ S M L ว่า S M L เราอาจคุ้นเคยกับการเลือกไซซ์เสื้อผ้าหรือขนาดของบางสิ่งบางอย่าง แต่ในนัยยะนี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของชีวิต การเปรียบเปรยการสร้างสรรค์ผลงานขนาดต่างๆ กัน เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ต้องพานพบการเลือกอยู่เสมอ เมื่อยังเยาว์วัย การเลือกเสื้อผ้าขนาดเล็ก แต่เมื่อเติบโตขึ้นขนาดก็ขยายมากขึ้น สะท้อนถึงการเดินทางของชีวิตไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ ซึ่งเมื่อสถานการณ์ลงตัวขนาดและสัดส่วนจะกลายเป็นผู้เลือกและกำหนดชะตาชีวิตของเราโดยปริยาย
สอดคล้องกับแนวคิดของนิทรรศการ S M L ที่เริ่มจากการสร้างสรรค์ผลงานที่มีหลากหลายขนาด ตั้งแต่ชิ้นเล็ก กลาง และใหญ่ ด้วยการใช้วัสดุเหล็กเป็นสื่อแสดงออกของรูปทรงต่างๆ ในผลงานประติมากรรม สลับกับวัสดุอื่นเข้ามาผสมผสานอยู่เนืองๆ จนถึงปัจจุบันใช้ ‘สเตนเลส’ เป็นตัวกำหนดรูปทรงขึ้น ทั้งยังมีขนาดแตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับความจำเป็นหรือเหตุการณ์ช่วงเวลานั้นๆ
สำหรับความหมายของแต่ละตัวย่อ S คือ Stainless, M คือ Metal ส่วน L คือ Lively เป็นความหมายของตัวย่อของคำเหล่านี้ ซึ่งเหตุผลของการใช้สเตนเลสมาทำงานศิลปะ เพราะว่าด้วยธรรมชาติของวัสดุมีความคงทนถาวร ดูแลง่าย รักษาได้ง่าย ส่งผลให้ชิ้นงานอยู่ได้นาน ที่สำคัญพื้นผิวของวัสดุมีความมันวาว เมื่อใช้สีพ่นลงไป ใช้กราฟฟิตี้ตัดกับสีพื้นผิวที่เป็นสีเงิน ทำให้เกิดความสวยงามอีกมิติ
“โจทย์สำคัญของการทำงานศิลปะของรูปแบบประติมากรรมจากสเตนเลส คือ ตัววัสดุมีความแข็งแรง แข็งกระด้าง เราจะทำยังไงให้ชิ้นงานมีความชีวิตชีวา ไม่แข็งทื่อ และสามารถเชื่อมโยงความหมายกับ ธรรมชาติ สิ่งมีชีวิต พืช หรือสิ่งรอบๆ ตัว ให้เชื่อมโยงความหมายกัน ขณะที่ตัววัสดุขัดแย้งกัน”
‘กาลครั้งหนึ่ง’ ที่ ‘งีบ’ สื่อความงดงามเชื่อมชีวิต
ทุกครั้งของการสร้างชิ้นงานมักเกิดจากอารมณ์ความรู้สึกและไอเดียที่ได้รับการสะสมมาอย่างต่อเนื่องจนประกอบเป็นงานศิลปะที่ให้ได้ชม เช่นเดียวงานที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้เป็นการนำแนวคิดที่สะสมมาตลอดการทำงานศิลปะร่วม 30 ปี พร้อมนำผลงานต้นแบบในอดีตมาสร้างผลงานใหม่อีกครั้ง ศ.อริยะ อธิบายถึงแนวคิดการสร้างผลงานก่อนยกตัวอย่างผลงานที่เป็นความภาคภูมิใจอีกด้วย
กาลครั้งหนึ่ง, 2567, เชื่อมเหล็ก อะคริลิก, สูง 79 ซม.
กาลครั้งหนึ่ง ประติมากรรมของการเชื่อมเหล็ก ขนาดความสูง 79 เซนติเมตร เป็นการนำต้นแบบที่เคยสร้างผลงานในอดีตมาสร้างสรรค์ใหม่ให้มีขนาดที่เล็กลง เข้ากับศิลปะยุคปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งได้ไอเดียจากมุมมองที่ว่า ยุคปัจจุบันโลกของศิลปะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอ สไตล์การทำงาน รวมถึงผลงานที่ปรากฏก็แตกต่างจากอดีต โดยเลือกนำเสนอในลักษณะอนุสาวรีย์วางบนแท่นอะคริลิกข้างในบรรจุซากของการหลงเหลือในอดีต ผสมผสานกราฟฟิตี้อย่างลงตัว
“กาลครั้งหนึ่ง เป็นรูปทรงของช้างที่ผ่านการตัดแต่งแล้ว สะท้อนถึงวัฒนธรรมความเป็นไทย และยังเปรียบเสมือนเรื่องราวจากอดีตที่ครั้งหนึ่งอาจเคยมีเนื้อหา มีความโดดเด่น แต่พอเวลาผ่านไปอาจเป็นเพียงอนุสาวรีย์ให้คนนึกถึงเท่านั้น ขณะที่ผลงานใหม่ๆ ก็จะถูกแทรกซึมเข้ามาแทนที่”
งีบ, 2566, เชื่อมเหล็ก, สเตนเลส, สูง 200 ซม.
