การเมือง หักเห ขั้วป้อม-ตู่ แจ่มชัด แนวปะทะ เดือด

หน้า 3 วิเคราะห์ : การเมือง หักเห ขั้วป้อม-ตู่ แจ่มชัด แนวปะทะ เดือด

หน้า 3 วิเคราะห์ : การเมือง หักเห ขั้วป้อม-ตู่ แจ่มชัด แนวปะทะ เดือด

เหมือนกับว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะไม่มีอะไร

หลังประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

3 ป. ปิดห้องคุยกัน หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เดินมาส่ง พล.อ.ประวิตร

ภาพที่ปรากฏเหมือนประหนึ่งว่าไม่มีอะไร แต่ความเคลื่อนไหวช่วงชิงทางการเมืองกลับรุนแรง

Advertisement

โดยเฉพาะบรรดา “กองเชียร์” ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ “กองเชียร์” ของ พล.อ.ประวิตร

การเลือกข้างเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดแจ้ง

กระทั่งสัมผัสได้ว่า ขั้วประยุทธ์ กับขั้วประวิตร ขัดกันอย่างเห็นได้ชัด

Advertisement

เห็นได้ชัดขึ้นทุกวัน

เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวประจำสัปดาห์เหมือนทุกครั้ง แต่ครั้งนั้นได้ให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองใหม่

นายยุทธพงศ์ตั้งชื่อให้ว่า “พรรคลุงฉิ่ง” ซึ่งเป็นชื่อของ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา

นายยุทธพงศ์ระบุว่า “ทั้ง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ เดินสายถี่ยิบในช่วงนี้ จึงอยากให้จับตาดูพรรคการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเห็นได้ชัดว่า พปชร.เป็นของ พล.อ.ประวิตร และกลุ่มกบฏที่เหนียวแน่น และไม่มีท่าทีสมานฉันท์กับ พล.อ.ประยุทธ์

“ถ้าลุงตู่จะเล่นการเมืองต่อ ซึ่งเล่นแน่ ก็ต้องเป็นพรรคลุงฉิ่ง อยากให้จับตาดูว่าลุงตู่กับลุงป๊อก จะเป็นสัญญาณของพรรคลุงฉิ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า

“ที่บอกว่ารักกันมาก ดีกันมาก ระหว่าง 3 ป. ผมไม่เชื่อ”

นายยุทธพงศ์เปิดประเด็น

ระหว่างสัปดาห์ ข่าวคราวพรรคลุงฉิ่งแผ่วลง แต่ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมเกิดขึ้นถี่ขึ้น

กระแสข่าวที่เกี่ยวพันกับบิ๊กตู่และบิ๊กป้อม เรื่องการลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมยังมีต่อไป

ประเด็นแรก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ลงตรวจพื้นที่น้ำท่วมพร้อมกัน ประเด็นต่อมา พล.อ.ประวิตร พยายามเลือกวันเวลาที่ไม่ตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์

ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐได้มอบหมายให้ นายไผ่ ลิกค์ เป็นผู้ประสานงาน ส.ส. ให้ไปร่วมขบวน 2 ป. อย่างเท่าๆ กัน หลังจากก่อนหน้านี้ มี ส.ส.ไปต้อนรับ พล.อ.ประวิตร มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ อย่างรู้สึกได้

แต่การแบ่ง ส.ส.ไปต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรดังกล่าว ยังไม่กระหึ่มเท่าความเคลื่อนไหวของ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล เพื่อนร่วมรุ่น จปร.ของ พล.อ.ประยุทธ์

พ.อ.สุชาติ ดูแลพื้นที่ภาคใต้จนพรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.ภาคใต้หลายคน

และภายหลัง ส.ส.ใต้ของ พปชร.ได้รวมกลุ่มกันตั้งชื่อ “ด้ามขวานไทย”

วันที่ 29 กันยายน ทีมงาน พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล โพสต์ข้อความ

ระบุว่า “ความสำเร็จในครั้งที่ผ่านมาของการเลือกตั้ง ส.ส.แห่งภาคใต้ ภายใต้การนำทัพของ พ.อ.สุชาติ ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน การมาใหม่ในครั้งนี้ เสียงปี่เสียงกลองดังลั่นแน่นอน กวาด ส.ส.ในภาคใต้ เพิ่มขึ้น

“ต้นเดือนตุลาคมน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องพรรคใหม่ที่สื่อเสนอกันมาตลอดว่า มี “ปลัดฉิ่ง” ผลักดัน ส่วนผมเองไม่ได้ช่วยงานพรรคพลังประชารัฐแน่นอนในการเลือกตั้งครั้งหน้า

“และวันที่ 30 กันยายน จะเรียกทีมงานหารือวางแผนการทำงานในพื้นที่

“ส่วน ส.ส.พปชร.ในภาคใต้ที่ได้รับเลือกมา 13 คน เพราะกระแสความนิยมในตัวของนายกฯ ผมยังมั่นใจว่าในภาคใต้ความนิยมในตัวนายกฯไม่ได้ลดลง”

เมื่อเพื่อนบิ๊กตู่ประกาศออกมาเช่นนี้

เป็นใครก็ต้องคิด

ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตร มีปัญหา?

