แนวโน้ม โต้กลับ รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา บนวิถี ‘รัฐสภา’

คอลัมน์หน้า 3 : แนวโน้ม โต้กลับ รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา บนวิถี ‘รัฐสภา’

สภาพที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันเนื่องแต่พรรคพลังประชารัฐนับแต่ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเป็นต้นมา

ละม้ายเหมือนกับ 2 เหตุการณ์ใน “อดีต”

1 คือเหตุการณ์ในรัฐบาล พล.อ.ถนอม กิตติขจร ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2500 อันเป็นผลจากรัฐประหารเดือนกันยายน

เป็นความขัดแย้งภายใน “พรรคชาติสังคม” อันเป็นพรรค “รัฐบาล”

Advertisement

1 คือเหตุการณ์ในรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2512

เป็นความขัดแย้งภายใน “พรรคสหประชาไทย” อันเป็นพรรค “รัฐบาล”

ทางเลือกของผู้กุมอำนาจทางการเมืองต่อเหตุการณ์ในรัฐบาล พล.อ.ถนอม กิตติขจร และต่อเหตุการณ์ในรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร

Advertisement

คือ ทางเลือกผ่าน “รัฐประหาร”

ความน่าสนใจของรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 กับการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 อันเป็นทางออกในอดีตนั้น

สะท้อน “สภาพ” และ “ลักษณะ” ในทางการเมือง

เนื่องจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพลถนอม กิตติขจร ล้วนเป็นผลผลิตมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490

ล้วนผ่านรัฐประหาร “ตนเอง” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2494

จึงเมื่อเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองเนื่องแต่พรรคชาติสังคม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงตัดสินใจยึดอำนาจโดยความเห็นชอบของ พล.อ.ถนอม กิตติขจร

มาถึงรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2514 ยิ่งพิสดาร

เมื่อเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองเนื่องแต่พรรคสหประชาไทย จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงยึดอำนาจจาก จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “โจทย์” ทางการเมืองให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยมีส่วนร่วมในรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และลงมือด้วยตนเองในรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

จึงเกิด “ข่าวลือ” ว่าอาจทำรัฐประหาร “ซ้ำ”

กระนั้น หากคำนึงถึงโครงสร้างแห่ง “อำนาจ” จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเลือกหนทางใด

1 ยุบสภา 1 ลาออก

อำนาจก็ยังเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะอยู่นั่นเอง เพราะว่า 250 ส.ว.ซึ่งตั้งมากับมือก็ยังจะเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ข่าวลือ “รัฐประหาร” จึงแทบจะไม่มี “ความหมาย” 

คำถามเพียงแต่ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังถูลู่ถูกังอยู่ในอำนาจต่อไป ความยับเยินก็จะถมทับเข้าสู่ประชาชน

กลายเป็น “รัฐล้มเหลว” ยิ่งกว่า “เป็ดง่อย”

ความพยายามของบางกลุ่ม “ภายใน” พรรคพลังประชารัฐที่จะดัดหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้รับการมองอย่างฝากความหวัง

แม้จะล้มเหลวมาแล้วจากกรณี “4 กันยายน”

แต่ก็ยังมีอีกหลายสถานการณ์ที่จะต้องผ่านการทดสอบ ประลองกำลังไม่ว่าจะในเรื่องการปรับ ครม. ไม่ว่าจะในเรื่องของ “พระราชกำหนด”

กลุ่มกบฏยังมีช่องทาง “รัฐสภา” ในการที่จะเล่นงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image