วิเคราะห์หน้า3 : บิ๊กตู่ สนใจการเมือง นัยยะจาก คสช. ไม่เสียของ

เดือนกันยายนที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สะท้อนภาพคมชัดว่าจะเลือกตั้ง

ทั้งการประกาศใช้ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.

ทั้งการออกคำสั่ง ม.44 คลายล็อกให้พรรคการเมืองสามารถประชุมและเลือกหัวหน้าพรรค ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดได้

ทั้งความเคลื่อนไหวของ กกต.ที่กำหนดโรดแมปการเลือกตั้ง ส.ส.ออกมาอย่างแจ่มชัด

Advertisement

และล่าสุดได้กำหนดโรดแมปการคัด ส.ว.ออกมาแล้ว

แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่คมชัดเท่ากับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ที่ส่งสัญญาณอย่างแจ่มชัด

“ผมสนใจการเมือง”

Advertisement

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ส่งสัญญาณออกมาถึงขนาดนี้แล้ว บรรดากลไกต่างๆ ที่ต้องการสานต่อนโยบาย คสช.ก็ค่อนข้างมั่นใจ

ที่ทำเนียบรัฐบาลได้ปรากฏเหตุการณ์ 4 รัฐมนตรีเดินทางเข้าพบ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ

ทั้ง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

อย่าลืมว่า ก่อนหน้านี้ชื่อของนายอุตตม และนายสนธิรัตน์เข้าไปข้องเกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐที่มี นายชวน ชูจันทร์ เป็นหัวหน้าอยู่ในปัจจุบัน และมีกำหนดการประชุมพรรคในวันที่ 29 กันยายน

มีนโยบายสานต่อการทำงานของ คสช.ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีพอดี

ในการหารือของรัฐมนตรีกับนายสมคิด แม้นายอุตตม นายสนธิรัตน์ นายสุวิทย์ จะยังสงวนท่าที

แต่สำหรับนายกอบศักดิ์แล้ว มีความชัดเจนว่าจะไปเป็นโฆษกพรรคพลังประชารัฐ

ถ้าระดับนายกอบศักดิ์นั่งเป็นโฆษก

ข่าวที่ว่านายอุตตมจะเป็นหัวหน้า และนายสนธิรัตน์จะเป็นเลขาฯ ก็คงไม่ไกลความจริง

ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อไหร่เท่านั้น

เมื่อฟากฝั่ง คสช.ชัดเจนขึ้นว่าจะเลือกตั้ง เมื่อกฎระเบียบเปิดช่องให้เคลื่อนไหว บรรดาพรรคการเมืองก็ได้ขยับ

สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายนมีกำหนดการประชุมของพรรคการเมืองต่างๆ กันอย่างคึกคัก

ขณะเดียวกัน กกต.ได้เปิดโรดแมปการคัด ส.ว.จำนวน 200 คน หลังจาก พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.ประกาศใช้

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.กล่าวว่า การได้มาซึ่ง ส.ว.จะเป็นการดำเนินการตามบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269

กกต.จะต้องเลือก ส.ว. 200 คน ให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 15 วัน

จากนั้นจะส่งรายชื่อให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน ส่วน ส.ว.ที่เหลือ 194 คน จะมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ที่ คสช.แต่งตั้งขึ้น

อีก 6 คน เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

สำหรับการคัดชื่อ ส.ว.เพื่อส่งให้ คสช.คัดให้เหลือ 50 คนนั้น

คาดว่า กกต.จะสามารถส่งชื่อให้ คสช.พิจารณาได้ภายในวันที่ 22 มกราคม 2562

ส.ว.นี้ มีความสำคัญ เพราะ 250 ส.ว.จะเป็นกำลังหลักในการโหวตเลือกนายกฯคนต่อไป

เมื่อแลดูความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ มองเห็นความเคลื่อนไหวของ กลไก คสช.ที่ขับเคลื่อนเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

ทำให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามกำหนด

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะ คสช.มีความมั่นใจในเสียงที่จะได้รับจากการเลือกตั้ง

