อนุศาสน์ การเมือง ชลน่าน ศรีแก้ว เพื่อไทย กับระบอบ ประยุทธ์

คอลัมน์หน้า 3 : อนุศาสน์ การเมือง ชลน่าน ศรีแก้ว เพื่อไทย กับระบอบ ประยุทธ์

แนวทางและหลักการของพรรคเพื่อไทยที่จะไม่ร่วมกับพรรคการเมืองใดซึ่งกำหนดโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว มีความสำคัญ

สำคัญในระดับเป็น “อนุศาสน์”

1 พรรคที่ชอบไปอ้างว่าเป็นพรรคเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย 1 พรรคที่สนับสนุน “ระบอบประยุทธ์”

“เราจะไม่จับมือกับพรรคเหล่านี้”

Advertisement

ที่ระบุว่าเป็นคำกล่าวในระดับเป็น “อนุศาสน์” เพราะไม่เพียงแต่จะพังทลายข่าวลือ ข่าวปล่อยจากเหล่า IO ระลอกแล้วระลอกเล่า

ว่าจะร่วมกับ “พลังประชารัฐ” ว่าจะร่วมกับ “ภูมิใจไทย”

หากแต่ยังดำเนินไปในลักษณะอันเป็น “บรรทัดฐาน” ของการจำแนกแยกระหว่าง “มิตร” กับ “ศัตรู”
ออกมาอย่างเด่นชัด

Advertisement

ก้าวข้ามมิติของ “นักเลือกตั้ง” โดยสิ้นเชิง

ถามว่าอะไรคือ “เส้นแบ่ง” ระหว่างพรรคการเมืองที่ดำรงความเป็น “นักเลือกตั้ง” กับพรรคการเมืองที่ก้าวข้ามจุดนี้ไป

อยู่ที่เอกภาพระหว่าง “แถลงการณ์” กับ “การปฏิบัติ”

หากพรรคการเมืองใดพร่ำแต่คำว่าประชาธิปไตย “สุจริต” หยามเหยียดประชาธิปไตย “ทุจริต” ครั้งแล้ว
ครั้งเล่า

แต่หลังเลือกตั้งกลับจับมือกับประชาธิปไตย “ทุจริต”

นั่นคือรูปธรรมอันเด่นชัด เพราะไม่ว่าจะใช้น้ำยา “ล้างปาก” ยี่ห้อที่เลิศลอยสักเพียงใด “กลิ่น” จากปากก็ยังโชยกรุ่น

กรุ่นจากเดือนมิถุนายน 2562 มายังเดือนกันยายน 2565

เพราะเป้าหมายของพรรคการเมืองเหล่านั้นคือ ร่วมเป็น “นั่งร้าน” ให้กับสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประยุทธ์” อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

เป็นพรรคการเมืองใด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว มีคำตอบ

บทสรุปของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จึงเท่ากับเป็นการสร้างความชัดเจนในทางการเมือง ยืนยันว่าจะจับมือกับใคร และปฏิเสธใคร

บรรทัดฐานนี้จึงสำคัญและทรงความหมาย

อย่างน้อยแต่ละพรรคการเมืองก็จะต้องนำไป “ทบทวน” และหา “บทสรุป” ให้กับพรรคของตนว่าจะจัดระยะอย่างไร

จะ “ร่วมมือ” กัน หรือจะ “ต่อสู้”

โดยกระบวนการของการเลือกตั้ง การต่อสู้เพื่อเอาชนะใจประชาชนย่อมเป็นด้านหลัก แต่ภายหลังการต่อสู้
ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“ผล” ของการเลือกตั้งนั่นแหละคือ “ดัชนี” ชี้ทิศทาง

คำว่า “ระบอบประยุทธ์” นั่นแหละ คือ บรรทัดฐานอันดำรงอยู่ในลักษณะเป็น “เส้นแบ่ง” อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้พ้น

เพียงแต่ “ระบอบประยุทธ์” มิได้หมายเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สถานการณ์ในห้วงแห่งคำสั่ง “พัก” การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงทรงความหมาย

ทั้งต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตรง

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ความเป็นจริงของ “ระบอบ” ซึ่งเพียงแต่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น “ตัวแทน” หนึ่ง

“ประยุทธ์” ไปแล้ว “ระบอบ”ก็ยังดำรงอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image