วิเคราะห์หน้า 3 : ผู้กองแจมฝ่ายค้าน เร่งกระแสเชี่ยว ศึก ‘ไม่ไว้วางใจ’

ผู้กองแจมฝ่ายค้าน

เร่งกระแสเชี่ยว

ศึก ‘ไม่ไว้วางใจ’

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำหนดโปรแกรมไว้ระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคมนี้ เป็นจุดหักเหที่ทุกฝ่ายกำลังจับตา

Advertisement

ไฮไลต์มี 3 ส่วนด้วยกัน อยู่ที่

1.เนื้อหาการอภิปรายที่กำหนดไว้ 4 วัน ครั้งนี้ ฝ่ายค้านจัดคิวใหม่ ประเดิมเปิดฟลอร์ด้วย รัฐมนตรีจากภูมิใจไทย

ตามมาด้วย พรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นคือคิวของ พลังประชารัฐ ตบท้ายด้วย 3 ป. ทั้งพี่ใหญ่ พี่กลาง และน้องเล็ก

Advertisement

โดยบอกว่า เพื่อรสชาติในการติดตามฟังการอภิปราย และหวังให้ผลสะเทือนจากการอภิปราย เขย่าไปถึงการตัดสินใจลงมติในวันถัดไป

มีการฉายหนังตัวอย่างของเนื้อหาการอภิปรายไปบางส่วน ยังไม่แน่ว่า ถึงวันขึ้นเวทีจริงจะดุเด็ดหรือไม่

ขณะที่รัฐบาลเตรียมตอบ เตรียมชี้แจงเต็มที่ เพราะรู้ว่าหากพลาดท่าตอบผิดตอบถูก จะกลายเป็น “เงื่อนไข” งานเข้า อาจถึงเก้าอี้หลุดได้ง่าย

2.การลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งจะมีขึ้นในวันถัดไป ซึ่งน่าจะเป็นวันที่ 23 กรกฎาคม ต้องเพ่งเล็งไปที่ผลคะแนนจะออกมาอย่างไร และยังต้องเปรียบเทียบผลคะแนนระหว่างผู้ถูกอภิปรายด้วยกันอีก

และ 3.ผลที่จะตามมาหลังการอภิปราย หากนายกฯ เก้าอี้กระเด็น เพราะเสียงไม่ไว้วางใจเกินครึ่งของสภา ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องเก็บของกลับบ้านสถานเดียว จะยุบสภาใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 จากนั้น รัฐสภาต้องสรรหานายกฯ คนใหม่ หรือถ้ารัฐมนตรีสอบตก เสียงไม่ไว้วางใจเกินครึ่ง ก็ต้องพ้นตำแหน่งอีกเหมือนกัน

กลายเป็นเงื่อนไขให้ นายกฯ ปรับ ครม. ตามแรงกดดันจากบางกลุ่มทั้งในพรรคและนอกพรรค

รสชาติที่คาดว่าจะแตกต่างออกไปในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ คือการที่ฝ่ายค้านได้ “น้องใหม่” เข้ามาร่วมวงไพบูลย์

เป็นน้องใหม่หน้าเก่า คือ พรรคเศรษฐกิจไทย ที่ปีกหักมาจากสนามเลือกตั้งซ่อมลำปาง สดๆ ร้อนๆ โดยผู้สมัครพ่ายแพ้ต่อผู้สมัครจากพรรคเสรีรวมไทย ด้วยช่องห่างคะแนนระดับแลนด์สไลด์

ว่ากันว่าผลการเลือกตั้งซ่อมลำปาง เป็นรายการ “สั่งสอน” จากผู้มีอำนาจ ทำให้เศรษฐกิจไทยลงสนามอย่างวิเวกวังเวง

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรค สรุปบทเรียนเอง ชี้ว่า เกิดจากท่าทีของพรรคไม่ชัดเจนเองที่ยังใส่เสื้อกั๊ก สะเทินน้ำสะเทินบก ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ในขณะที่ประชาชนภาคเหนือไม่เอารัฐบาลนี้แล้ว

ผู้มีสิทธิในเขต 4 ลำปาง เลยเลือกพรรคเสรีรวมไทยที่ด่ารัฐบาลชัดถ้อยชัดคำดี แบบเทน้ำเทท่า

