วันที่ 6 มีนาคม 2568 – กรุงเทพฯ ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ได้แถลงถึงความพร้อมในการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคาร Satellite 1 (SAT-1) และทางวิ่งที่ 3 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในวันที่ 20 มีนาคม 2568 โดยจะมีพิธีสงฆ์ตามด้วยการเปิดผ้าแพรคลุมป้ายอาคาร SAT-1 และทางวิ่งที่ 3 อย่างเป็นทางการโดย AOT ได้เตรียมความพร้อมร่วมกับกระทรวงคมนาคมและภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้การจัดงานนี้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ
ศักยภาพของอาคาร SAT-1 และทางวิ่งเส้นที่ 3
อาคาร SAT-1 เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันเปิดให้บริการเต็มทั้ง 28 gate โดยมีเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ใช้บริการอาคารนี้ประมาณ 150 เที่ยวบินต่อวัน คิดเป็นประมาณ 30% ของเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมดของสนามบินสุวรรณภูมิที่มีประมาณ 600 เที่ยวบินต่อวัน การก่อสร้างอาคาร SAT-1 ได้ช่วยแก้ปัญหาความแออัดที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งที่อาคารหลักต้องรองรับผู้โดยสารมากถึง 52 ล้านคนต่อปี โดยมีเพียง 51 gate ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้ต้องใช้หลุมจอดระยะไกลและใช้รถบัสรับส่งผู้โดยสารเข้าอาคาร
“ผู้โดยสารที่ใช้บริการอาคาร SAT-1 มีความพึงพอใจในระดับสูงมาก เราได้คะแนนความพึงพอใจอยู่ที่ 4.8 จากคะแนนเต็ม 5 ประชาชนชื่นชมระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ที่ใช้เวลาเพียง 3 นาที ในการเดินทางระยะ 1 กิโลเมตร จากอาคาร SAT-1 ไปยังอาคารผู้โดยสารหลัก” ดร.กีรติ กล่าว
อาคาร SAT-1 ออกแบบมาให้สะดวกต่อการเดินทางของผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้โดยสารที่ต้องการเปลี่ยนเที่ยวบิน (transit) เช่น ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากออสเตรเลียสามารถเปลี่ยนเที่ยวบินไปยุโรปได้ โดยไม่ต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง
ดร.กีรติกล่าวเพิ่มเติมถึงศักยภาพของอาคาร SAT-1 ว่า “อาคาร SAT-1 จะช่วยให้สุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารที่สำคัญของภูมิภาค เมื่อเปิดใช้งานอาคารและทางวิ่งเส้นที่ 3 อย่างเต็มรูปแบบแล้ว สุวรรณภูมิจะมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 65 ล้านคนต่อปีอย่างสบาย โดยปีที่ผ่านมารองรับไปแล้ว 60 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2568 นี้ จะรองรับผู้โดยสารประมาณ 64 ล้านคน”
นอกเหนือจากอาคาร SAT-1 ที่สร้างแล้วเสร็จ ในช่วงเวลาเดียวกันทางวิ่งเส้นที่ 3 ได้เปิดใช้งานเต็มรูปแบบมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 โดยมีความยาว 4 กิโลเมตร ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินจาก 64 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 96 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
ดร.กีรติเผยว่า ทางวิ่งเส้นที่ 3 ช่วยแก้ปัญหาการบินวนรอขึ้น-ลงที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีต ทำให้การจราจรทางอากาศมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัญหาที่เคยมีเรื่องการบินวนรอหลุมจอดหายไป ทอท. ได้ทำงานร่วมกับวิทยุการบินเพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานให้มากขึ้น
รายละเอียดอาคาร SAT-1
อาคาร SAT-1 มีความโออ่าทันสมัย สวยงามแบบไทย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 216,000 ตารางเมตร มีความสูง 4 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วย:
- ชั้น B2: สถานีขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM Station)
- ชั้น B1: พื้นที่ห้องงานระบบ
- ชั้น G: ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระและพื้นที่สำนักงาน
- ชั้น 2: พื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาเข้าและผู้โดยสารเชื่อมต่อเที่ยวบิน
- ชั้น 3: พื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก พื้นที่พักคอยแบบ Open Gate และพื้นที่ร้านค้า
- ชั้น 4: พื้นที่สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่ม
อาคารได้รับการออกแบบให้สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทย มีการตกแต่งด้วยองค์ช้างคชสารบริเวณโถงกลางชั้น 3 และมีการติดตั้งสุวรรณบุษบกและรัตนบุษบกที่ปลายอาคารทั้ง 2 ด้าน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา ปางมารวิชัยและปางเปิดโลก นอกจากนี้ ภายในชั้น 3 ยังตกแต่งด้วยสัตว์หิมพานต์ตามคติความเชื่อไทย ส่วนชั้น 2 ออกแบบเป็นสวนสัญจร จัดแสดงงานศิลปวัฒนธรรมไทย เช่น หุ่นละครเล็ก หนังใหญ่ หัวโขน และว่าวไทย
การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ยังประกอบด้วยอาคารสำนักงานสายการบิน อาคารจอดรถด้านทิศตะวันออก ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และส่วนขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก (East Expansion)
“AOT พร้อมให้บริการเพื่อสร้างความประทับใจในการเดินทาง ซึ่งเป็นธีมหลักในการให้บริการของเรา เรามั่นใจว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาท่าอากาศยานให้เป็นประตูสู่ประเทศไทย ต้อนรับและสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนจากทั่วโลก รวมทั้งรองรับการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบิน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ดร.กีรติ ทิ้งท้าย