สะพัดพรรค ‘บิ๊กตู่’ คำอธิษฐาน ‘บิ๊กป้อม’ ตอกย้ำ รอยร้าว

ผลการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ที่ประชาชนเข้าชื่อ 135,247 รายชื่อ ไม่ผ่านวาระ 1 ของรัฐสภา

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาสำคัญ 4 ประเด็น 1.การยกเลิกวุฒิสภา ให้ประเทศไทยใช้ระบบสภาเดี่ยว 2.ปฏิรูปที่มา อำนาจหน้าที่ และการตรวจสอบถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ

3.ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ และ 4.ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และป้องกันการรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ผู้ริเริ่มและนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในรัฐสภา ประกอบด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) นายณัชปกร นามเมือง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)

Advertisement

ผลการพิจารณา 16 ชั่วโมง และลงมติปรากฏว่ารัฐสภารับหลักการ 206 เสียง ไม่รับหลักการ 473 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง

เสียงที่รับหลักการไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา

ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตกไป

Advertisement

นายปิยบุตรกล่าวตอนหนึ่งภายหลังจากผลการพิจารณาออกมาว่ารัฐสภาคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

“หวังอย่างยิ่งว่าระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนจะทำหน้าที่ในส่วนนี้ต่อ คือ ส.ส.ที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะไม่เห็นด้วยทั้งหมดหรือเห็นด้วยทั้งหมดก็ตาม ท่านมีโอกาส เพราะอีกไม่กี่เดือน ไม่กี่ปีก็จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.

“จึงฝากความหวังไว้กับ ส.ส.ที่สนับสนุนร่างฉบับนี้ว่า หากจะนำการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไปออกแบบเป็นนโยบายและหาเสียงการเลือกครั้งต่อไป พวกเราจะตัดสินใจเลือกท่านกลับเข้ามาเป็น ส.ส. มาเป็นเสียงข้างมากเพื่อช่วยกันแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นความท้าทายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า

แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีวาระถึงปี 2566 แต่ระยะหลังทุกพรรคการเมืองต่างเดินหน้าหาคะแนนเสียงเสมือนกับว่า การเลือกตั้งอาจจะเกิดขึ้นตลอดเวลา

พรรคก้าวไกล เป็นพรรคแรกที่ประกาศเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคชาติไทยพัฒนาก็มีความประสงค์เช่นกัน

รวมไปถึงพรรคเพื่อไทย และอาจจะมีพรรคอื่นๆ ตามมาอีก

หากเป็นเช่นนี้ถือว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแม้จะถูกคว่ำไป

แต่ความคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับกำลังเริ่มต้นอีกครั้ง
หากมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองย่อมเป็นฐานที่มั่นสำคัญของ ส.ส. รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย

แต่ขณะนี้ความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับพรรคพลังประชารัฐ ที่นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดูเหมือนจะยังไม่คลี่คลาย

ล่าสุดเกิดกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ หันไปสนใจพรรคการเมืองชื่อ “ไทยสร้างสรรค์” ตอกย้ำกระแสข่าวที่ว่าหากพรรคพลังประชารัฐจัดการไม่ลงตัว พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็พร้อมตีจาก

กระแสข่าวตีจากพรรคพลังประชารัฐเคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้

เมื่อเกิดกระแสข่าว “พรรคปลัดฉิ่ง” ที่มีผู้เจาะจงว่าชื่อ “พรรคเศรษฐกิจไทย”

ครั้งนั้นมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.อนุพงษ์ เตรียมการไว้เพื่อรองรับการเลือกตั้ง โดยผลักดันให้อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยไปตั้งพรรคใหม่ เพื่อรองรับ 2 ป. หากความขัดแย้งกับ ป.ประวิตร ไม่อาจสมานแผลได้

ข่าวคราวครั้งนั้นได้รับการรับรองจาก พ.อ.สุชาติ จันทร โชติกุล เพื่อน พล.อ.ประยุทธ์ ที่คุมพื้นที่ภาคใต้

ประกาศยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเพื่อไปอยู่พรรคใหม่

กระแสร้อนแรงถึงขั้นที่ พล.อ.ประวิตร ถามตรง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ในเรื่องตั้งพรรคใหม่

เมื่อทุกอย่างเริ่มเป็นที่จับตา กระแสพรรคใหม่กลับค่อยๆ เงียบหาย

แต่คลื่นความขัดแย้งยังคงอยู่

พล.อ.ประวิตรยังคงออกตรวจพื้นที่พร้อมๆ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ท่ามกลางกระแสต้อนรับจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐอย่างคึกคัก

หากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับ พล.อ. ประยุทธ์ ยังไม่อาจสมานรอยร้าวกันได้จริง

การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันเวลาข้างหน้าย่อมเป็นโจทย์หินของพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประยุทธ์

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ และกำลังแก้ไขกฎหมายลูกเพื่อใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

คาดการณ์กันว่า พรรคการเมืองที่จะได้ประโยชน์จากการแก้ไขคือพรรคที่ประชาชนลงคะแนนให้มากๆ

พรรคเพื่อไทยคิดว่าการแก้ไขเช่นนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์

เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ที่ประเมินคะแนนที่เคยได้เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

น่าเชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งด้วยระบบบัตร 2 ใบ พรรคพลังประชารัฐก็น่าจะได้ประโยชน์

แต่การประเมินของพรรคพลังประชารัฐนั้นเป็นการประเมินก่อน พล.อ.ประยุทธ์ กับพรรคพลังประชารัฐมีปัญหา

ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะลงเอยด้วยการมอบให้ พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้า และร.อ.ธรรมนัส เป็นเลขาฯ เหมือนเดิม

หรือจะลงเอยด้วย พล.อ.ประยุทธ์ แยกตัวจากพรรคพลังประชารัฐ และตั้งพรรคใหม่มาสนับสนุน

ย่อมส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งที่จะมาถึง

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะกำหนดให้เสียง ส.ว. 250 เสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จนกลายเป็นเงื่อนไขหลักในการต่อรองให้พรรคการเมืองอื่นๆ มาสนับสนุนรัฐบาล

แต่การเลือกตั้งต้องมีพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน

ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาเช่นเดียวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คือ พรรคเพื่อไทยมี ส.ส.สูสีกับพรรคพลังประชารัฐ โดยมีพรรคก้าวไกล คอยเบียดขึ้นมา

การเลือกตั้งใหม่ ที่อาจจะมีพรรคใหม่มาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อาจเข้ามาทำลายเสียงของพรรคพลังประชารัฐเดิม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประยุทธ์

ทางออกคือ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ ต้องกลับมาสมานฉันท์เฉกเช่นเดิม ซึ่งมอง ณ สถานการณ์ปัจจุบัน ยังเป็นเรื่องยาก

คงต้องดูปาฏิหาริย์ที่ พล.อ.ประวิตรวาดหวังในวันลอยกระทง

อยากลอยความขัดแย้งไปกับสายน้ำ

แต่ไม่มีใครทราบได้ว่า จะต้องลอยกี่กระทง ความขัดแย้งดังกล่าวจะหายไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image