สมรส เท่าเทียม พรรค และ นักการเมือง คำพูด การ ‘ทำ’

การนำร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” มาพิจารณาเพื่อลงมติอีกครั้งในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมากด้วยความละเอียดอ่อน

เพราะเกิดขึ้นในช่วงของ “เดือนแห่งไพรด์”

ยิ่งมีพรรคการเมืองสำแดงออกอย่างเด่นชัดถึงกับมีการปรับเปลี่ยน “โลโก้” ของพรรคให้ประสานเข้ากับบรรดาแห่ง “ไพรด์” ยิ่งระทึก

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์

Advertisement

แม้กระทั่งพรรคไทยสร้างไทย และพรรคกล้า ซึ่งไม่มี ส.ส.อยู่ในสภา ก็ยังสร้างความตื่นตาระทึกใจเป็นอย่างสูง

ว่าท่าทีนี้จะมี “ผล” ต่อ “มติ” อย่างไร

ยิ่งมองเห็นแต่ละภาพ แต่ละการเคลื่อนไหว อันปรากฏผ่าน “นฤมิตไพรด์” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน
ยิ่งมากด้วยความแหลมคม

Advertisement

เป็นภาพใหม่ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในทางสังคม

หากมองอย่างรวบรัด ปรากฏการณ์ของ “นฤมิต ไพรด์” นั่นก็คือ ภาพและการแสดงออกของชุมชนที่เรียกตนเองว่า “หลากหลายทางเพศ”แต่เมื่อมองผ่านคำย่อ LGBTQก็วิลิศมาหรา

จากสายตาของคนรุ่นเก่าบางกลุ่ม ภาพบนถนนสีลมเป็นภาพอันชวนตื่นตระหนกอันเกิดอาการ “ช็อก” อย่างรุนแรง

ไม่น่าเชื่อว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะเข้าไปร่วม

ไม่เพียงการแต่งกายที่รับไม่ได้เลย หากแต่ยังเป็นการแต่งกายที่บ้าบอแล้ว ยังหมิ่นเหม่ต่อลักษณะอนาจารอีกด้วย

ภายในคนจำนวนมากนั้นยังเรียกร้องให้กับ “เซ็กซ์ เวิร์กเกอร์” อีก

มองจากมุมของนักการเมืองพรรคพลังประชารัฐ มองจากมุมของนักการเมืองพรรคภูมิใจไทย มองจากมุมของนักการเมืองพรรคชาติไทยพัฒนา

จึงยากที่จะรับได้ จึงยากที่จะปลงใจเห็นด้วย

คําถามก็คือ พลังของ “ความหลากหลายทางเพศ” หรือ LGBTQ ในสังคมไทย เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างไรในทางเป็นจริง

คำตอบก็คือ เมื่อสังคม “เปิด” การแสดงออกก็ “เผย”

การเปิดเริ่มต้นในห้วงแห่งการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 และเห็นได้จนแทบเป็นเรื่องธรรมดาตลอดการเคลื่อนไหวในปี 2563

ภาพการชู “สามนิ้ว” จึงเห็นได้เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน

ยิ่งหากมองผ่านจำนวนของคนที่ลงนามเข้าร่วมสนับสนุนร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” ยิ่งทะยานกว่า
3 แสน

เมื่อผ่านวันที่ 5 มิถุนายน ยิ่งขึ้นเป็น “นาที”

การที่หลายพรรคการเมืองซึ่งเคยลงคะแนน “ต้าน” ร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” เริ่มมีสายรุ้งเข้ามาล้อมโดยรอบโลกพรรคจึงสำคัญ

สำคัญต่อการลงคะแนนในวันที่ 8 มิถุนายน

ทุกอย่างจึงวนกลับมายังจุดเดิม ไม่ว่าจะมองผ่านร่างกฎหมาย“สมรสเท่าเทียม” ไม่ว่าจะมองผ่านร่างกฎหมาย “สุราประชาชน”

นั่นก็ขึ้นอยู่กับ “คำพูด” และ“การทำ”

ทุกพรรคการเมืองออก “แถลงการณ์” ทุกนักการเมืองปล่อย “คำพูด” เมื่อปรากฏ ประชาชนก็ล้างหูน้อมรับฟัง

แต่ที่ชี้ขาดอย่างแท้จริงอยู่ที่จะ “ทำ” ตามที่ “พูด” หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image