ญัตติซักฟอกเดินหน้า รบ.ฝ่าด่านสุญญากาศ ส่งผลสะเทือนเลือกตั้ง

การเดินหน้าตรวจสอบการทำหน้าที่ฝ่ายบริหารของฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านการยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมกับอีก 10 รัฐมนตรี ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ โดยประเด็นร้อนที่เกรงว่าจะเป็นดราม่าทางการเมืองเกี่ยวกับ “ญัตติเถื่อน”

ที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะ ส.ส.ชลบุรี และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ยื่นเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ดำเนินการถูกต้องตามข้อบังคับและรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีการเพิ่มรายชื่อรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายจาก 10 เป็น 11 ชื่อ โดย ส.ส.ที่เซ็นชื่อรับรองญัตติอาจไม่ทราบเรื่องมาก่อน ประเด็นการตรวจสอบ “ญัตติเถื่อน” ถือว่าจบเมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้าน ส่งรายชื่อ ส.ส.ยืนยันในการเสนอญัตติที่จะอภิปรายนายกฯและรัฐมนตรีรวม 11 คน

โดยประธานสภาได้ตรวจสอบความเรียบร้อยและสั่งบรรจุญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นวาระด่วน ตามสารบบของสภา พร้อมกับส่งระเบียบวาระดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ตอบกลับมายังสภา เพื่อกำหนดความพร้อมและวันเวลาที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

Advertisement

ประเด็นสำคัญเมื่อประธานสภาสั่งบรรจุวาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติดังกล่าวออก หรือมีการลงมติและได้คะแนนเสียงไม่วางใจเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมสภา ในทางการเมืองเมื่อญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจเดินหน้าต่อ และนายกฯไม่สามารถยุบสภาได้

ย่อมต้องเดินหน้าฝ่าด่านคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจไปให้ได้ หากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด เกิดมีคะแนนไม่ไว้วางใจนายกฯเกินครึ่งของที่ประชุมสภาขึ้นมา นายกฯมีอยู่ 2 ทางเลือก

คือ ยุบสภา หรือ ลาออก นั่นย่อมจะส่งผลให้รัฐบาลเกิดสุญญากาศในการบริหารประเทศ เนื่องด้วยสถานะการเป็นรัฐบาลรักษาการ ย่อมไม่มีอำนาจเต็มในการสั่งการทุกกลไกภายใต้อำนาจรัฐที่กำกับดูแล อีกทั้งในความเป็นจริงทางการเมือง ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ต่างมีจุดมุ่งหมายอยากอยู่ในอำนาจรัฐไปจนครบวาระ เพราะทุกฝ่ายย่อมไม่มีใครอยากเสี่ยง

Advertisement

ลงสนามแข่งขันผ่านศึกเลือกตั้งเนื่องจากยังไม่มีสิ่งใดมาการันตีได้ว่าอดีต ส.ส.ที่ลงรับเลือกตั้งจะได้กลับเข้ามาทำหน้าที่ได้อีกหรือไม่

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลครั้งนี้ สิ่งที่ประชาชนและสังคมเฝ้ารอการทำหน้าที่กระบวนการตรวจสอบตามหลักการประชาธิปไตย ผ่านการอภิปราย และชี้แจงข้อกล่าวหา ของทั้งสองฝ่าย คือ สาระที่จับต้องได้ ผ่านทั้งตัวข้อมูล หลักฐานและข้อเท็จจริง ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ก้าวข้ามเรื่องส่วนตัว และการเอาคืนกันทางการเมือง

โดยเฉพาะการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ สู้กันด้วยข้อมูล หลักฐาน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องพลังงาน ค่าครองชีพ ปัญหาปากท้อง ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างที่กลายเป็นปัญหาใหญ่ของฝ่ายรัฐบาล ฉุดคะแนนนิยมทั้งตัวนายกฯ ไปจนถึง ครม. รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังแก้ปัญหาดังกล่าวได้ไม่ตก หากพรรคร่วมฝ่ายค้านพุุ่งเป้าอภิปราย

ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเศรษฐกิจปากท้องทั้งเรื่องสินค้าราคาแพง ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจนทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในข้อมูลของฝ่ายค้าน ย่อมมีน้ำหนักและส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้นำที่จะเข้ามาบริหารประเทศในครั้งต่อไปอย่างแน่นอน

ยิ่งมีปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ชาวกรุงเทพต่างพร้อมใจกันมอบฉันทามติ ให้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม. ด้วยคะแนนเสียงถึง 1,386,215 คะแนน ซึ่งบทบาทของ “ชัชชาติ” ที่แสดงออกผ่านการทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม. ในห้วงกว่า 1 เดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง ทั้งเรื่องภาวะผู้นำ สไตล์การทำงานที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาด้วยตัวเอง แบบเข้าถึงและเป็นกันเอง ลบขั้นตอนพิธีรีตอง แบบเจ้านายกับลูกน้อง มองและนำเสนอการแก้ปัญหาในเชิงบวก พร้อมกับหลอมหลวมนำผู้คนใน กทม.ให้เกิดความหวัง ก้าวข้ามความขัดแย้ง จนนำไปสู่ความร่วมมือในการมาร่วมกันพัฒนากรุงเทพฯให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ของทุกคน จนเกิดเป็นข้อเปรียบเทียบและเสียงเรียกร้องของประชาชนที่อยากจะได้ผู้นำประเทศ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านการเลือกตั้งผ่านฉันทามติโดยตรงของประชาชน โดยปราศจากการขั้นตอนที่ระบุว่าต้องทำตามกติกาตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการกลั่นกรองอำนาจทางตรงของประชาชนทั้งประเทศ ด้วยการให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 คน เข้ามามีส่วนเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตามที่ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เหตุผลในบทเฉพาะกาลว่า ต้องมี ส.ว. 250 คน มาทำหน้าที่ 5 ปี ในช่วงการปฏิรูปประเทศ ซึ่งดูจะสวนทางกับหลักการตามระบอบประชาธิปไตย ที่การเลือกตั้งต้องสะท้อนฉันทามติโดยตรงของประชาชนในการเลือกผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ ตั้งแต่ ส.ส.ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี

ความตื่นตัวในการเลือกตั้งผู้นำมาแก้ปัญหาให้ประชาชน จากปรากฏการณ์เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการชี้วัดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะแสดงออกในการเลือกผูู้นำมาบริหารประเทศ ตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image