บทเรียน ยูเครน ภาพแห่ง ‘สงครามเย็น’ ในยุค โลกาภิวัตน์

คอลัมน์หน้า 3 : บทเรียน ยูเครน ภาพแห่ง ‘สงครามเย็น’ ในยุค โลกาภิวัตน์

คอลัมน์หน้า 3 : บทเรียน ยูเครน ภาพแห่ง ‘สงครามเย็น’ ในยุค โลกาภิวัตน์

ยิ่งสถานการณ์สงครามในยูเครนสะท้อนลักษณะความเป็น “โลกาภิวัตน์” ออกมาเด่นชัดเพียงใด ยิ่งส่งผลสะเทือนล้ำลึก กว้างไกล เพียงนั้น

สัมผัสได้จาก “ท่าที” ของ “ผู้คน”

แรกที่ปูตินตัดสินใจส่งกำลังรุกเข้าไปในยูเครน ความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญก็คือ ความเชื่อมั่นต่อชัยชนะที่จะตามมา

มองเห็นความทระนง องอาจ

Advertisement

ก่อให้เกิด “ปฏิมา” แห่งความศรัทธา ในความเฉียบขาด มั่นคงและสายตาอันยาวไกลของปูตินเทียบชั้น “รัฐบุรุษ”

ยืนผงาด เคียงข้างกับ “สี จิ้นผิง”

ขณะเดียวกัน ภาพที่มองไปยังยูเครนมองเห็นแต่ด้านที่อ่อนแอ ปวกเปียก วิสัยทัศน์และการตัดสินใจที่ผิดพลาด

Advertisement

โดยเฉพาะ “ประธานาธิบดี” ที่เป็น “ตัวตลก”

เมื่อประเมินยูเครนต่ำ เมื่อมองภาพของเซเลนสกีต่ำต้อยเป็นตัวตลก จึงง่ายดายที่จะโยนคำว่าโง่ให้อย่างไม่ลังเล

เมื่อโง่ก็ย่อม “ชักศึกเข้าบ้าน”

โอกาสที่จะต่อกรกับพลานุภาพของรัสเซียจึงน้อยนิด ความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนตัว “ผู้นำ” จึงเป็นไปได้

เป็นไปได้ตาม “คำประกาศ” ของ “ปูติน”

แต่แล้วเมื่อการรุกของรัสเซียผ่านไป 48 ชั่วโมง สถานะของสงครามก็ยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด การยึดไม่เป็นไปตาม “คำประกาศ”

การผงาดขึ้นเพื่อต่อสู้ของเซเลนสกี

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ภาพและข่าวที่ปลิวว่อนไปทั่วโลกกลับเป็นความโหดร้ายของรัสเซีย เป็นการยืนหยัดสู้ของชาวยูเครน

สายตาที่มอง “ปูติน” ก็เริ่มแปรเปลี่ยน

สงครามยูเครนจึงไม่เพียงแต่เป็นการทดสอบความแข็งแกร่งของผู้นำอย่างปูติน กับผู้นำอย่างเซเลนสกี เพียง 2 คน เท่านั้น

หากแต่ยังทดสอบ “ประชาชน” อย่างแหลมคม

ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในยูเครน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในสวิตเซอร์แลนด์

และรวมถึงประชาชนใน “ไทย”

ท่าทีของ “เกจิ” และ “ผู้เชี่ยวชาญ” ในการวิเคราะห์สถานการณ์ จากที่เห็นก่อนหน้าและภายหลังสงครามจึงแปรเปลี่ยน

บางคนถึงกับกลับหลังหัน 360 องศา

แม้กระทั่งท่าทีและการตัดสินใจของประเทศไทยที่ออกมาจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับที่มีการพูดในสหประชาชาติก็กลายเป็นคนละเรื่อง

“ยูเครน” จึงกลายเป็นยุทธการ “ปราบเซียน”

มีความเด่นชัดยิ่งว่า สงครามอันเกิดขึ้นในยูเครนแม้จะใช้รูปแบบดึกดำบรรพ์อย่างยิ่ง แต่เมื่อดำรงอยู่ในยุคแห่งโลกาภิวัตน์

“ผล” จึงเกิดการแปรเปลี่ยน

เป็นบทเรียนอันแหลมคมไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นอาการ “ตกยุค” ของคนอย่างปูติน หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงจังหวะก้าวของ “รุ่นใหม่”

ในทางการเมือง ชัยชนะเป็นของยูเครนเรียบร้อยไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image