ภาพนำ ‘บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่’ ผ่านนายกฯรักษาการ ลุ้นคำวินิจฉัยวาระ8ปี

ภาพนำ‘บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่’

ผ่านนายกฯรักษาการ

ลุ้นคำวินิจฉัยวาระ8ปี

บทบาทการทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยุติปฏิบัติหน้าที่นายกฯตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยในคำร้องกรณีดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี หรือไม่ โดยพี่ใหญ่ของกลุ่ม 3 ป. เดินเกมบริหารอำนาจการเมืองและการบริหารได้อย่างแนบเนียน ผ่านบทบาทรักษาการนายกฯ เป็นประธานการประชุม ครม.นัดแรก

Advertisement

ด้วยการให้เกียรติ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ที่เว้นว่างเอาไว้ ซึ่ง พล.อ.ประวิตรนั่งเก้าอี้ตัวเดิมของตัวเอง ที่อยู่ข้างเก้าอี้นายกฯ

โดย พล.อ.ประวิตรทำหน้าที่ประธานการประชุม ครม.ได้อย่างคล่องแคล่ว และตื่นตัวตลอดเวลา โดยเปิดโอกาสให้ ครม.ได้ซักถามข้อสงสัยวาระ ครม.อย่างเต็มที่

พร้อมกับสอบถาม ครม.ว่า ใครมีอะไรจะซักถามหรือไม่ ในแต่ละวาระ พร้อมกับโชว์ความเข้มแข็งด้วยการเป็นประธานการประชุม ครม.แบบไม่มีการพักเบรก ประชุมยาวจนจบ และรับประทานอาหารกลางวันบนโต๊ะ โดยมีการจัดเสิร์ฟอาหารให้บนโต๊ะ ไม่ได้เข้าไปกินในห้องอาหารเหมือนเช่นทุกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุม ครม.

Advertisement

ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม. มีมติปรับอำนาจการบริหารในส่วนของรักษาการนายกฯ ให้มีอำนาจเต็มมากยิ่งขึ้นด้วย ด้วยการปรับแก้ไขคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 215/2565 เกี่ยวกับการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประวิตร และอำนาจหน้าที่ของรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีในคำสั่งฉบับนี้ ซึ่งเป็นการปรับปรุงมาจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563

สาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว คือ ในการรักษาราชการแทน พล.อ.ประวิตรมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่ในการเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการ หรือองค์กรใด ส่วนรองนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ในการสั่งการอันใดในการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับความเห็นชอบจาก พล.อ.ประวิตรก่อน ผลของการแก้ไขคำสั่งดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจรักษาการนายกฯของ พล.อ.ประวิตร ให้มีผลย้อนไปตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา

เพื่ออุดช่องว่างไม่ให้เกิดปัญหาในช่วงที่ พล.อ.ประวิตรมานั่งเป็นรักษาการนายกฯ และมีการอนุมัติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ รวมทั้งอนุมัติงบประมาณไปก่อนหน้านั้นด้วย

ขณะที่ภาพและนัยยะการทำหน้าที่รักษาการนายกฯของ พล.อ.ประวิตร ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจราชการและพบปะกับประชาชน อย่างที่ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ภาพความเป็นผู้นำในฐานะรักษาการนายกฯ ที่สวมหมวกหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อีกหนึ่งใบด้วยแสดงให้เห็นถึงบารมีทางการเมืองที่มี ส.ส.ของพรรค พปชร. ทั้งในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และพื้นที่ภาคตะวันออก รวมทั้งหน่วยงานข้าราชการมารอต้อนรับ พล.อ.ประวิตรกันอย่างคึกคัก ขณะที่ พล.อ.ประวิตร นอกจากจะมาเปิดงานติดตามสถานการณ์น้ำตามอีเวนต์ ยังถือโอกาสเยี่ยมเยียนพบปะพูดคุยกับประชาชนที่มารอต้อนรับแบบเป็นกันเอง ซึ่งต่างจากการลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามน้ำท่วมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา แม้อำนาจในการบริหาร พล.อ.ประยุทธ์สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สื่อสารว่ายังทำหน้าที่แก้ปัญหาให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้ แต่กลับเกิดภาพและนัยยะทางการเมืองที่ออกมาในแง่ลบต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากมีประเด็นชาวบ้านที่มาต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม ออกมาในลักษณะตัดพ้อ น้อยใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ลงมาทักทายเยี่ยมเยียนประชาชนแบบเป็นกันเอง

ทั้งที่ประชาชนตั้งใจมารอให้กำลังใจนายกฯ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ฝากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ขอโทษชาว จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ไม่ได้ลงมาเยี่ยมเยียนประชาชน ด้วยการให้เหตุผลว่า “เปิดกระจกรถไม่ได้ เนื่องจากเป็นรถยนต์กันกระสุน อีกทั้งมาในนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงไม่อยากให้มีการบิดเบือนเปรียบเทียบการลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะรักษาการนายกฯ แต่ส่วนตัวรู้สึกดีใจที่ได้เห็นหน้าประชาชน และได้โบกมือทักทายในรถแล้ว”

ส่วนผลทางการเมืองจะฟังขึ้นหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องประเมินกันต่อไป

ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องวินิจฉัยกรณีนายกฯดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปี หรือไม่นั้น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ถูกร้อง คือ นายกฯ ชี้แจงข้อกล่าวภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ส่งคำชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่่ผ่านมาแล้ว โดยเป็นเอกสารที่มีเนื้อหาสาระเหตุผลประกอบคำร้องรวมกว่า 30 แผ่น ซึ่งทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจว่าสามารถหักล้างได้ทุกประเด็นของคำร้องฝ่ายค้าน อาทิ การนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยสถานะความเป็นรัฐมนตรีของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งกรณีของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น พร้อมกับชี้แจงแนวทางในข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ทั้ง 3 แนวทาง คือ เริ่มนับจากวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เริ่มนับวันที่ 6 เมษายน 2560 และเริ่มนับวันที่ 9 มิถุนายน 2562 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบการพิจารณาวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวด้วย

ขณะที่ระยะเวลาการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะชี้ขาดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปีนั้น คำตัดสินที่จะออกมา “ช้า” หรือ “เร็ว” ล้วนส่งผลต่อดุลในทางการเมืองอย่างแน่นอน

ไม่ว่าผลแห่งคำวินิจฉัยจะออกมา “บวก” หรือ “ลบ” กับ พล.อ.ประยุทธ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image