ระบอบ ประยุทธ์ บทเรียน ประชาธิปัตย์ เล่นบท ‘พิทักษ์’

คอลัมน์หน้า 3 : ระบอบ ประยุทธ์ บทเรียน ประชาธิปัตย์ เล่นบท ‘พิทักษ์’

บทสรุปเชิงคาดทำนายที่ว่า ระบบการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ จะส่งผลให้พรรคเพื่อไทยจะได้ชัยชนะและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

“ระบอบทักษิณ” จะเข้ามาแทน “ระบอบประยุทธ์”

ต้องยอมรับว่า สโลแกนที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 เป็นต้นมา

คือการต่อต้าน “ระบอบทักษิณ”

Advertisement

เป็น “ระบอบทักษิณ” อันก่อรูปขึ้นจากชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 และแผ่อานุภาพใหญ่กว้างเมื่อได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548

ท่ามกลางความพ่ายแพ้เป็นลำดับของ “ประชาธิปัตย์”

เป็นความแค้นอย่างชนิดฝังลึกจากยุคของ นายชวน หลีกภัย ต่อเนื่องมายังยุคของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยุคของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

Advertisement

ที่น่าสนใจคือ “กระบวนท่า” ใน “การต่อสู้”

เมื่อเผชิญกับความพ่ายแพ้จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนจาก นายชวน หลีกภัย เป็น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน

และมาอยู่ในมือของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แรกที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปรากฏขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ยื่นมือเข้าไปแตะในระดับที่แน่นอนหนึ่ง

ด้วยการเดินทางไปมอบกระเช้าดอกไม้ให้แกนนำบางคน

แต่เมื่อต้องพ่ายแพ้อีกในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคประชาธิปัตย์ได้ยกระดับการต่อสู้ขึ้นไปอีกขั้น

นั่นคือ บทบาทของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ใน “กปปส.”

ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 กระบวนท่าทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ยิ่งลงลึก

ลึกเข้าไปสู่ “กลไก” ของกระบวนการ “รัฐประหาร”

กระบวนการรัฐประหารที่ดำเนินการในเดือนกันยายน 2549 และต่อเนื่องขยายผลมายังรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557

ทำให้รูปแห่ง “รัฐพันลึก” โผล่ขึ้นมา “เด่นชัด”

เด่นชัดผ่านเงาร่างของนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผ่านเงาร่างของนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยมี “ประชาธิปัตย์” เข้าไปแตะเกี่ยว “สัมพันธ์” ต่างระดับ

ในยุค พล.อ.สรยุทธ์ จุลานนท์ อาจไม่ชัด แต่มีความลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นภายหลังการยุบพรรคพลังประชาชนในเดือนพฤศจิกายน 2551

และการปราบปราม “เสื้อแดง” ในปี 2553

ความสัมพันธ์นี้ต่อเนื่องมายังปฏิบัติการของ “กปปส.” กระทั่งการเข้าร่วมขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประยุทธ์” จากนิยามของ “ประชาธิปัตย์”

สิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประยุทธ์” มิได้หมายความว่าจะมีพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เข้าไปมีส่วนการค้ำยันเช่นเดียวกับ 250 ส.ว.และองค์กรอิสระ

หากมี “ประชาธิปัตย์” ร่วมอยู่ด้วย

บทสรุปจาก “ภายใน” ของพรรคประชาธิปัตย์จึงมิได้มีความหมายในการต้านยันต่อการรุกคืบเข้ามาอีกครั้งของ “ระบอบทักษิณ”

หากแต่เท่ากับเป็นการปกป้อง “ระบอบประยุทธ์” อย่างมีนัยสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image