“หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” มิติใหม่ของ “30 บาทรักษาทุกที่”

ในขณะนี้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตามโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ใกล้บ้านใกล้ใจ มากยิ่งขึ้นนั้นก็คือการเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองโดยคลินิกเอกชน ซึ่งไม่ใช่แค่คลินิกเวชกรรมอย่างที่คนทั่วไปคุ้นเคยเท่านั้น แต่ยังรวมถึง คลินิกพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกทันตกรรม คลินิกแพทย์แผนไทย ร้านยา และบริการโทรเวชกรรมหรือ Telemedicine รวมทั้งหมด 8 ประเภท

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาระสำคัญที่อยู่เบื้องหลังนโยบายนี้มี 2 ประการ คือ 1. เป็นการทำ Digital Transformation ระบบข้อมูลสุขภาพให้มีการเชื่อมต่อกันทั่วประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ที่ประชาชนจะเห็นได้ชัดคือสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว หน่วยบริการสามารถเรียกดูข้อมูลโรค การวินิจฉัยโรค และแนวทางการรักษาที่ได้ทำไปแล้วจากฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงกันระหว่างหน่วยบริการ และสามารถให้การรักษาได้ต่อเนื่อง ลดความซ้ำซ้อนในการรักษาและการให้ยา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถนำข้อมูลสุขภาพซึ่งมีมหาศาลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์แนวโน้มเพื่อกำหนดนโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสมและทันสถานการณ์อีกด้วย

เมื่อรักษาได้ทุกที่แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการคือต้องมีหน่วยบริการที่เพียงพอให้ประชาชนไปรับบริการด้วย ความสำคัญที่ 2. จึงเป็นการดึงคลินิกเอกชนเข้ามาร่วมโครงการเพื่อให้มีหน่วยบริการที่เพียงพอ และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในภาคเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพประชาชนด้วย

Advertisement

ขณะที่ในฝั่งของ สปสช. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กล่าวว่า คลินิกเอกชนที่เข้าร่วมดูแลประชาชนในโครงการนี้ เรียกว่า “หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” ซึ่งประกอบด้วย ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น และบริการโทรเวชกรรมหรือ Telemedicine โดยบทบาทหลักจะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของระบบบริการปฐมภูมิ ให้ประชาชนสามารถไปรับบริการใกล้บ้านโดยไม่ต้องไปเสียเวลาแออัดหรือรอที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน

นพ.จเด็จ ยกตัวอย่างเช่น ร้านยาชุมชนอบอุ่น ประชาชนสามารถไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้วกลับมารับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้เลยโดยไม่ต้องไปเสียเวลารอที่ห้องยาอีก หรือหากเจ็บป่วยเล็กน้อย ก็สามารถไปพบเภสัชกรเพื่อรับยาและคำแนะนำเบื้องต้นได้เลยโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล หรือแม้แต่บริการเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ก็สามารถไปที่ร้านยาได้ เช่น บริการแจกถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง เป็นต้น

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนให้เกิดหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่เหล่านี้ สปสช. ได้รับความร่วมมือจากสภาวิชาชีพต่างๆ ในการเป็นตัวกลางประสานทำความเข้าใจกับคลินิกเอกชนต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนในด้านการอบรมและกำกับติดตามคุณภาพการบริการ ซึ่งหากไม่มีสภาวิชาชีพเหล่านี้ก็ยากที่การขับเคลื่อนโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวจะเดินมาถึงขั้นนี้ได้

Advertisement

รศ.ภญ.สุณี เลิดสินอุดม กรรมการและเหรัญญิก สภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ในมุมของวิชาชีพแล้ว เภสัชกรทุกคนเข้าใจดีว่า โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ของประเทศ และเป็นโอกาสของเภสัชกรในการใช้ศักยภาพวิชาชีพดูแลสุขภาพให้กับประชาชนร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ และจะเป็นผลดีกับทุกภาคส่วนทั้งในส่วนของประชาชนที่สามารถรับบริการได้ใกล้บ้าน ลดภาระงานของเภสัชกรในโรงพยาบาลทำให้มีเวลาไปดูแลผู้ป่วยหนักที่จำเป็น และร้านยาเองก็ได้เป็นที่รู้จักในชุมชนและได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยระยะเวลาที่ผ่านมาร้านยาต่างๆ ให้ความร่วมมืออย่างดี และสมัครเข้าร่วมโครงการมากขึ้นเรื่อยๆ 