งีบ ศิลปะของการเชื่อมเหล็กและสเตนเลสเข้าด้วยกันจนเป็นประติมากรรมที่สื่อถึงเรื่องราวของการจินตนาการ ความคิดต่างๆ ที่เก็บอยู่ในสมอง โดยนำเสนอด้วยส่วนหนึ่งของศีรษะด้านบนก็เป็นเรื่องของความฟุ้งที่เราคิด ทั้งยังสะท้อนถึงความคิดที่อาจเข้ามาช่วงเวลาที่เรางีบหรือนอนหลับ
พื้นที่ฮีลใจ สร้างแรงบันดาลใจสายอาร์ต
พักพิง, 2566, เชื่อมเหล็ก, สูง 43 ซม.
ส่วนใครที่ชอบเสพงานศิลปะ PTT Art Gallery หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ภายใต้การจัดสรรพื้นที่ของกลุ่ม ปตท. นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่พร้อมเปิดพื้นที่จัดแสดงงานศิลป์ได้อย่างสุนทรีย์ไม่แพ้กัน ซึ่งมุมนี้เจ้าของผลงานแอบเห็นด้วยพร้อมพูดเสริมว่า คนยุคปัจจุบันเข้าใจและเข้าถึงอารมณ์ของงานศิลปะมากยิ่งขึ้น ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่เอื้อต่อการเดินทางเข้ามาเยี่ยมชม ทั้งยังเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับการออกแบบให้สวยงาม เมื่อผลงานศิลปะเข้ามาอยู่ภายในแล้วยิ่งทำให้ผลงานเหล่านั้นโดดเด่นมากขึ้น
ส่วนตัวเคยได้มีโอกาสนำผลงานมานำเสนอในพื้นที่แห่งนี้มาแล้วเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ให้นำผลงานมาจัดแสดงให้คนทั่วไป ลูกศิษย์ ชาวไทย และชาวต่างชาติได้เห็นผลงานที่เป็นประติมากรรม ได้เห็นถึงพลังของศิลปะที่เป็นฝีมือของคนไทย
“PTT Art Gallery หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา คือ พื้นที่ที่ให้โอกาสแก่ศิลปินได้นำเสนอหรือจัดแสดงผลงานของตนเองสู่สาธารณะ ซึ่งนอกจากตนเองแล้ว เชื่อว่าโอกาสดีๆ แบบนี้ก็พร้อมต้อนรับศิลปินท่านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ส่วนคนที่มาชมนอกจากเพลิดเพลินแล้ว อาจได้แรงบันดาลใจกลับไปอีกด้วย”
สำหรับการสร้างแรงบันดาลใจทำงานศิลปะ ศ.อริยะ บอกว่า ความจริงแล้วศิลปะอยู่กับตัวเราตลอดเวลา ทุกชิ้นล้วนเกิดขึ้นจากตัวเราทั้งนั้น ส่วนตัวมองว่า ลองขยับไปสถานที่ใหม่ๆ ทำเรื่องที่ไม่คุ้นเคย ตรงนั้นคือสิ่งที่สร้างไอเดียใหม่ๆ ให้เสมอ ที่สำคัญคือต้องมีใจรัก เพราะแน่นอนว่าครั้งแรกอาจไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะเฟล แต่ถ้าไม่หยุดหรือท้อ เชื่อว่าครั้งต่อไปต้องสำเร็จอย่างแน่นอน
กว่าจะถึงตรงนั้นอาจจะเหนื่อย ต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใตมหาศาล ที่สำคัญต้องอาศัยความรักต้องการอยู่กับศิลปะมากๆ แน่นอนว่าถ้ารามีใจรัก มุ่งมั่น หนักแน่น และพยายามความสำเร็จไม่ไกลเกินเอื้อม แต่ไม่ว่าจะไปถึงนั้นหรือไม่ขอให้เชื่อว่าศิลปะ คือ การจินตนาการที่ไม่มีสูตรตายตัว อยู่ที่จินตนาการไปรูปแบบไหนเท่านั้นเอง
“นิทรรศการ S M L นี้ คือ ผลงานที่ไม่เคยนำเสนอที่ไหนมาก่อน เป็นการพูดถึงขนาดที่แตกต่าง จากชิ้นเล็กสู่ชิ้นใหญ่ จากชิ้นใหญ่ไปสู่งานชิ้นเล็ก และมีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของชีวิต จึงอยากเชิญชวนผู้สนใจแวะชมงานศิลปะในนิทรรศการ S M L” ศ.อริยะ ฝากทิ้งท้าย
ร่วมชมผลงานจริง เรียนรู้เทคนิค วิธีการ ศิลปะการนำเสนอ ‘นิทรรศการ S M L’ ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ PTT Art Gallery หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