เหมือน ใน ‘ต่าง’ ระหว่าง ทิด‘ไพรวัลย์’ หลวงพี่ สมปอง

คอลัมน์หน้า 3 : เหมือน ใน‘ต่าง’ ระหว่าง ทิด‘ไพรวัลย์’ หลวงพี่ สมปอง

คอลัมน์หน้า 3 : เหมือน ใน‘ต่าง’ ระหว่าง ทิด‘ไพรวัลย์’ หลวงพี่ สมปอง

วิถีแห่ง ทิดไพรวัลย์ วรรณบุตร กับ ทิดสมปอง นครไธสง ในการสึกหาลาพรตออกจากสำนักวัดสร้อยทอง สมควรมีการศึกษา

ทั้งในด้าน “การตลาด” และ “การธรรม”

“ปฏิกิริยา” อันสะทัอนอย่างต่อเนื่องมาจากนักร้องระดับ ศรีสุวรรณ จรรยา มิได้ยืนยันรูปธรรมแห่ง “ริษยาของชนชั้นกลาง” เท่านั้น

หากแต่ยังเป็น “ตัวแทน” แห่งสำนึก “เก่า”

Advertisement

สำนึก “เก่า” ในทางความคิดซึ่ง ศรีสุวรรณ จรรยา โพสต์ข้อความนั่นแหละคือรากฐานและตัวตนอันเป็นปัจจัยกดทับ

กดทับ “ไพรวัลย์” กระแทก “สมปอง”

เนื่องจากสิ่งที่ทั้ง พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต เคยแสดงกระทบต่อขนบและธรรมนิยมในแบบ “เถรวาท”

Advertisement

แม้เมื่อพ้นจาก “อาราม” มาแล้วก็ยังตามมา “ราวี”

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรเมื่อพ้นจากสมณเพศ ทั้ง ไพรวัลย์ วรรณบุตร และ สมปอง นครไธสง จึงสอดสวมเข้ากับชีวิตฆราวาสได้อย่างรวดเร็ว

ไม่เพียง “รวดเร็ว” หากแต่ยัง “ปราดเปรียว”

เพราะว่ากระสวนแห่งการแสดงออกของทั้ง 2 มหาเมื่ออยู่ในอาราม ก็เก็บรับเอากระสวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมเข้าไปอย่างเต็มที่

ไม่ว่าจะเป็น “ไลฟ์” ไม่ว่าจะเป็นเสียง “หัวเราะ”

อย่าได้แปลกใจหากจะเห็น ไพรวัลย์ วรรณบุตร เดินเหินไปกินหมูกระทะได้อย่างรวดเร็ว อย่าได้แปลกเมื่อเห็น “สเต็ป” การเต้นของ สมปอง นครไธสง

“ตลาด” อันกว้างไพศาลได้ “โอบรับ” อย่างอบอุ่น

รายได้และผลประโยชน์ที่หลั่งไหลเข้าไปหา ไพรวัลย์ วรรณบุตร และ สมปอง นครไธสง ได้กลายเป็นช่องทางให้กับผู้มีความสามารถ

ต่อม “ริษยา” ของ “ชนชั้นกลาง” จึงปะทุ

กระนั้น ภายในความเหมือนระหว่างการสึกหาลาพรตของ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ กับ พระมหาสมปอง ตาลปตฺโต ก็มีความต่าง

เป็นความต่างบน “เส้นทาง” ที่ “ดำเนิน”

เพียง 2 วัน สังคมก็สัมผัสได้ในความพร้อมจากการตระเตรียมอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนรอรับการออกมาของ สมปอง นครไธสง

เป็นความพร้อมจาก “ต้นสังกัด”

เป็นต้นสังกัดที่สะสางในเรื่อง “หนี้สิน” เป็นต้นสังกัดที่ตระเตรียมอุปกรณ์ตั้งแต่ “สำนักงาน” ไปจนถึงรถรา สมบูรณ์

นี่ย่อม “ต่าง” ไปจาก ไพรวัลย์ วรรณบุตร

วิถีของ ไพรวัลย์ วรรณบุตร เป็นไปในแบบของ “อินดี้” หรือ “ศิลปินอิสระ” มิได้มีค่าย มิได้มีค่ายของตนเองอย่างแท้จริง

เท่ากับย้อนคืนไปสู่ความเป็น “ปัจเจก” ไม่แปรเปลี่ยน

เส้นทางภายหลังการเข้าไปเผชิญกับสภาพความเป็นจริงแห่งชีวิตของ ไพรวัลย์ วรรณบุตร และของ สมปอง นครไธสง จะเป็นอย่างไร

นั่นเป็นเรื่องของ “ปัจเจก” อันดำรงอยู่อย่าง “เอกระ”

เมื่อทุกอย่างกลมกลืนอย่างเป็นเนื้อเดียวกับ “ระบบ” ที่ดำรงอยู่แล้ว กระแสแห่ง “ปฏิกิริยา” ก็ยังดำรงอยู่เหมือนกับที่คนอื่นๆ ต้องประสบ

ทั้งในทาง “ส่วนตัว” และในทาง “ส่วนรวม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image