กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคระบาด พร้อมแนะ “อยู่อย่างไรให้ห่างไกลโรค” ปี 67

กรมควบคุมโรค ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคต่างๆ ที่อาจเกิดการระบาดขึ้น หรือโรคติดต่อสำคัญที่ประชาชนต้องเฝ้าระวัง รวมถึงโรคและภัยสุขภาพที่พบบ่อยในช่วงฤดูร้อน พร้อมแนะนำประชาชนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ให้ตรวจสอบข้อมูลโรคที่เกิดการระบาดในประเทศปลายทาง และหาทางป้องกันอย่างเหมาะสม ในหัวข้อ “อยู่อย่างไร ให้ห่างไกลโรค” ปี 67

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ และ นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวให้ข้อมูลด้านสุขภาพแก่ประชาชนในหัวข้อ “อยู่อย่างไร ให้ห่างไกลโรค” ปี 2567 ซึ่งกรมควบคุมโรคได้รวบรวมสถานการณ์โรคติดต่อสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง และโรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูร้อน รวมถึงภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้ 

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเปิดงานว่า กรมควบคุมโรคมีความตั้งใจในการให้ความรู้ประชาชน พร้อมเป็นแหล่งความรู้เรื่องโรคในทุกๆ โรคให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้ สามารถนำไปปฏิบัติรองรับกับสิ่งที่จะเข้ามาในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วย หรือแม้กระทั่งการเตรียมตัวก่อนไปเที่ยวในต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลตัวเอง ทางกรมตั้งใจอย่างมากว่าการสื่อสารในวันนี้จะทำให้พี่น้องประชาชนมีความรู้เพิ่มขึ้น จนสามารถนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นำไปสู่การป้องกันโรคได้ 

Advertisement

          แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์ถึงโรคที่อาจเกิดการระบาดในปี 2567 ได้แก่

1. โรคไข้หวัดใหญ่ จากรายงานพบว่ากลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี แต่มีข้อสังเกตว่าสามารถเป็นได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้วกว่า 92,883 ราย ซึ่งภาพรวมปี 2567 แนวโน้มผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2566 โดยจะพบผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือน มกราคม ถึง มีนาคม และช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนสิงหาคม ถึง พฤศจิกายน 

Advertisement

ทางกรมแนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีนประจำปี ปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ขวบ ผู้พิการทางสมอง ผู้สูงวัย อายุ 65 ปีขึ้นไป โรคธาลัสซีเมียและภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรที่จะเข้ารับวัคซีน สำหรับผู้ป่วยควรหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 3-7 วัน หรือจนกว่าจะหายและควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง 

  1. โควิด-19 ยังคงเป็นโรคที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว หากป่วยจะมีอาการรุนแรง ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยสะสมแล้วกว่า 6,238 ราย พยากรณ์โรคโควิด-19 ปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อใกล้เคียงกับปี 2566 เน้นว่าประชาชนควรรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และประชาชนทั่วไป หากมีอาการสงสัยหรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK และหากพบผลเป็นบวกและมีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์
  2. โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วย 20,590 ราย เสียชีวิตสะสม 27 ราย ณ ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงกว่าปีที่ผ่านมา ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 2 เท่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก อายุ 5-14 ปี โดยรอบนี้รับว่าเป็นการระบาดที่แตกต่างจากเมื่อหลายปีก่อน ที่เดิมทีไม่ค่อยพบไข้เลือดออกในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นไข้เลือดออกได้ ถึงแม้ว่ายังน้อยกว่าเด็กก็ตาม 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตคือ มีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ความดัน โรคไต ถ้าหากป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต อันดับต่อมาคือไปโรงพยาบาลช้า ไข้เลือดออกแม้เป็นโรคอันตรายถึงชีวิต แต่สามารถป้องกันได้ ผ่านการช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค (โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนย่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกา) อย่างต่อเนื่อง หากมีอาการสงสัยว่าป่วยไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มีผื่น มีจุดเลือดที่ลำตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

          นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังได้คาดการณ์สถานการณ์โรคติดต่อสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ 1. โรคหัด ในปีนี้ผู้ป่วยโรคหัดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี ซึ่งมีรายงานผู้ป่วยสงสัย 503 ราย ผลยืนยันโรคหัด 214 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก 1-4 ขวบ พื้นที่ที่มักพบผู้ป่วยโรคหัด จะเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการควบคุมวัคซีนในเด็กไม่ค่อยดีนัก โรคหัดเป็นโรคที่ฟุ้งกระจายในอากาศ ซึ่งเป็นโรคที่ต้องการให้มีการควบคุมของประชาชนที่ได้รับวัคซีนมากกว่าร้อยละ 90

แนวทางการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อสำหรับประชาชนทั่วไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด สำหรับเด็กเล็กควรได้รับวัคซีนป้อนกันโรคหัด 2 เข็ม ที่้อายุ 9 เดือน และ 1 ขวบครึ่ง พร้อมทั้งหมั่นรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีไข้ออกผื่น และหากมีอาการไข้ออกผื่นควรรีบพบแพทย์ทันที

