บทเรียน จากอดีต จอมพล ป.ถึง สุจินดา เทียบ ‘ประยุทธ์’

ทันทีที่เข้าสู่โหมด “เลือกตั้ง” สถานะทางการเมืองของ คสช.และของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อยู่ในสภาพซึ่งเรียกได้ว่า

เป็นการรุกในลักษณะตั้งรับ

เหมือนๆ กับที่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ตัดสินใจจัดตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาและเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2500

เหมือนๆ กับที่ จอมพลถนอม กิตติขจร จัดตั้งพรรคสหประชาไทยและเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512

Advertisement

เหมือนๆ กับที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 และนำประเทศเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2522

เหมือนๆ กับที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และคณะ รสช.ประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 และนำประเทศเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535

หลังจากนั้นก็เข้าไปอยู่ในสภาพ “ตั้งรับ” อย่างเป็นด้านหลัก

Advertisement

ขอให้ศึกษาบทเรียนจาก จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เพราะภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2500 ก็ประสบกับการเดินขบวนของนิสิตนักศึกษา

เกิดความขัดแย้ง “ภายใน”

เหมือนกับจะเป็นระหว่างกลุ่ม พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ กับกลุ่ม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่แท้จริงแล้วเป้าคือ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม

ในที่สุดก็เกิดรัฐประหารเดือนกันยายน 2500

หลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2512 จอมพลถนอม กิตติขจร อาจยังอยู่ในอำนาจและยังสามารถทำรัฐประหารได้ในเดือนพฤศจิกายน 2514

แต่พอถึงเดือนตุลาคม 2516 ก็ต้องไป

หลังการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สามารถอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2523 ก็ต้องไป

เช่นเดียวกับสถานะ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในเดือนพฤษภาคม 2535

สภาพการตั้งรับของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่มีใครสามารถดำรงอำนาจอยู่ได้อย่างยืนยาว

จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จากเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2500

จอมพลถนอม กิตติขจร จากเดือนกุมภาพันธ์ 2512 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2514 และต่อท่ออำนาจด้วยกระบวนการรัฐประหาร

แต่เมื่อถึงเดือนตุลาคม 2516 ก็อยู่ไม่ได้

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จากเดือนเมษายน 2522 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2523 พล.อ.สุจินดา คราประยูร จากเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม 2535

สถานการณ์จาก “อดีต” เสมอเป็นเพียง “บทเรียน”

ในความเป็นจริง ภายหลังการเลือกตั้งไม่ว่าภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ไม่ว่าภายในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 จะเป็นอย่างไรยังไม่มีใครตอบได้

“ประวัติศาสตร์” ก็เสมอเป็นเพียง “เครื่องย้ำเตือน”

หากนำเอาบทเรียนจากยุค จอมพลแปลก พิบูลสงคราม และยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร มาเทียบกับยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เด่นชัดว่า “โหมด” แห่งการเลือกตั้งเริ่มขึ้นแล้ว

สภาพของ คสช. สภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างไร ยังเป็นฝ่ายรุกและดำเนินการรุกอย่างสม่ำเสมอ หรือว่าจากรุกก็เริ่มมีการตั้งรับ

เหล่านี้ “นักการทหาร” ย่อมมองออก อ่านทะลุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image