หน้า 3 วิเคราะห์ : ไทม์ไลน์เลือกตั้ง7พ.ค.66 ฝ่ากฎเหล็กห้วง 180 วัน ชิงความเป็นขั้วการเมือง

ไทม์ไลน์เลือกตั้ง7พ.ค.66

ฝ่ากฎเหล็กห้วง 180 วัน

ชิงความเป็นขั้วการเมือง

ไทม์ไลน์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่แผนเตรียมพร้อมการเลือกตั้ง ส.ส. กรณีสภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ไว้แล้ว โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ โดยเบื้องต้น กกต.กำหนดให้วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป

Advertisement

แผนจัดการเลือกตั้งเบื้องต้นที่ กกต.กำหนดนับจากวันที่ 23 มีนาคม 2566 ที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง วันที่ 30 มีนาคม 2566 จะเป็นวันสุดท้ายที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ วันที่ 31 มีนาคม 2566 กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง และประกาศกำหนดวันรับสมัคร วันที่ 3-7 เมษายน 2566 เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 11 เมษายน 2566 วันสุดท้ายของการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง และสถานที่เลือกตั้ง และเป็นวันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง วันที่ 14 เมษายน 2566 ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. วันที่ 16 เมษายน 2566 เป็นวันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน และสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน สำนักงาน กกต.ยังได้เตรียมแผนการเลือกตั้งรองรับกรณีหากมีการยุบสภา ซึ่ง กกต.จะต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 กำหนด ซึ่งภายใน 5 วันนับแต่วันมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา กกต.จะต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป และวันสมัครรับเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาไว้รองรับหากผู้มีอำนาจตัดสินใจยุบสภาก่อนที่สภาจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งจะมีนัยยะของความได้เปรียบ-เสียบเปรียบในทางการเมืองต่อการเตรียมความพร้อมทั้งตัวผู้สมัคร ส.ส. และการจัดเตรียมนโยบายของพรรคที่รับรู้ความเคลื่อนไหวว่าจะมีการยุบสภาเมื่อใดเพื่อชิงความได้เปรียบในทางการเมือง

ส่วนที่นักการเมือง รวมทั้งผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ของทุกพรรค ที่จะลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าในห้วงปี 2566 ต้องจับตาและให้ความสำคัญ คือ กฎเหล็กในช่วง 180 วัน ก่อนที่สภาจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 24 กันยายนนี้เป็นต้นไปโดยเฉพาะแนวปฏิบัติของพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จะต้องปฏิบัติตามเหมือนกับช่วงที่มีประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง เหมือนกับที่ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ระบุว่า นับแต่วันที่ 24 กันยายน จะถือว่าเข้าโหมดการเลือกตั้ง 100% ขณะที่พรรคการเมืองจะจัดระดมทุน เปิดตัวผู้สมัคร ก็สามารถทำได้ตามปกติ ตราบใดที่ไม่ได้ให้ทรัพย์สิน ซึ่งคิดว่าพรรคการเมืองน่าจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ดี

Advertisement

สำหรับการลงพื้นที่จัดกิจกรรมของพรรคการเมืองถ้าเป็นการหาเสียงต้องคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง แต่ถ้าเป็นการหาเสียงโดยที่พรรคการเมืองไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการคิดเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคตามปกติ ผู้สมัครถ้าไปทำอะไรที่ไม่ใช่เป็นการหาเสียงไม่ต้องนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่าย แต่ถ้าอะไรที่ผิดกฎหมาย เช่น การช่วยเหลือน้ำท่วมก่อนช่วงระยะเวลา 180 วันให้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท ถ้าเกินต้องนำมารวมเป็นค่าใช้จ่าย แต่พอมาในช่วงระยะเวลา 180 วันจะให้ไม่ได้เลย ถ้าให้ถือว่าผิดกฎหมาย

ส่วนผู้สมัครที่มีการขึ้นป้ายหาเสียงไว้ก่อนเข้าช่วงระยะเวลา 180 วัน ต้องมีการปลดป้ายดังกล่าวลงมาและแก้ไขให้ป้ายเป็นไปตามขนาด และติดตั้งตามสถานที่ตามที่ กกต.ประกาศ เรื่องป้ายกำหนด

นอกจากกฎเหล็ก 180 วัน ที่เข้าสู่ช่วงนับถอยหลังสภาครบวาระนั้น แต่ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2560 ยังเปิดช่องให้ ส.ส.ที่คิดจะย้ายพรรค โดยไม่ต้องจัดเลือกตั้งซ่อม ตามมาตรา 105 ระบุว่า ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎร เหลือไม่ถึง 180 วัน ไม่ต้องมีเลือกตั้งซ่อม ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ ส.ส.ย้ายไปอยู่สังกัดพรรคใหม่ได้

ขณะที่อีกหนึ่งเงื่อนไขในกรอบ 90 วัน จะเป็นอีกปัจจัยที่กำหนดให้คนที่จะลงสมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 97 (3) และเว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลา 90 วันดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30 วัน ที่จะส่งผลแพ้-ชนะ ต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย

สําหรับความพร้อมของพรรคการเมืองแต่ละพรรค แม้จะรอความชัดเจนในข้อปฏิบัติเรื่องการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ กกต.จะประกาศระเบียบในราชกิจจานุเบกษา เป็นกฎเหล็ก 180 วัน แต่เรื่องที่ทุกพรรคต้องเตรียมไว้ให้พร้อม คือ ขุนพล ทั้งตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในแต่ละเขตพื้นที่ รวมทั้งผู้สนับสนุนให้พรรคลงสู้ศึกเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ ภายใต้สมมุติฐานพร้อมเลือกตั้งในทุกสถานการณ์ทั้งกรณีสภาอยู่ครบวาระ และยุบสภา แต่ละพรรคหลักจึงเดินสายเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ในแต่ละพื้นที่ พร้อมกับประกาศตัวเป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาล ตามเป้าหมาย

ของจำนวนเสียง ส.ส. ที่แต่ละพรรคชูเป้าหมายขึ้นมาเอาฤกษ์เอาชัยในการลงสนามเลือกตั้ง อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) ชูกลยุทธ์ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ มากกว่า 250 เสียง เพื่อเป็นฉันทานุมัติถึงความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งเสียง ส.ส.ที่ต้องชนะมาให้ได้ไม่ต่ำกว่า 250 เสียง ยังเป็นเงื่อนไขต่อการโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พท. สู้ กับเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่ยังมีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้อีกหนึ่งครั้งตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งมีการวิเคราะห์ตรงกันว่า 250 ส.ว. จะเลือกนายกฯตามที่กลุ่มผู้มีอำนาจส่งสัญญาณมา เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศความมั่นใจผ่านคำยืนยันของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ประกาศความพร้อมว่า พร้อมเป็นต้นขั้วหลักในทางการเมือง ที่พร้อมเป็นหนึ่งในพรรคหลักต่อการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

ส่วนพรรคไหนจะได้เป็นส่วนหนึ่งในสมการทางการเมืองได้หรือไม่ คงต้องรอคำตอบจากผลการเลือกตั้งที่ประชาชนจะมอบฉันทามติให้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image