รศ.ภญ.สุณี  กล่าวว่า ปัจจุบันมีร้านยาทั่วประเทศประมาณ 1.7 หมื่นแห่ง ในจำนวนนี้ที่ผ่านมาสมัครเป็นหน่วยบริการร่วมของ สปสช.แล้วประมาณ 3,000 แห่ง และเข้าร่วมในโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวไปแล้วอีกกว่า 2,000 แห่ง และในปีนี้ก็คาดว่าจะมีเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 5,000 แห่งทั่วประเทศ 

“แต่ที่เราต้องการให้เข้าร่วมมากขึ้นจริงๆ คือร้านยาในชุมชน โดยเฉพาะร้านยาประจำอำเภอ และตำบล เพราะตอนนี้ร้านยาที่เข้าร่วมยังกระจุกตัวอยู่ในเขตตัวเมือง หรือในตัวจังหวัดเป็นส่วนมาก แต่ในพื้นที่ชนบท หรือห่างไกลออกไปที่มีร้านยาเช่นกัน ก็ยังไม่ได้เข้าร่วมมากเท่าใดนัก” รศ.ภญ.สุณี  กล่าว

ขณะที่ ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 กล่าวว่า ทันตแพทยสภา มองภาพของคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมให้บริการในโครงการนี้ว่าเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ดังนั้น การให้บริการจึงไม่ใช่แค่ขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน แต่จะดูแลประเมินความเสี่ยงของสุขภาพช่องปากของผู้รับบริการและวางแผนการรักษาทั้งหมด จากนั้นจึงจะทำหัตถการที่จำเป็น ซึ่งในขณะนี้ สปสช. กำหนดให้ใช้สิทธิรับบริการได้ฟรีไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี ดังนั้น หากปัญหาสุขภาพในช่องปากยังรักษาได้ไม่หมด ในครั้งที่ 4, 5 หรือ 6 ก็สามารถไปรับบริการต่อที่โรงพยาบาลรัฐ หรือถ้าสามารถจ่ายได้เองก็รับบริการต่อเนื่องที่คลินิกเลย

ปัจจุบันมีคลินิกทันตกรรมเอกชนทั่วประเทศประมาณ 7,000 แห่ง ถ้าหักคลินิกในพื้นที่ กทม.ออก จะเหลือประมาณ 4,000 กว่าแห่ง ในจำนวนนี้ ทันตแพทยสภาตั้งเป้าว่าจะมีคลินิกทันตกรรมเอกชนเข้าร่วมประมาณ 25% หรือประมาณ 1,000 แห่ง 

ด้าน ผศ.ดร.กานดา ชัยภิญโญ ผู้แทนจากสภากายภาพบำบัด กล่าวว่า ระบบการให้บริการของคลินิกกายภาพบำบัดนั้น จะต้องมีการส่งตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลมารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่คลินิก ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะยังเกิดการให้บริการน้อยเพราะโรงพยาบาลอาจไม่รู้ว่าจะส่งต่อใคร และเมื่อคลินิกเข้าไปติดต่อก็อาจจะไม่ได้รู้จักกันหรือไม่ได้ไว้วางใจกัน อีกทั้งยังเป็นภาระของโรงพยาบาลในการทำข้อมูลการส่งต่อเพิ่มเติม แต่ปัจจุบัน สปสช. พยายามเป็นคนกลางในการสื่อสารกับโรงพยาบาลในเรื่องนี้ หรือบางจังหวัดทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดก็เชิญผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาทำความเข้าใจว่าระบบเบิกจ่ายเป็นอย่างไร โรงพยาบาลต้องทำอะไรบ้าง จะลดความแออัดและสร้างโอกาสแก่คนไข้ในการเข้าถึงบริการได้อย่างไร ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตน่าจะทำให้เกิดการการส่งต่อผู้ป่วยมากขึ้น

ผศ.ดร.กานดา กล่าวว่า นอกจากผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ที่สามารถใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการกายภาพบำบัดได้แล้ว ทางสภากายภาพบำบัดมองว่ายังมีสิ่งที่นักกายภาพช่วยให้บริการได้อีก เช่น กลุ่มที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เพราะบางคนเมื่อกลับบ้านแล้วเข่าบวม เจ็บ เดินไม่ไหว จำเป็นต้องมีนักกายภาพเข้าไปดูแล รวมทั้งกลุ่มที่มีอาการปวดทั้งหลาย เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ออฟฟิศซินโดรม นักกายภาพบำบัดสามารถดูแลในเรื่องการให้คำแนะนำในการสังเกตอาการตัวเองและวิธีการออกกำลังกายเพื่อหยุดยั้งอาการปวด ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญหาไปเรื่อย ๆ บางคนต้องรักษานานเป็นปี แม้คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้สูงอายุ แต่มีความจำเป็นต้องได้รับบริการ เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองได้และไม่กลายเป็นผู้ป่วยในอนาคต 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image