มาดใหม่ ปชป. คิดในเชิง ยุทธศาสตร์ 5 มิ.ย. มีคำตอบ

ไม่ว่าจะประเมินบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในการเจรจาและต่อรองจะเข้าร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐอย่างไร

เป็นการเล่น “เกม” เป็นการสำแดงความ “เขี้ยว”

แต่หากศึกษาแต่ละกระบวนท่าของพรรคประชาธิปัตย์อย่างต่อเนื่องก็จะทำให้มองเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้มิได้เป็น “ยุทธวิธี” เพื่อเอาชนะเฉพาะหน้า

ตรงกันข้าม มีลักษณะรองรับเป้าหมายในทาง “ยุทธศาสตร์”

Advertisement

จะมองเห็นความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ได้ชัดมากยิ่งขึ้นต้องมองอย่างเปรียบเทียบกับอีกหลายพรรคการเมืองที่ทางพรรคพลังประชารัฐส่งเทียบเชิญ

ไม่ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าพรรคพลังท้องถิ่นไท

จุดต่างในที่นี้มิได้หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์มีจำนวน 53 ส.ส.ประการเดียว ตรงกันข้าม ยังอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำให้จำนวน 53 ส.ส.มีบทบาทและมีความหมาย

Advertisement

หากไม่มีลักษณะในทาง “ยุทธศาสตร์” จะไม่เกิดผลเช่นนี้อย่างแน่นอน

เมื่อมองไปยังรายละเอียดการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรหลายคนอาจยอมรับในความเก๋าเกมของพรรคประชาธิปัตย์

ถามว่านั่นเป็นเรื่องในทาง “ยุทธวิธี” เท่านั้นหรือ

ถ้ามองเพียงว่าการเสนอ นายชวน หลีกภัย ออกมาก็เพื่อสำแดงความเหนือกว่าเชิงเปรียบเทียบกับ  นายสุชาติ  ตันเจริญ อาจเห็นเพียงลำหักลำโค่น

เพราะในที่สุดพรรคพลังประชารัฐก็จำต้องถอย

จำเป็นต้องมองด้วยว่าเหตุปัจจัยอะไรพรรคประชาธิปัตย์จึงต้องชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมาอยู่ในมือ

เพราะนี่คือตำแหน่ง “ประธานรัฐสภา”

พลันที่ นายชวน หลีกภัย เข้าไปอยู่ในสถานะแห่งประธานรัฐสภาอันเป็นประมุขอำนาจนิติบัญญัติตำแหน่งนี้ก็ดำรงอยู่ในเชิง “ยุทธศาสตร์” โดยอัตโนมัติ

ตรงนี้จึงสัมพันธ์กับการดำเนิน “ยุทธวิธี” ในการต่อรองบทบาทใน “รัฐบาล”

ที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ระบุท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ไม่ใช่ “เขา” โยนอะไรมาก็ “งับ” หมดนั้น เป็นการสรุปอย่างแยกจำแนกและมีการเปรียบเทียบ

โดยพื้นฐานคือ เปรียบเทียบกับพรรคการเมืองอื่น

ยุทธวิธีของพรรคประชาธิปัตย์จึงมิได้อยู่ที่การต่อรองโดยพุ่งไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมถึงกระทรวงพาณิชย์

หากยังเป็นการต่อรองอย่างมี “แนวร่วม”

ภาพการโอบกอดระหว่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์จึงเกิดขึ้น

โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ยืนยันว่า เป็น “การทำงาน”

จากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็เปิดเงื่อนไขสำคัญเงื่อนไขหนึ่งในการจะร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐก็คือ จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม “รัฐธรรมนูญ”

ตรงนี้แหละคือ “หมาก” สำคัญ ตรงนี้แหละคือลักษณะในทาง “ยุทธศาสตร์”

ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าการเสนอความต้องการไปยังกระทรวงเกรด A ไม่ว่าการเสนอเรื่องความต้องการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยพรรคประชาธิปัตย์

มีหลายฝ่ายไม่เชื่อ และคิดว่าเสมอเป็นเพียงม่านควัน มิได้เป็นของจริง

พรรคประชาธิปัตย์อาจมี “ภาพลักษณ์” ในแบบ “ดีแต่พูด” แต่ก็ต้องยอมรับว่า การเคลื่อนไหวครั้งหลังนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในทางการเมือง มีโอกาสเป็นทั้งบวกและลบ

รออีกไม่เกินวันที่ 5 มิถุนายน ก็จะรู้คำตอบว่าแท้จริงพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image