เรียกว่า โยนเหตุปัจจัยแห่งความพ่ายแพ้ให้กับรัฐบาลไป

ก่อนจะประกาศว่า ขอปรับเปลี่ยนจุดยืนพรรคไปตามกระแสของประชาชนภาคเหนือ

กราบลา “ลุงป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ไปเลือกข้างใหม่ ถอดเสื้อกั๊กเป็นฝ่ายค้าน

พร้อมกับย้ำว่า งานนี้ “ค้าน 100%”

ผู้กองธรรมนัสให้ข่าวต่อเนื่องว่า กำลังติดต่อขอเข้าร่วมกับ “ฝ่ายค้านร่วม” อย่างเป็นทางการ และขอแบ่งโควต้าเวลาอภิปรายในสภา เพื่อจะได้ร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย

ขณะที่ฝ่ายค้านเอง ไม่ได้มีท่าทีในเชิงลบ เพราะผู้กองธรรมนัสไม่ใช่อื่นไกล เดิมเคยร่วมงานกับเพื่อไทยมาก่อน

ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวโน้มว่าศึกไม่ไว้วางใจครั้งนี้ อุณหภูมิจะแดงเดือดกว่าเดิมอีกหลายองศา โดยเฉพาะพรรคเศรษฐกิจไทยจะร่วมทำหน้าที่ฝ่ายค้านแบบเต็มที่ไม่มีกั๊ก

ทั้งในห้วงของการอภิปราย และในขั้นตอนการโหวต

หากดูจากจำนวนเสียงของรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ไม่แปลกที่วิปรัฐบาลออกมายอมรับว่า หลังจากเศรษฐกิจไทยถอนตัวไป ทำให้เรือแป๊ะของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในสภาพปริ่มน้ำ

สมการเสียงรัฐบาล เป็นปัญหา เพราะเศรษฐกิจไทยที่เคยค้ำรัฐบาลด้วยจำนวน 16 เสียงจะหายไป

แล้วไปเติมให้กับเสียงไม่ไว้วางใจของฝั่งฝ่ายค้าน

นอกจากนี้ กลุ่มพรรคเล็ก หรือกลุ่ม 16 ที่ยืนยันหนุนนายกฯ อาจโหวตสวน 5 รมต. แต่ขอฟังการชี้แจงในสภาก่อน ทำให้เห็นเค้าการปรับเปลี่ยนใน ครม.อยู่ลางๆ

กระแสใหญ่ของการเมืองที่สัมผัสได้ในขณะนี้ ก็คือ ความต้องการของประชาชนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

และกลายเป็นโจทย์ทางการเมือง ที่ทุกฝ่ายต้องหาทาง “ตอบโจทย์” นี้ให้ได้ หากต้องการความไว้วางใจจากประชาชน

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะแลนด์สไลด์ ตอบโจทย์ชัดเจน

การทำงานของผู้ว่าฯชัชชาติ ยิ่งตอกย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนต้องการและลงคะแนนเลือกมานั้น คุ้มค่าและมาถูกทาง

ผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 4 ลำปาง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม แม้จะเกิดในพื้นที่ไกลออกไป แต่สัญญาณชัดมาก และไม่ยากที่จะตีความ

ในทุกโจทย์การเมืองจากนี้ไป การฝืนความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 19-22 กรกฎาคมนี้ ก็ไม่หนีไปจากกระแสนี้ การย่างเท้าเข้ามาร่วมกับฝ่ายค้านของพรรคเศรษฐกิจไทย ตอกย้ำความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง

ขณะที่รัฐบาลเอง มีพันธะที่จะต้องโอบอุ้มกันเอง ซึ่งเป็นพันธะที่เปราะบางมากในกระแสการเมืองอย่างในปัจจุบัน

การอภิปราย 19-22 กรกฎาคม และการลงมติ ในขั้นตอนต่อมา จึงอ่อนไหวมากสำหรับรัฐบาล โดยเฉพาะ “2 ป.” และแกนนำที่เป็นเป้าหมาย

แม้รัฐบาลไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในระยะนี้ แต่การเดินสวนกระแสไม่ใช่เรื่องง่าย

และยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นในเรือแป๊ะ ที่ฝ่าคลื่นลมมาถึงปีที่ 8 แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image