สงครามตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรายังคงดุเดือดจากการแข่งขันประชันราคาของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ และมาตรการของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย 30@30 เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ประกอบกับราคาค่าชาร์จไฟที่น้อยกว่าราคาน้ำมันหลายเท่าตัว ทำให้ในปี 2567 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 76% หรือ 67,259 คัน ทำให้ ณ วันนี้ มียอดจดทะเบียนรวมแล้ว 156,129 คัน
เมื่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน กำลังมาแรงสำหรับนักลงทุนทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หนึ่งในหน่วยงานที่เร่งพัฒนาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “EleX by EGAT” พัฒนาแอปพลิเคชัน “EleXA” เพื่อสนับสนุนสร้างระบบนิเวศด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ รวมถึงพัฒนาระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “BackEN EV” แบบครบวงจรที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมและดูแลสถานีชาร์จได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจสถานีชาร์จฯ มากขึ้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 กฟผ. จึงจัดงาน “EGAT EV : Charge Up Your Business” เพื่อนำเสนอข้อมูลทางธุรกิจ แนวคิด เทคโนโลยี และโอกาสความร่วมมือที่จะสามารถต่อยอดได้ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนธุรกิจสถานีชาร์จฯ
พิชิต พงษ์ประเสริฐ หัวหน้ากองธุรกิจโซลูชั่นยานยนต์ไฟฟ้า กฟผ. เล่าถึงการเติบโตของสถานีชาร์จ EleX by EGAT ว่า จากจุดเริ่มต้นของสถานีชาร์จ EleX by EGAT ที่ตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน PT เพียง 5 สถานี ปัจจุบันเพิ่มเป็น 200 สถานี และ กฟผ. มีสถานีชาร์จ EleX by EGAT ที่ลงทุนเองอีก 100 สถานี รวมทั้งสิ้น 300 สถานี นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบ BackEN EV ให้กับกลุ่มธุรกิจประเภทโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย คอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งเป็นสถานีเครือข่ายพันธมิตร EleXA อีก 110 ราย ทำให้สามารถให้บริการลูกค้าครอบคลุมทั่วประเทศ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
สำหรับระบบ BackEN EV เป็นระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จฯ แบบครบวงจร ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนสถานีชาร์จฯ เชิงพาณิชย์ เจ้าของสถานีก็สามารถควบคุมและตรวจสอบการทำงานแบบเรียลไทม์ สามารถค้นหาสถานีและใช้ผ่านแอปพลิเคชัน EleXA รองรับเครื่องอัดประจุไฟฟ้าได้หลากหลายยี่ห้อและใช้งานพร้อมกันได้จำนวนมาก โดยปีนี้ตั้งเป้ารุกขยายตลาดไปยังกลุ่มบริษัท องค์กร ผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีชาร์จฯ ธุรกิจติดตั้งโซลาร์เซลล์ และบริษัทที่ติดตั้งระบบไฟฟ้า
ส่วนในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยี พิชิตบอกว่า จากเครื่องอัดประจุไฟฟ้าขนาด 120 กิโลวัตต์ ในช่วงแรก วันนี้มีถึง 600-700 กิโลวัตต์ ขณะที่ราคาเครื่องอัดประจุไฟฟ้าลดลงมาก เป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ประกอบการลงทุนทำสถานีชาร์จฯ ได้ง่ายขึ้น มีโอกาสคืนทุนเร็วขึ้น ก็ตามมาด้วยผลกำไรที่มากขึ้น
นอกจากนี้ กฟผ. ยังเตรียมเปิดตัวโครงการ EGAT Academy เพิ่มขีดความสามารถบุคลากรในธุรกิจสถานีชาร์จฯ โดยร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อออกใบรับรองมาตรฐานอาชีพสาขาวิชาชีพบริการยานยนต์ สาขายานยนต์ไฟฟ้า อาชีพช่างเทคนิคติดตั้งและซ่อมบำรุงสถานีชาร์จฯ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงเชื่อถือได้ให้กับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศอีกด้วย
ด้านถาวร ชูสิงห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิกซ์ พลัส วัน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการนำเข้าเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบรนด์ Delta และผู้ใช้บริการระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จฯ BackEN EV ของ กฟผ. ให้ความเห็นว่า จากการทำธุรกิจอีวีมากว่า 2 ปี พบว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณงานติดตั้งมากขึ้น โดยคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอย่างน้อย 2 เท่า เนื่องจากคนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากหลากหลายแบรนด์ที่เป็นตัวเลือกมากขึ้น
ถาวรเริ่มเข้าสู่ธุรกิจสถานีชาร์จฯ เพื่อเป็นบริการเสริมสำหรับลูกค้าโรงแรมย่านปากเกร็ดและร้านกาแฟที่มีลูกค้าจำนวนมากในแต่ละวัน โดยเข้ามาเป็นหนึ่งในเครือข่าย EleXA จากการใช้บริการระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จฯ BackEN EV สำหรับสถานีชาร์จฯ ไซส์ S ซึ่งเหมาะกับธุรกิจโรงแรม คาเฟ่ ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า
“จากประสบการณ์กว่า 2 ปี พบว่า ทั้งระบบ BackEN EV และแอปพลิเคชัน EleXA ไม่เคยขัดข้องจนทำให้เกิดความเสียหาย ถือว่าเสถียรมาก ๆ เพราะหากดูจากโซเชียลมีเดียจะเห็นข่าวว่า มีหลายรายที่ระบบหรือการใช้งานแอปพลิเคชันขัดข้อง คิดว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่ กฟผ. เลือกเครื่องอัดประจุไฟฟ้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทำให้มั่นใจที่จะลงทุนต่อ”
สำหรับผู้สนใจธุรกิจในการประกอบธุรกิจสถานีชาร์จฯ ในด้านต่าง ๆ สามารถติดต่อรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ EGAT EV Business Solutions กฟผ. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook Page: EGAT EV เว็บไซต์ egatev.egat.co.th และ Line OA: @BackenEV