  1. โรคไอกรน เป็นอีกหนึ่งโรคที่แพร่ทางระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยโรคไอกรนเสียชีวิตแล้ว 7 ราย ส่วนใหญ่พบในกลุ่มเด็กเล็ก จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากในหลายพื้นที่มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนต่ำ แนะนำพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนตามกำหนด สำหรับเด็กควรรับวัคซีน DTP อย่างน้อย 3 เข็ม และควรฉีดให้หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป  
  2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นโรคที่อาจรู้จักกันไม่ถึง 10 ปี เราพบว่าตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้ว 101 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 30-39 ปี แม้จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงจากต้นปี แต่ยังคงสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยปีที่แล้ว คาดว่าจะพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และมีรายงานพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน รวมทั้งมีโอกาสพบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้พบทารกเกิดภาวะศีรษะเล็กได้ หากมีอาการไข้ตาแดง ผื่น ให้รีบไปพบแพทย์ 
  3. วัณโรค ยังคงเป็นโรคติดต่อที่อันตราย โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยวัณโรค  รายใหม่ 111,000 ราย ขอแนะนำกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเลือด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และที่สำคัญผู้ป่วยวัณโรคต้องกินยาอย่างต่อเนื่องให้ครบทุกเม็ด ทุกมื้อ เพื่อป้องกันการดื้อยา

ด้าน นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค ได้เผยรายงานถึงสถานการณ์ข้อมูลการแพร่ระบาดโรคใหม่ว่า โรคฝีดาษวานร ในปี 2567 มีจำนวนคนไข้รวม 752 ราย พบมากในช่วงอายุ 30-39 ปี และเกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส HIV หรือกว่าร้อยละ 48.53 ร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น ในภาพรวมยังมีอัตราการป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องเน้นเรื่องการป้องกัน ถ้ามีอาการป่วย มีไข้หรือมีตุ่มเกิดขึ้นบริเวณอวัยเพศ หรือทวารหนัก ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่ามีอาการป่วยหรือไม่ หากมีอาการป่วยหนักต้องได้รับการรักษา ได้ยาต้านไวรัส เป็นต้น 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตามองและเฝ้าระวังคือ โรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ 

  1. โรคลมร้อน ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 139 ราย ซึ่งสัมพันธ์กับอุณหภูมิ โดยข้อมูลพบว่าผู้เสียชีวิตจากโรคลมร้อนสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น จะทำให้ระบบภายในร่างกายแปรปรวน มักพบอาการเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตสูง บางรายมีอาการทางระบบประสาท และอาจมีอาการชัก มักเจอในคนที่อยู่ในอากาศร้อน หรือตากแดดเป็นระยะเวลานาน แนะหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แดดจัดต่อเนื่องนานเกินไป ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี 
  2. ฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงนี้มีหลายพื้นที่ที่พบปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ขอให้ประชาชนปิดบ้านให้มิดชิด เมื่อออกจากบ้านให้ตรวจเช็กค่าฝุ่น PM2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน air4thai หากค่าฝุ่นเกิน 37.5 mg/m3 ให้สวมหน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น ใช้เวลาอยู่ภายนอกในระยะสั้นๆ และสำหรับผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคตาอักเสบ ไม่ควรออกจากบ้าน เพราะอาจเสี่ยงอาการรุนแรงขึ้น รวมถึงต้องระวังอย่างมากในเด็กเช่นกัน หากประชาชนมีอาการผิดปกติ ให้รับกลับเข้าสู่ที่พักที่ปลอดฝุ่น และรีบปรึกษาแพทย์ทันที
  3. โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ อากาศที่ร้อนเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด ส่งผลให้อาหารบูดเสียได้ง่าย เมื่อเรารับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ทำให้มีโอกาสป่วยเป็นโรค เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคไวรัสตับอักเสบ เอ และโรคไข้ไทฟอยด์ หรือโรคไข้รากสาดน้อยได้เป็นต้น สำหรับการป้องกัน ขอให้ประชาชนตระหนักถึงสุขอนามัย ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนปรุงประกอบอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ ขอให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารค้างคืนควรอุ่นร้อนก่อนรับประทาน ทั้งนี้ โรคไวรัสตับอักเสบ เอ สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน สามารถฉีดให้เด็กได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบขึ้นไป จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน  
  4. การจมน้ำ สถานการณ์การจมน้ำยังคงมีความเสี่ยงสูง ซึ่งในช่วงหน้าร้อนมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำสูงที่สุด จากข้อมูลพบว่าช่วงปิดเทอมฤดูร้อนในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมปี 2566 พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตจำนวน 202 คน ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำ ขาดความรู้เรื่องกฎความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด และวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำที่ถูกต้อง จึงขอให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เมื่อไปใกล้แหล่งน้ำให้สวมอุปกรณ์ เช่น เสื้อชูชีพ หรือมีอุปกรณ์ช่วยลอยน้ำอย่างง่ายให้เด็กไว้กับตัวตลอดเวลา

           ท้ายที่สุดกรมควบคุมโรคแนะนำประชาชนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ควรตรวจสอบข้อมูลโรคที่เกิดการระบาดในประเทศปลายทางว่า มีการระบาดของโรคอะไรอยู่บ้างในช่วงเวลานี้ เพื่อที่จะได้มีมาตรการป้องกันตนเอง ไม่รับเชื้อกลับมา เช่น โรคแอนแทรกซ์ พบผู้ป่วยในประเทศลาว โรคไข้หวัดนก พบผู้ป่วยในประเทศกัมพูชา จีน โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิด เอ พบในประเทศญี่ปุ่น และโรคหัด พบการระบาดในทวีปยุโรปหลายประเทศ เป็นต้น หากจะเดินทางไป ควรศึกษาวิธีป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม รวมถึงการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค จะยังคงมาตรการและดำเนินการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง และเตรียมการรับมือเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image