เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ในโลกแห่งยุคปัจจุบัน เรามีนวัตกรรมการแพทย์ที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การเข้ารับบริการนั้นต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง การเข้าถึงจึงถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่มีกำลังจ่ายได้เท่านั้น     

อย่างไรก็ดี ด้วยประสิทธิผลแห่งนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาวิธีเดิม จึงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ตระหนักถึง และให้ความสำคัญมาโดยตลอด ดังนั้น สปสช. จึงได้มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลรวมถึงบริการสาธารณสุขในการดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองฯ จากนวัตกรรมที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง  

แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ย่อมมุ่งสู่การรักษาโรคที่มีภาวะซับซ้อนและรุนแรง ในจำนวนนี้มีโรคมะเร็งรวมอยู่ด้วย ที่ผ่านมา สปสช. ได้ดำเนินการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อให้ได้รับการดูแลตามแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง (Protocol CA) ที่เป็นมาตรฐานปัจจุบัน ประกอบกับรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้รุกนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” 1 ใน 10 ของการดำเนินการ Quick win หลากหลายนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งจึงได้ถูกเพิ่มเติมในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองฯ  

Advertisement

เริ่มตั้งแต่ “การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์” ที่นำร่องให้สิทธิการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง 3 กลุ่ม คือ 1.มะเร็งต่อมลูกหมาก 2.มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง และ 3.มะเร็งตับ ตับอ่อนและท่อน้ำดี ด้วยเป็นการผ่าตัดรักษาในจุดที่คับแคบและลึก การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดจึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถและความแม่นยำของการผ่าตัด มีความปลอดภัย ลดภาวะแทรกซ้อน และให้ผลการรักษาที่ดี ทั้งผู้ป่วยเองยังฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เพราะเป็นการผ่าตัดแผลเล็ก โดยประมาณการณ์มีผู้ป่วยในระบบที่ต้องรับการรักษาด้วยวิธีนี้จำนวน 600 รายต่อปี    

การรักษาด้วยนวัตกรรมการแพทย์ขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น “การฝังแร่เฉพาะที่เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในตา” (Plaque brachytherapy) ขณะนี้มีเพียงโรงพยาบาลรามาธิบดีเพียงแห่งเดียวที่ให้การรักษานี้ได้ เพื่อยับยั้งไม่ให้โรครุกลามเป็นมะเร็งที่ตาและสูญเสียดวงตา เน้นให้ผู้ป่วยระยะเริ่มแรกและมีเนื้องอกไม่ใหญ่เกินไปได้รับการักษา แม้ว่าจะมีอุบัติการณ์ไม่มากแต่การเข้าถึงก็เป็นสิ่งจำเป็น และต้องได้รับการส่งต่อรักษา โดยเป็นข้อเสนอจากสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา 

Advertisement

เช่นเดียวกับ “การรักษาด้วยรังสีโปรตอนในผู้ป่วยมะเร็ง” ปัจจุบันมีเพียงศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เท่านั้นที่ให้การรักษา เป็นเทคนิคการฉายรังสีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยยังลดน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับการฉายรังสีโฟตอนแบบเดิม ซึ่งเป็นข้อเสนอจากสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย 

การเข้าถึงยามุ่งเป้า (Targeted therapy) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจง เฉพาะจุดชัดเจน แต่ส่วนใหญ่จะมีราคาแพง แต่มีความจำเป็นต่อผู้ป่วยที่ต้องเข้าถึงยาเหล่านี้ ดังนั้นเมื่อมีการพัฒนายาใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็ง เมื่อผลการวิจัยพบว่ามีความคุ้มค่า สปสช.ก็จะมีการดำเนินการเพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองเช่นกัน อาทิ 

ยาไรโบไซคลิบ (Ribociclib) เพื่อรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ที่ได้มีการเพิ่มเติมเป็นรายการยาเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2567 นี้ ขณะที่ตั้งแต่ปี 2558 บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติการใช้ยา ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) ยารักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น จากการศึกษาประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า มีความคุ้มค่าเพราะช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยจาก 9.11 ปี เป็น 14.12 ปี