และเป็นปัญหาใหญ่ขนาดที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมีพรรคใหม่

พรรคการเมืองใหม่ต้องมีคนที่ไว้ใจเป็นผู้บริหาร

นายฉัตรชัยเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ใกล้ชิดกับ พล.อ.อนุพงษ์ มีความน่าไว้วางใจ

ดังนั้น เมื่อชื่อของปลัดฉิ่งโผล่ขึ้นมา จึงกลายเป็นประเด็น

แม้ในวันที่ 30 กันยายน นายฉัตรชัยจะให้สัมภาษณ์แบบกั๊กๆ

แต่ทุกอย่างจะปรากฏอีกครั้งนับแต่เดือนตุลาคมนี้

ว่ากันว่า การลงพื้นที่ถี่ยิบของ พล.อ.ประยุทธ์ และข่าวคราวเกี่ยวกับพรรคใหม่ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงปลัดฉิ่ง เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า รัฐบาลจะอยู่อีกไม่นาน

มองจากขวากหนามที่ขวางหน้ารัฐบาลนับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปก็มีอยู่

หนึ่ง คือ การเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่หากสภาไม่ผ่านรัฐบาลต้องรับผิดชอบ จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงของรัฐบาลในการประชุมสภาสมัยการประชุมที่จะถึง

สอง คือ ข้อสงสัยที่บัญญัติในมาตรา 158 วรรค 4 ที่กำหนดให้นายกฯดำรงตำแหน่งรวมกันไม่เกิน 8 ปี

ประเด็นนี้ ฝ่ายเสนอมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นนายกฯตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จะครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565

อย่างไรก็ตาม มีคำชี้แจงแย้งว่า ต้องนับเวลาการดำรงตำแหน่งหลังได้รับเลือกเป็นนายกฯ ปี 2562 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ กว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะนั่งเก้าอี้นายกฯ รวมได้ 8 ปี ก็ต้องรอไปถึงปี 2570

ส่วน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. เห็นว่า สมควรเริ่มนับตั้งแต่ปี 2560 เพราะวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นนายกฯแล้ว

ปัญหาเกิดขึ้นเช่นนี้ เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันมิได้บอกชัดเจนว่าจะเริ่มนับการดำรงตำแหน่งนายกฯอย่างไร

ดังนั้น นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แนะให้ กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เช่นเดียวกับ นายไพบูลย์ นิติตะวัน จาก พปชร. ก็มองว่าต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

เท่ากับว่า เก้าอี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเสี่ยง

เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บิ๊กตู่หมดเวลา แผนการต่างๆ ที่วางไว้ก็ต้องเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป จะเป็นช่วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตกอยู่บนความเสี่ยง

เสี่ยงจะอยู่ เสี่ยงจะไป

ความเคลื่อนไหว ณ ขณะนี้ ชี้ว่าขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ และขั้ว พล.อ.ประวิตร มีการแข่งขันกันอย่างออกหน้า

พล.อ.ประวิตร ไม่ลดละ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ยอม

ห้วงเวลาเช่นนี้ จึงเห็นการวางแผน วางกำลัง ตระเตรียมตัวเพื่อสู้ในสนามเลือกตั้ง

นี่จึงเป็นเหตุที่การเมืองอาจจะเข้าสู่ช่วงหักเห

อยู่ต่อก็เป็นไปได้ แต่จะอยู่ยาก

อยู่ต่อไม่ได้ก็ต้องเลือกตั้งช่วงชิง

คาดกันว่า การเลือกตั้งทั่วไปน่าจะเกิดขึ้นก่อนรัฐบาลครบวาระ

เมื่อถึงเวลานั้น ต้องจับจ้องมอง พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเป็นนายกฯ ที่ไม่ลงเลือกตั้ง หรือจะเปลี่ยนใจ

ถ้าจะให้มีความสง่างาม พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะลงเลือกตั้งเพื่อพิสูจน์ตัวเอง

พิสูจน์ให้ ส.ส.เห็นว่า ประชาชนเลือกลุงตู่

พิสูจน์ให้ 250 ส.ว. ยกมือสนับสนุน ลุงตู่ เป็นนายกฯอีกครั้งตามเสียงเรียกร้องของประชาชน

แต่ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์ จะลงเลือกตั้งด้วยหรือไม่

ดูเหมือนว่าแนวรบทางการเมืองจะเดือดปุดปุด

ขั้วบิ๊กตู่กับขั้วบิ๊กป้อม ก็แจ่มชัดมากขึ้นทุกวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image