ธรรมดา ธรรมชาติ แห่ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ท่ามกลาง มวลชน

ตอนที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้าไปพูดคุยกับ “คนกวาดขยะ” และเรียกขานว่าเป็น “เพื่อนร่วมงาน”

ก็สร้างอาการ “ตะลึง ตึง” อย่างยิ่งแล้ว

ภาพล่าสุดที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เดินไปและยกมือไหว้ “นักโทษ” ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมราชทัณฑ์ให้มาลอกท่อที่เขตห้วยขวาง

ยิ่งสร้างอาการ “ตะลึง ตึง” เป็นทวีคูณ

Advertisement

เพราะเมื่อมองจากสถานะระหว่าง “ผู้ว่าฯกทม.” ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีท่านใดเคยเห็นและเรียกขาน “คนกวาดขยะ” ว่าเป็น “เพื่อนร่วมงาน”

ยิ่งการไหว้ “นักโทษ” ที่มาลอกท่อตามคำสั่งยิ่ง “เหลือเชื่อ”

มองจากมุมของ “ผู้ว่าฯกทม.” ในอดีต มองจากมุมของ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ที่กระจายอยู่ใน 70 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ

Advertisement

นี่คือการแหก “ขนบ” ฉีก “กฎ” อย่างชนิด 360 องศา

ไม่ว่าจะมองจากมุมของ “การปฏิรูป” ไม่ว่าจะมองจากมุมของ “การปฏิวัติ” ท่วงทำนองของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เป็นไปได้ทั้ง 2 “การ” นี้ได้

หากมองว่าเป็น “การสร้างภาพ” ที่เรียกคนกวาดขยะว่าเป็น “เพื่อนร่วมงาน” น่าจะเข้าข่ายของ “โอเวอร์ พีอาร์”

อาจทำให้ “คนกวาดขยะ” ขนลุกเกรียวด้วยความตระหนก

ยิ่งหากมองจากด้านของ “นักโทษ” ที่มีความผิดอันหลากหลาย คนระดับ “ผู้ว่าฯกทม.” มายกมือไหว้ โอบหลัง โอบไหล่

ร้อยวันไม่เคยเห็น พันปีไม่เคยปรากฏ

กระนั้น หากใครที่ติดตาม “ไลฟ์” ของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไม่ว่าเมื่อแรกที่นั่งเรือไปในคลองลาดพร้าว กระทั่งล่าสุดเมื่อนั่งกินเกาเหลาเนื้ออย่างอร่อยเอร็ด

ก็สัมผัสได้ในความเป็นธรรมชาติ ความเป็นปกติ

เพียงแต่นำเอาภาพของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาวางเรียงเคียงกับภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่ออยู่ในท่ามกลางประชาชน

ก็จะมองเห็น ก็จะประจักษ์

เป็นการประจักษ์ใน “ความต่าง” ไม่ว่าจะมองผ่าน “ดวงตา” ไม่ว่าจะมองผ่าน “มือ” ที่แตะเข้าไปหา

คนหนึ่งเป็น “เจ้านาย” คนหนึ่งเป็น “เพื่อน”

อาจเพราะว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เคยเป็นครูบาอาจารย์ แม้เป็นรัฐมนตรีก็เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจาก “การเลือกตั้ง”

จึงกลมกลืนไปกับ “ชาวบ้าน” อย่างนุ่มนวล เป็นกันเอง

ตรงกันข้าม กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นทหาร เป็นนายทหารในท่ามกลาง “ไอ้ เณร” มาอย่างยาวนาน

และได้ “อำนาจ” มาจาก “รัฐประหาร”

ทุกอย่างดำเนินไปตามที่โคลงโลกนิติได้สรุปเอาไว้อย่างรวบรัดนั่นก็คือ “ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร”

แก่นกลางก็คือ การเห็น “คนเท่ากัน”

แก่นกลางก็คือ ความเข้าใจที่ว่าการทุกอย่างต้องทำงานร่วมกัน มิได้ขึ้นอยู่กับ “เรา” หากแต่ต้องมี “เขา” เป็นองค์ประกอบด้วย

เมื่อเห็น “คนเท่ากัน” ก็ยึดกุมจิตวิญญาณแห่งความเป็น “ประชาธิปไตย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image