มาดใหม่ การเมือง เพื่อไทย ตุลาคม 2564 ท่าทีต่อ มาตรา 112

คอลัมน์หน้า 3 : มาดใหม่ การเมือง เพื่อไทย ตุลาคม 2564 ท่าทีต่อ มาตรา 112

ไม่ว่าท่าทีของ “กลุ่มแคร์ คิด เคลื่อน ไทย” ไม่ว่าท่าทีของคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางทางการเมือง พรรคเพื่อไทย

มีความสำคัญและทรงความหมาย

สำคัญเพราะว่าเป็น “ท่าที” ต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 ซึ่งสัมพันธ์กับมาตรการ “เข้ม” จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สำคัญเพราะเป็น “ความแจ่มชัด” และ “ฉับไว”

Advertisement

นั่นก็คือ เป็น “แถลงการณ์” และการประกาศอย่างสอดรับกับข้อเรียกร้องของ “ราษฎร” ในการชุมนุม ณ แยกราชประสงค์

ทรงความหมายเพราะมาจาก “เพื่อไทย”

ทรงความหมายเพราะเท่ากับเป็น “รูปธรรม” ในลักษณะจังหวะก้าวแรกสุดภายหลังการปรับโครงสร้างพรรคเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม

Advertisement

นี่ย่อมเป็น “มาดใหม่” ของ “เพื่อไทย”

หากเปรียบเทียบกับท่วงท่าอาการอย่างเดียวกันนี้เมื่อปี 2555 ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมองผ่าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

จะมองเห็น “จุดต่าง” อย่างเด่นชัด

เมื่อปี 2555 มีการเคลื่อนไหวโดยปัญญาชนซึ่งเป็นอาจารย์และนักกฎหมายจำนวนหนึ่งจาก “คณะนิติราษฎร์” ต้องการให้ปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ได้นำเรื่องเสนอต่อพรรคเพื่อไทยให้ขับเคลื่อนต่อผ่าน “รัฐสภา”

แม้พรรคเพื่อไทยในยุคที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับเรื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อปรับและแก้ไขมาตรา 112 ไปแล้ว

แต่ก็นำไป “แช่แข็ง” ไว้ใน “ช่อง ฟรีซ” ทางการเมือง

ท่าทีเช่นนี้ของพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถเข้าใจได้ เพราะแม้กระทั่งเมื่อมีพรรคอนาคตใหม่ก็มิได้มีการแตะไปยังมาตรา 112

กระนั้น ในเดือนตุลาคม 2564 ก็มีการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงอันสำแดงผ่านกระบวนการของพรรคเพื่อไทยในเดือนตุลาคม 2564 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถเข้าใจได้

เพราะ “สภาพ” ทางการเมืองได้มีการเปลี่ยนแปลง

เป็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่แรกที่ “เยาวชนปลดแอก” ได้ปรากฏขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 และตามมาด้วย “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ในเดือนสิงหาคม

จากนั้นก็พัฒนาเป็น “คณะราษฎร” ในเดือนตุลาคม

จากเดือนตุลาคม 2563 มายังเดือนตุลาคม 2564 ความคิดและท่าทีต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 ได้เปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก

ไม่ว่าจากพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจากพรรคเพื่อไทย

จึงไม่แปลกที่ในที่สุด แรงผลักดันจาก “ราษฎร” ในเดือนตุลาคม 2564 จะส่งผลสะเทือนเข้าไปยังพรรคเพื่อไทยอย่างลึกซึ้ง

กลายเป็นท่าทีใหม่ กลายเป็นจังหวะก้าวใหม่

แท้จริงแล้ว ชะตากรรมของการเคลื่อนไหวโดย “ราษฎร” และชะตากรรมของการเคลื่อนไหวโดยนักการเมืองแห่ง “พรรคเพื่อไทย”

เป็น “ชะตากรรม” ที่ไม่แตกต่างกัน

นั่นก็คือ ได้รับการกระทำอย่างไม่ยุติธรรมจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ชะตากรรมนี้ หนักหนาและสาหัสยิ่งทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image