และอาจจะมั่นใจในข้อบัญญัติใหม่ที่กรุยทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ เดินขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯอีกครั้ง

จึงทำให้ทุกอย่างเดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเอาจริงเอาจัง

หรือบางที อาจจะเป็นเพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.ได้เลื่อนการเลือกตั้งมาจนถึงที่สุดแล้ว

และเมื่อประเมินว่า หากเลื่อนอีกรอบ ผลที่ตามมาคงไม่คุ้ม

ดังนั้น จึงใช้กฎเกณฑ์ และกลไกที่มีอยู่เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

ด้วยความมั่นใจว่าจะได้เป็นนายกฯ

ในการประชุมพรรคเพื่อไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายเสนาะ เทียนทอง ได้แสดงความคิดเห็นถึงรัฐบาลหน้าเอาไว้อย่างน่าคิด

นายเสนาะกล่าวก่อนการประชุมว่า ถึงอย่างไรพรรคเพื่อไทยก็เป็นที่ 1

ภาคเหนือก็มั่นคง ภาคอีสานไม่ต้องห่วง ภาคกลางก็ไม่แพ้ใคร ภาคใต้กำลังแก้ปัญหา

คนที่ถูกบีบ อย่าไปหวั่นไหว เลือกตั้งเสร็จ พวกนี้ก็หมดอำนาจ อย่าไปหวั่นไหวว่าเขาจะตั้งรัฐบาลได้ เรื่องที่เขาเอามาบีบเรา ถ้าเราผิดจริง เผาไฟไม่ได้เขาก็ขุดขึ้นมาได้ เขาช่วยเราไม่ได้หรอก แค่เอามาบีบตอนนี้เท่านั้น แต่ถ้าใครแยกออกไปจะมองหน้ากันไม่ติด

ส่วน ส.ว. 250 คน ไม่ได้ทำให้เขาเป็นนายกฯได้ หรือต่อให้เป็น นายกฯได้ ก็บริหารประเทศไม่ได้

ท้ายที่สุดก็มีอันเป็นไป

ในมุมมองของนายเสนาะ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยยังมี ส.ส.อยู่ในสภามากเป็นอันดับหนึ่ง

การมี ส.ส.ในสภามากเช่นนี้ หากไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็สามารถบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้

ความเห็นของนายเสนาะจึงไม่ควรมองข้าม

เพียงแต่สำหรับ คสช.แล้ว ยึดยุทธวิธี “รุกทีละคืบ” เพื่อเป้าหมายเดียวคือ “ไม่เสียของ”

หรือไม่ยอมให้อำนาจกลับคืนไปสู่ ทักษิณ ชินวัตร ได้อีก

ปี 2549 ทำรัฐประหารยึดอำนาจ ปี 2550 จัดเลือกตั้ง แต่อำนาจกลับไปที่พรรคพลังประชาชน

ปี 2551 เกิดความเคลื่อนไหวและมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกฯ

พอปี 2554 มีการเลือกตั้งอีกรอบ คราวนี้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ

กระทั่งปี 2557 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยถูกกดดันจนต้องประกาศยุบสภา

แต่เหตุการณ์ก็บานปลาย จน พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจ

หลังจากนั้น คสช.ได้ประกาศเป้าหมาย “ไม่เสียของ”

จวบจนบัดนี้ คสช.ยังคงยึดเป้าหมาย “ไม่เสียของ” มาอย่างต่อเนื่อง

ยึดอำนาจแล้วตั้งรัฐบาล ตั้งรัฐบาลแล้วเลื่อนเลือกตั้ง กระทั่งเลื่อนมาจนสุดขอบแล้ว

กำลังเข้าสู่การสืบต่ออำนาจด้วยกฎกติกาที่สร้างขึ้นใหม่

แม้การปกครองกำลังจะเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย แต่เป้าหมายของ คสช.ยังคงเหมือนเดิม

ไม่เสียของ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image