จุดร่วม จุดต่าง เมษายน พฤษภาคม 53 กับ กันยายน 65

จุดร่วม จุดต่าง

เมษายน พฤษภาคม 53

กับ กันยายน 65

การตัดสินใจในเดือนกันยายน 2565 มีทั้งความเหมือนและความต่างกับการตัดสินใจในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

Advertisement

คือต้องการ “จบ”

เพียงแต่การตัดสินใจเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานทาง “การทหาร”

ใช้ “กำลัง” ใช้ “สไนเปอร์”

Advertisement

ขณะที่การตัดสินใจในเดือนกันยายน 2565 มีความเด่นชัดว่าเป็นการกระทำผ่าน “องค์กรอิสระ” ผ่านกระบวนการ “ศาล”

อะไรคือ “จุดร่วม” อะไรคือ “จุดต่าง”

เป้าหมายในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ต้องการสยบการออกมาของ “เสื้อแดง” เป้าหมายในเดือนกันยายน 2565 เป็นอีกอย่างหนึ่ง

จุดร่วมอย่างสำคัญล้วนต้องการ “ไปต่อ”

การ “ไปต่อ” เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 โดยฉากที่เด่นชัด คือการ “ไปต่อ” ของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

บนซากปรักหักพังของ “เสื้อแดง”

ความหมายมิได้มีแต่เพียง “คนเสื้อแดง” ล้วนๆ หากครอบคลุมไปยังมือไม้แห่งพลังที่อยู่เบื้องหลังการมาของ “เสื้อแดง”

นั่นก็คือ พรรคเพื่อไทย

โดยความเชื่อของฝ่าย “การเมือง” ในฐานะรัฐบาล โดยความเชื่อของฝ่าย “กองทัพ” ในฐานะทหารดำเนินไปในลักษณะ “ร่วม”

เชื่อว่าเมื่อลงมือ “ปราบ” ทุกอย่างก็ “จบ”

จึงเมื่อผ่านสถานการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ไปแล้วจึงเดินเข้าสู่สถานการณ์ การเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ด้วยความมั่นใจ

ผลเป็นอย่างไร นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตอบได้ดีที่สุด

ต้องยอมรับว่าในเหตุการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 บรรดา “แกนใหญ่” อันก่อรูปมาในนาม “คสช.” รู้ดีอย่างที่สุด

ไม่ว่า “ประวิตร” ไม่ว่า “ประยุทธ์”

เมื่อทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผนวกรวมเข้ากับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

จึงปรากฏ “นิติสงคราม” ขึ้นมาแทน

เป็นนิติสงครามที่พร้อมจะดำเนินการยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล

และในอีกด้านก็ชู “ตุลาการภิวัฒน์” มาเป็น “เครื่องมือ”

เห็นได้จากบทบาทของ “องค์กรอิสระ” ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

เพียงแต่ครั้งนี้เป็นบทของ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

คำถามก็คือ สถานการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ที่ต้องการให้ “จบ” สามารถจบลงได้อย่างราบรื่นงดงามหรือไม่

คำตอบเห็นได้จากเดือนกรกฎาคม 2554

และเมื่อต้องเผชิญกับการบริหารจัดการกรณีการดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คำถามจึงอยู่ที่ว่าหาก “ไปต่อ” จะ “จบ” หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image