ทำความรู้จัก ‘ไข้เลือดออก – ไข้ซิกา’ 2 โรคร้ายจากยุงลาย อันตรายถึงชีวิต

‘ยุงลาย’ เป็นยุงสายพันธุ์หนึ่งที่พบได้บ่อยในประเทศไทย มักกระจายตัวอยู่ในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน มีลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัดตรงลายสีดำสลับขาวตามลำตัวและขา โดยยุงลายแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ยุงลายบ้านและยุงลายสวน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องพาหะของเชื้อไวรัสก่อโรค หลักๆ คือ ไข้เลือดออกและไข้ซิกา

‘ไข้เลือดออก’ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ละระบาดหนักในช่วงฤดูฝนของทุกปี อาการของโรคไข้เลือดออกมีตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ปัจจุบันไข้เลือดออกกำลังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศไทย เพราะแต่ละปีมีผู้ป่วยจากทุกภาคเป็นจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี 

ส่วน ไข้ซิกา เป็นโรคที่เกิดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus) ที่สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษย์ ถูกค้นพบครั้งแรกในลิงเมื่อปี 1947 ที่ป่าซิกาของประเทศยูกันดา และ 5 ปีต่อมาถึงพบในมนุษย์ การแพร่กระจายของไวรัสซิกามักเกิดขึ้นผ่านยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะสำคัญในการแพร่เชื้อ ยุงชนิดนี้ยังเป็นพาหะสำหรับไวรัสเดงกีและไข้เหลืองด้วย

Advertisement

แม้ไข้เลือดออกและไข้ซิกา จะมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเหมือนกันและมีอาการที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ก็มีบางอาการที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละโรคอยู่ เช่น ไข้เลือดออก มักมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง และเมื่อไข้เริ่มลดอาจมีอาการรุนแรงแทรกซ้อนเฉียบพลัน อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงอาการ ‘เลือดออก’ จุดเริ่มต้นและหนึ่งในสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

แต่สำหรับไข้ซิกา ยังไม่มีลักษณะที่ชัดเจนเหมือนไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีผื่นที่ผิวหนัง และบางส่วนจะตาแดง เพราะเยื่อบุตาอักเสบ สิ่งที่น่าห่วงกว่า คือ หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกาขึ้นมา ร่างกายจะส่งเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้เกิดภาวะสมองไม่เจริญเติบโต เมื่อคลอดออกมาจะเป็นทารกที่มีศีรษะเล็ก

 

Advertisement

ดังนั้นมาตรการสำคัญที่ทุกคนต้องทำเพื่อป้องกัน คือ จัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่ 7ร. คือ 1.โรงเรือน/บ้าน  2.โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์)  3.โรงเรียน  4.โรงแรม/รีสอร์ต 5.โรงงานอุตสาหกรรม  6.โรงพยาบาล และ 7.ส่วนราชการ

 

ในขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยปฏิบัติตามมาตรการ ‘3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค’ คือ เก็บบ้าน ให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ แสงแดดส่องเข้าถึง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะ บริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด จัดการภาชนะไม่ให้มีน้ำขัง เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันยุงลายมาวางไข่ สำหรับการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ให้ทายากันยุง นอนในมุ้ง ติดมุ้งลวด ใช้ยาจุดกันยุง และใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว จะสามารถป้องกันได้ทั้ง โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย 

ป้องกันช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image