นอกจากนั้นในปี 2561 บอร์ด สปสช.ยังได้อนุมัติการใช้ยา Monoclonal antibody แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด นอน ฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma : NHL) ชนิด diffused large B-cell lymphoma หรือ DLBCL ที่มีเป้า CD 20 เป็นบวก ซึ่งช่วยในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้ได้อย่างมาก เนื่องจากเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในผู้มะเร็งต่อมน้ำเหลืองและที่สำคัญคือมะเร็งชนิดนี้สามารถหายขาดได้

นอกจากการรักษาผู้ป่วยมะเร็งแล้ว ในระบบยังมีนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อป้องกัน นั่นคือ “ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง” มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นของโรคมะเร็งในผู้หญิง เพื่อลดอัตราการป่วยที่รุนแรงและเสียชีวิต การตรวจคัดกรองจึงเป็นมาตรการที่สำคัญ แต่ที่ผ่านมาด้วยความความเขินอาย ทำให้ผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยไม่เข้ารับบริการตรวจคัดกรองด้วยวิธีเดิม ดังนั้นเมื่อมีชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง ที่พัฒนาขึ้นและเป็นนวัตกรรมใหม่ สปสช.จึงได้บรรจุในชุดสิทธิประโยชน์และสนับสนุนการให้บริการ โดยกระจายให้กบผู้หญิงไทยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง  

ไม่แต่ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองเท่านั้น ที่ผ่านมายังมีนวัตกรรมชุดตรวจโรคด้วยตนเองที่ถูกพัฒนาขึ้นที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงเช่นกัน ไม่ว่าจะ “ชุดตรวจเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง” ทำให้ผู้ที่รู้ว่าตัวเองมีพฤติกรรมเสี่ยงสามารถใช้ชุดตรวจนี้ ทำการตรวจเชื้อเอชไอวีได้ด้วยตนเอง นอกจากเป็นการลดความเครียดกังวลแล้ว ยังมีส่วนทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่การดูแลรักษาได้โดยเร็ว รวมไปถึงการลดการแพร่กระจายเชื้อเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ด้วย นอกจากยังเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560 – 2573 ให้บรรลุเป้าหมาย สปสช. จึงได้บรรจุให้มีบริการนี้ในระบบ ขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมระบบเพื่อสนับสนุนการให้บริการ

“ชุดตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับด้วยตนเอง” ขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการวางระบบเพื่อสนับสนุนการให้บริการ หลังจากบอร์ด สปสช. ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ นับเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีประโยชน์ต่อคนไทยอย่างมาก ด้วยประเทศไทยมีอุบัติการณ์พบผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบผู้ป่วยมากในแถบภาคอีสาน ซึ่งมีสาเหตุจากพยาธิใบไม้ตับ ดังนั้นชุดตรวจคัดกรองฯ นี้จึงเป็นส่วนที่ช่วยค้นหาผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับก่อนลุกลามสู่โรคมะเร็ง ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในพื้นที่ 30 จังหวัดเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ตั้งเป้าหมายลดอัตราการติดพยาธิใบไม้ตับให้น้อยกว่า 1% ภายในปี 2568 และลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีลง 2 ใน 3 ในปี 2578 

นอกจากนี้ วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทยและได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีนวัตกรรมไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นอีกด้านหนึ่งของนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ สปสช.ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน เพื่อนำมาดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองฯ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “รากฟันเทียม” “ถุงทวารเทียม” และ “กะโหลกเทียมไทเทเนียม” ที่พัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย โดยมีคุณภาพและมาตรฐานทัดเทียมที่ไม่แตกต่างจากการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งมีราคาที่ถูกกว่าที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึง ด้วยเป็นนวัตกรรมที่ผลิตในประเทศ ทำให้ที่ผ่านมามีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจำนวนไม่น้อยได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานด้วยนวัตกรรมด้านการแพทย์ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช.    

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างของนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่สปสช. เพิ่มเติมรายการเบิกจ่ายเพื่อดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองฯ มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการดูแลด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์แล้ว ยังเป็นส่วนในการ “ยกระดับบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” นโยบายสำคัญของรัฐบาลเพื่อดูแลคนไทยทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image