การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่แม่สามารถทำเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทารกตั้งแต่แรกเกิด การให้ลูกดื่มนมแม่ ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งโภชนาการที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย แต่ยังมีคุณประโยชน์มากมายที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กในระยะยาว นมแม่จึงเปรียบเสมือน “วัคซีนเข็มแรก” ที่ช่วยสร้างพื้นฐานของสุขภาพที่ดีให้กับลูกน้อยตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต
เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสังคม โดยเฉพาะในทารกช่วง 6 เดือนแรก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดงาน KICK OFF รวมพลังภาคีเครือข่ายปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุนสังคมนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก หลังคลอด โดยมี แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และภาคีเครือข่ายร่วมงาน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย พบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว คิดเป็นร้อยละ 29 เท่านั้น กรมอนามัยมุ่งหวังที่จะเห็นตัวเลขของการที่ลูกได้ดื่มนมแม่อย่างเดียวโดยที่ไม่มีน้ำผสม ในอัตราที่สูงขึ้น เนื่องจากการที่เด็กได้ดื่มนมแม่อย่างเดียวจนอายุครบ 6 เดือน จะทำให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงและมีภูมิต้านทาน อีกทั้งนมแม่ยังมีสารต่างๆ ที่สามารถทดแทนอาหารใดๆ ได้
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับประเทศไทย ที่มีระบบสาธารณสุขเข้มแข็งมาก แต่อาจมีความติดขัดในเรื่องของการสื่อสาร หรือประชาชนส่วนภูมิภาคอาจยังมีความเข้าใจผิด คิดว่าแค่ดื่มนมแม่เท่านั้นเพียงพอ แต่จะตามด้วยน้ำหรือไม่ ไม่สำคัญ ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้ไม่ถูกต้อง กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลมารดาและเด็ก ต้องให้ความสำคัญและช่วยกันรณรงค์ จึงเป็นที่มาของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อสานพลังภาคีเครือข่าย ทำให้การดื่มนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตในประเทศไทย สามารถเทียบเคียงกับนานาประเทศ และทำให้เด็กไทยแข็งแรงเพิ่มขึ้นได้
พร้อมกันนี้ กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนนโยบาย ‘มหัศจรรย์ 2,500 วัน’ มุ่งเน้นการดูแลตั้งแต่หญิงก่อนตั้งครรภ์ จนถึงลูกอายุครบ 6 ขวบ โดยในช่วงที่เด็กเพิ่งคลอด นโยบายนี้จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความใกล้ชิดระหว่างแม่และลูกผ่านระบบโรงพยาบาลสายใยรัก และยังจัดเตรียมมุมนมแม่ในโรงพยาบาล พร้อมขยายไปยังสถานประกอบการต่างๆ เช่น โรงงาน หรือหน่วยงานราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แม่สามารถให้นมลูกหรือเก็บนมแช่ในตู้เย็น และนำไปให้ลูกได้ แม้ว่าแม่จะต้องทำงานก็ตาม ทำให้ลูกได้รับประโยชน์จากนมแม่อย่างต่อเนื่อง
“ปัจจุบันเด็กไทยเกิดน้อย เราจึงอยากเห็นเด็กไทยที่มีคุณภาพและมีความแข็งแรง เพื่อที่จะได้ดูแลประเทศต่อจากรุ่นของพวกเรา เพราะฉะนั้นจุดตั้งต้นของสิ่งนี้คือ คุณแม่ คุณแม่ทุกคนคือพลังของประเทศ หากคุณแม่กระตุ้นให้ลูกดื่มนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เท่ากับเรากำลังช่วยสร้างประเทศไทยให้แข็งแรงขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
สำหรับประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า นมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่อาหารประเภทอื่นๆ ไม่สามารถเทียบเท่าได้ นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังส่งเสริมสายใยรักระหว่างแม่กับลูก ลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น โรคปอดบวม และอุจจาระร่วง ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณของชาติในการรักษาได้มากกว่า 200 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังช่วยพัฒนาการทางสมองและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะน้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่สามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้
“นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข จะเน้นตั้งแต่นโยบาย 1-6-2 โดย 1 หมายถึง ภายใน 1 ชั่วโมงแรก จะต้องให้ลูกเข้าเต้านมแม่ให้เร็วที่สุด เพราะการกระตุ้นตั้งแต่ช่วงแรกจะทำให้น้ำนมมาเร็วขึ้น ส่วน 6 หมายถึง การให้ลูกดื่มนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และ 2 หมายถึง การทานอาหารตามวัยควบคู่ไปกับนมแม่ จนถึงอายุ 2 ขวบ เพื่อให้ลูกมีการเจริญเติบโตสมวัย และมีพัฒนาการที่ดี” รองอธิบดีกรมอนามัย อธิบาย
ด้าน แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เผยว่า มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมมือกับ กรมอนามัย และภาคีเครือข่าย ได้รณรงค์ให้เด็กไทยได้กินนมแม่มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก เพิ่มจากร้อยละ 5.4 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 12.3 ในปี 2555, ร้อยละ 23.1 ในปี 2559, ร้อยละ 14 ในปี 2562 และร้อยละ 28.6 ในปี 2565 ตามลำดับ ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ร้อยละ 44 และประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย ลาว และมาเลเซีย รวมถึงยังห่างจากเป้าหมายองค์การอนามัยโลก ร้อยละ 50 ภายในปี 2568
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงร่วมกับ กรมอนามัย เชิญภาคีเครือข่ายมาร่วมเสวนาเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วงเดือนมิถุนายน 2566 โดยมีเป้าหมายเร่งด่วนคือ “เพิ่มอัตรานมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก” ตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลก รวมทั้งให้เด็กไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากนมแม่ โดยเฉพาะ ป่วยตายน้อยลง ฉลาดทางอารมณ์ และสติปัญญา เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ แข่งขันกับนานาชาติได้ ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งนับเป็นการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่ามากที่สุด โดยเน้นการเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวล้วนๆ ไม่เสริมอาหารอื่นแม้แต่น้ำ เนื่องด้วยเด็กไทยช่วงอายุ 6 เดือนแรก มากกว่าร้อยละ 40 ได้กินนมแม่แต่เสริมน้ำ จึงทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของเด็ก
“เดือนกันยายน 2566 เกิดพิธีลงนาม MOU 14 หน่วยงาน โดยมีพันธสัญญาว่าจะเป็น Active MOU โดยแต่ละหน่วยงานขับเคลื่อนในภารกิจประจำของตนเอง และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาแนวทางร่วมมือกันเพื่อขยายวงกว้าง ดังเช่นกิจกรรมในวันนี้ และคาดว่าจะมีครั้งต่อไป ภายในสิ้นปีนี้และกลางปีหน้า เพื่อเป้าหมายเร่งด่วนคือ เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก เป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2568 และเราจะยังคงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปด้วยกันต่อไป เพื่อเป้าหมายระยะยาวคือ ให้การเลี้ยงด้วยนมแม่เป็นวิถีแห่งแม่ เป็นค่านิยมของสังคมและวัฒนะ-ธรรมชาติอย่างยั่งยืน” ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ทิ้งท้าย