อำนาจ การเมือง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ การปรับ ครม.

คอลัมน์หน้า 3 : อำนาจ การเมือง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ การ ปรับครม.

สถานการณ์การปรับ ครม.อันมีจุดเริ่มมาจากการลาออกของ นายนิพนธ์ บุญญามณี กำลังเป็นเครื่องทดสอบอย่างสำคัญ

ต่อ “สถานะ” ของ “รัฐบาล”

และที่สำคัญอย่างสูงสุดก็คือ ต่อ “อำนาจ” ในความเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีมากเพียงใด

คำถามก็คือ จะ “ปรับ” อย่างไร

Advertisement

จะปรับเล็กเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยอันเป็นตำแหน่งเดิมของ นายนิพนธ์
บุญญามณี ตำแหน่งเดียว

หรือจะกลายเป็น “โดมิโน”

ในทาง “การเมือง”ในเมื่อความต้องการต่อตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ไม่ได้มีเพียง 1 คนตรงกันข้าม หากเท่าที่สำแดงตนก็มากไม่ต่ำกว่า 3

Advertisement

นั่นแหละ คือความหวาดเสียวจนชวนให้สยอง

ความปรารถนาของพรรคประชาธิปัตย์ ความปรารถนาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจำกัดกรอบอยู่เพียง 1 ตำแหน่ง

แต่ความต้องการ “ภายใน” จะยินยอมหรือ

ความต้องการในที่นี้มิได้จำกัดเพียงคนของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น หากแต่ยังมีคนของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภายใน”ของพรรคพลังประชารัฐ

ในเมื่อพื้นฐานเดิมของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อเดือนกันยายน 2564 ก็มี 2 รัฐมนตรีในโควต้าของตนถูกปลด

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน

คำถามก็คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานยังเป็นของพรรคพลังประชารัฐอยู่หรือไม่

เป็นคำถามต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สภาพการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันจึงปรากฏมรสุมแห่งความขัดแย้งเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างเด่นชัดใน 2 พรรคร่วมรัฐบาล

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ

พรรคประชาธิปัตย์แม้สถานะของ นายนริศ ขำนุรักษ์ จะมั่นคง แต่ก็มีกระแสจากไม่ต่ำกว่า 3 คนต้องการเก้าอี้ตัวนี้

ยิ่งภายในพรรคพลังประชารัฐยิ่งเข้มข้น

พลันที่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่างลง2 ตำแหน่ง ข้อเสนอจาก 14 ส.ส.ภาคใต้ก็ดังขึ้น ประสานกับข้อเสนอเดิมของ ส.ส.กลุ่มสมุทรปราการ

ยังความต้องการเก้าอี้ใน “มหาดไทย” อีกเล่า

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงสะท้อนความอิหลักอิเหลื่อ อยู่ในอาการยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก
โดยพลัน

จำเป็นต้องเด็ดใบไม้ ปรับ ไม่ปรับ สลับกันไป

ระยะเวลาที่เหลืออีกเพียง 6-7 เดือนก่อนถึงเดือนมีนาคม 2566 สะท้อนทั้งความไม่จำเป็นและความจำเป็นทางการเมือง

ขณะที่ “ความจำเป็น” มีความเหนือกว่า

เนื่องจากเป็นระยะที่กำลังเดินเข้าสู่ “โหมด” ของการเลือกตั้ง การจัดวาง“กำลังคน” เพื่อรับมือจึงมากด้วยความละเอียดอ่อนและอ่อนไหว

คำถามอยู่ที่ว่า “อำนาจ” แท้จริงอยู่ใน “มือ” ใคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image