เหตุผล การเตือน จากท่าน สุชาติ ตันเจริญ เตือนต่อ ‘รัฐบาล’

เหมือนกับคำเตือนนิ่มๆ จาก นายสุชาติ ตันเจริญ ไปยังรัฐบาล ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นเหมือน “สัญญาณ” ในทางการเมือง

ทั้งๆ ที่เป็นการเตือนในเชิง “หลักการ”

เพราะ นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และดำรงอยู่ในฐานะของ “ประธาน” ในที่ประชุม

จึงอยู่ในฐานะตัวแทนแห่ง “อำนาจนิติบัญญัติ”

Advertisement

เมื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะ ส.ส. ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาตอบ “กระทู้” สำคัญ

ในเรื่องของ “เศรษฐกิจ” ในเรื่องของ “การเงิน”

จึงสมควรอย่างยิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ 1 นายกรัฐมนตรี และ 1 ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจจะต้องมาตอบ

Advertisement

แต่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่มา

คำเตือนของ นายสุชาติ ตันเจริญ จึงมิได้เป็นคำเตือนอย่างมีลักษณะเป็น “ส่วนตัว” ตรงกันข้าม เป็นการเตือนระหว่าง “อำนาจ” ต่อ “อำนาจ”

เตือนจาก “อำนาจนิติบัญญัติ” ถึง “อำนาจบริหาร”

สังคมที่เริ่มต้นจากฐานความคิดว่า นายสุชาติ ตันเจริญ มาจากพรรคพลังประชารัฐอันเป็นฐานให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จึงเห็นเป็นเรื่อง “แปลก” เห็นเป็นเรื่อง “ไม่” เหมาะสม

ลืมนึกไปว่า นายสุชาติ ตันเจริญ ดำรงอยู่ในฐานะเป็น “รองประธานสภาผู้แทนราษฎร” และกำลังทำหน้าที่เป็น “ประธาน”

ลืมนึกไปว่า นายชวน หลีกภัย ก็เคยเตือนอย่างงี้

ลืมนึกไปว่าก่อนหน้านี้ นายสุชาติ ตันเจริญ ก็เคยเตือน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปแล้ว

ยิ่งกว่านั้น ยังมิได้มองไปในด้าน “รัฐบาล”

สิ่งที่ นายสุชาติ ตันเจริญ เน้นอย่างหนักแน่นคือลักษณะแห่งคำสั่ง “แบบทหาร” กับคำสั่งในแบบของ “นักการเมือง”

สั่งแบบทหาร คือ สั่งแล้วสั่งเลย

นั่นก็คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ สั่ง นายนิพนธ์ บุญญามณี ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการ

โดยไม่สนใจว่า “ผล” เป็นอย่างไร

นั่นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี สั่ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดยไม่สนใจว่า “ผล” เป็นอย่างไร

ผลก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ สั่ง นายสันติ พร้อมพัฒน์ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

โดยไม่สนใจว่า “ผล” เป็นอย่างไร

หากมองจากกรณีของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ต่อเนื่องมายังกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เห็นอย่างเด่นชัด

เด่นชัดว่า “คำสั่ง” ไม่เกิด “ประโยชน์”

ตรงกันข้าม แต่ละคำสั่งในแบบ “ทหาร” สะท้อนให้เห็นลักษณะปั่นป่วน และสับสนภายในองคาพยพแห่ง “คณะรัฐมนตรี”

ฝ่าย “นิติบัญญัติ” จึงจำเป็นต้องเตือนฝ่าย “บริหาร” ด้วยความปรารถนาดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image