‘บิ๊กตู่’ ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 นำ ‘รทสช.’ สู้ตามวิถีปชต. ผลเลือกตั้งคำตอบไปต่อ?

‘บิ๊กตู่’ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ1

นำ‘รทสช.’สู้ตามวิถีปชต.

ผลเลือกตั้งคำตอบไปต่อ?

มีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ต่อการเดินหน้าลงสนามเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในห้วงไตรมาส 2 ของปี ตั้งแต่การจัดเตรียมขุนพล เริ่มจากผู้สมัคร ส.ส.ไปจนถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่วางตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรายชื่อแคนดิเดตนายกฯลำดับที่ 1 ของพรรค รทสช.

Advertisement

ขณะเดียวกันพรรค รทสช.ยังได้จัดวางโครงสร้างพรรคใหม่ ด้วยการแต่งตั้ง “ตัวจริง” ในระดับนำทางการเมืองผ่านบทบาท คณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค มีระดับนำ 12 คน นั่งเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองประธาน และมีกรรมการประกอบด้วย 3.นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี 4.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 5.นายชัชวาลล์ คงอุดม 6.นายชุมพล กาญจนะ 7.นายวิทยา แก้วภราดัย 8.นายสุชาติ ชมกลิ่น 9.นายธนกร วังบุญคงชนะ 10.นายเสกสกล อัตถาวงศ์ 11.นายอนุชา บูรพชัยศรี 12.นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร 13.นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว 14.นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ 15.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

พร้อมกับวางบทบาทและอำนาจของคณะกรรมการชุดดังกล่าว คือ 1.กำหนดแนวทางการทำงานและยุทธศาสตร์พรรค 2.เสนอแนะ แนะนำ และให้ความเห็นต่อคณะกรรมการบริหารพรรคเกี่ยวกับการดำเนินการและการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรค 3.เสนอแนะ แนะนำ และให้ความเห็นต่อหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการต่างๆ ของพรรค และสมาชิกพรรค เกี่ยวกับการดำเนินการและการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคและสมาชิกพรรค 4.ดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

หากถอดรหัสวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค รทสช. ย่อมไม่ต่างกับการมี “ซุปเปอร์บอร์ด” ขึ้นมาเพื่อควบคุมและชี้ทิศทางการเดินหน้าของพรรค รทสช. มีอำนาจเหนือคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่มักจะวางโครงสร้างการบริหารพรรคไว้ที่ กก.บห.

Advertisement

ขณะเดียวกัน พรรค รทสช.ยังแก้เกมและจุดอ่อนในทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่จะอยู่ในสถานะลอยตัว ไม่ยึดโยงในทางการเมืองกับการรอเทียบเชิญนั่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คุมกลไกในอำนาจของฝ่ายบริหารเพียงอย่างเดียว ด้วยการจัดให้ พล.อ.ประยุทธ์ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ของพรรค รทสช. ซึ่งถือเป็นเรื่องดีของการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยในระบบตัวแทน ที่ประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับทราบแคนดิเดตนายกฯ และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนในฐานะผู้แทนราษฎร บริหารงานของฝ่ายนิติบัญญัตินำปัญหาของประชาชนมาแก้ปัญหาโดยผ่านกลไกของสภา

สอดคล้องกับมุมมองของนักวิชาการ อย่าง ตรีเนตร สาระพงษ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่วิเคราะห์ว่า “การเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค รทสช. สื่อความว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนักการเมืองเต็มตัว ท่วงทีการก้าวย่างรวมถึงบุคลิกท่าทางที่ใจร้อนต้องคิดใหม่ และไม่ลืมว่ากำลังแบกชื่อเสียงของพรรคไปด้วย ภาพความเป็นนักการเมืองที่ชัดเจนขึ้นจะนำไปสู่คะแนนนิยมให้กับพรรค รทสช.หรือไม่คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องยอมรับว่าความนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อครั้งเป็นผู้นำปฏิวัติกับช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างจะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะกลุ่มผู้ที่เคยสนับสนุนย่อมมองเห็นวิสัยทัศน์การนำพาประเทศ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจากคนรอบข้างหรือข้าราชการ หลายกรณีมีภาพความไม่เคลียร์ หรือภาพการชนะทุกคดีแบบค้านสายตาคนดู และปัญหาความไม่สงบของบ้านเมืองก็ไม่ได้มีอยู่แล้ว นั่นคือปัญหาหลักต่อปัจจัยการไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น การมีตำแหน่งในพรรค รทสช.จึงไม่น่าจะช่วยผลักดันสู่ความนิยมจากเดิมมากนัก อย่างไรก็ตาม การมีตำแหน่งในพรรค หรือการเป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 จะช่วยเรื่องเสถียรภาพความมั่นคงของตัวเองมากขึ้น เพราะตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคจะเป็นกลไกที่ต้องคลุกคลีดูแลกับบรรดา ส.ส. และกลุ่มการเมืองในพรรค รวมถึงการลงพื้นที่พบปะประชาชน จะช่วยให้รับรู้ปัญหาในพื้นที่มากกว่าการเป็นผู้นำที่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง”

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จะนำพรรค รทสช.ไปต่อในทางการเมืองได้ถึงขั้นไหน ย่อมเป็นตามสเต็ปและแปรผันไปตามผลการเลือกตั้ง โดยสเต็ปแรกต้องลุ้นว่าพรรค รทสช.จะได้เสียง ส.ส.ผ่านเป้าหมายแรก คือ 25 เสียง ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ ตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่จะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือกแข่งกับแคนดิเดตนายกฯของพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งในขั้วของฝ่ายอนุรักษนิยม พรรค รทสช.ยังต้องแย่งฐานเสียงในกลุ่มเดียวกันเอง อย่างพรรค พปชร.ที่ชู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร.เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯเช่นกัน หากพรรค รทสช.ได้เสียง ส.ส.น้อยกว่าพรรค พปชร. ความชอบธรรมที่จะอ้างฉันทามติของประชาชนที่สนับสนุนให้เป็นนายกฯอีกครั้งก็ย่อมน้อยตามไปด้วย

ทั้งหมดทั้งมวลจึงอยู่ที่ฉันทามติผ่านผลการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเที่ยงธรรม จะเป็นตัววัดอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรค รทสช.ว่าจะได้ไปต่อหรือพอแค่นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image