‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ ทำไม

‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ ทำไม

แม้ประเทศไทยเราจะประกาศต่อสากลโลก หรือนานาชาติว่า “ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย” แต่กลับเป็นประชาธิปไตยที่ทำความเข้าใจได้ยากมากว่า “เป็นระบอบการปกครองแบบไหนกันแน่”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ไปประกาศ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” เป็นมอตโตหาเสียงเรียกคะแนนจากประชาชน

ทำให้เกิดการกล่าวขวัญไปกว้างขวางว่า “ช่างกล้า” เพราะในสายตาของคนจำนวนมากต่างเห็นร่วมกันว่ากว่า 8 ปีที่นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีบริหารประเทศผลงานที่ออกมาจากรัฐบาลภายใต้การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารชุดนี้ ไม่เพียงไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเท่านั้น แต่เกือบทั้งหมดกลับสะท้อนการนำพาประเทศถอยหลังเข้าคลองไปทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น

Advertisement

การเมืองที่สร้าง “ระบอบสืบทอดอำนาจ” ให้แข็งแกร่ง ยากจะเปลี่ยนแปลง

เศรษฐกิจที่มุ่งส่งเสริมการผูกขาดทางธุรกิจ ขยายความเหลื่อมล้ำ สร้างกลไกที่ทำให้ปากท้องของประชาชนส่วนใหญ่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุนใหญ่ส่วนน้อย

และสังคมที่นำพาความคิดความเชื่อของผู้คนไปหลงอยู่ในความงมงาย กระจายไปทั่วทั้งแผ่นดิน เทคโนโลยีแทนที่จะบริหารให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างความรู้และภูมิปัญญาให้ประชาชนกลับกลายเป็นช่องทางรุ่งโรจน์ของอาชญากรรมที่มาสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของประชาชน และชักนำเยาวชนให้หลงไปในช่องทางแห่งอบายมุข โดยเจ้าหน้าที่รัฐแทนที่จะทำหน้าที่ปราบปรามกลับสมคบคิดร่วมกับอาชญากรทำลายสังคมที่ดีงาม โดยมีหลักฐานที่ถูกนำมาแฉชัดเจน

Advertisement

นั่นเป็นสภาพของประเทศ และความเป็นไปในชีวิตของประชาชนในช่วงกว่า 8 ปีที่อยู่ภายใต้การบริหารรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากคณะรัฐประหาร

ทำให้เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะผู้นำการสืบทอด ประกาศแคมเปญการหาเสียงเลือกตั้งว่า “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” คนจำนวนมากที่ได้ยินจึงถึงกับอึ้งว่า “ช่างกล้า”

แต่นั่นดูเหมือนจะเป็นอาการจากความคิดของคนกลุ่มนั้น สำหรับตัว “พล.อ.ประยุทธ์” และ “ทีมงาน” คงไม่คิดอย่างนั้นแน่นอน

จะต้องเชื่อมั่นเต็มหัวใจว่าที่ “ทำแล้ว ทำอยู่” นั้นเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างเลิศหรู กระทั่งยินดีปรีดาที่กับการประกาศว่าจะ “ทำต่อ”

แน่นอน ต้องเป็นความเชื่อมั่นว่าจะเรียกกระแสสนับสนุนให้ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” ต่อไป

หากมองเผินๆ จะเห็นว่าเป็นเรื่องประหลาดมาก เพราะยากจะเชื่อว่า “ประชาชนส่วนใหญ่” ปลาบปลื้มยินดีไปกับผลงานแบบนั้น “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ”

แต่ถ้ามองให้ละเอียดลงไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องการสื่อไปถึง จะเห็นว่ามีเหตุมีผลในทางที่เป็นผลดีต่อการยึดครองคะแนนนิยม

พรรครวมไทยสร้างชาติของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ได้หวังว่าจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว ขอแค่ได้ 25 เสียงขึ้นไปที่ทำให้เพียงพอจะเสนอ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

แต่จะเป็นการดีหากจะได้มากกว่านั้น เพราะจะเป็นเหตุผลนำมาอ้างในเรื่องความชอบธรรมได้บ้าง ที่มีบางคนในพรรคนี้คาดหวังไว้คือ 100 เสียง ซึ่งไม่ใช่พรรคที่ชนะได้เสียงข้างมากอยู่ดี

หากมองการเมืองให้ละเอียดลงไป จะพบว่าไม่มีทางเลยที่ “พรรค พล.อ.ประยุทธ์” จะได้เสียงจากประชาชนฝั่งประชาธิปไตย

การรวบรวมเสียงจะเป็นการช่วงชิงมาจาก “พรรคฝ่ายอนุรักษ์อำนาจนิยม” ด้วยกันเอง “แนวร่วม” เป้าหมายน่าจะอยู่ที่จาก “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ” เป็นหลัก

เป็นคะแนนจากผู้คนที่พึงพอใจการนำการเมืองสู่ “ระบบอำนาจนิยม” เพราะไม่ชอบ “เสรีนิยม” ได้รับประโยชน์ หรืออยู่ในเครือข่ายของ “ธุรกิจผูกขาด” รวมถึง “ธุรกิจสีเทา” ที่สะดวกสบายกับการทำมาหากินในระบบอำนาจนี้ และเลยถึงกลุ่มคนที่หลงอยู่ในความเชื่องมงาย ใช้ชีวิตอยู่กับการพึ่งพาอำนาจที่เหนือกว่า

“ทำแล้ว” จึงเป็นผลงานที่พึงพอใจ “ทำอยู่” จึงชวนให้ชื่นชม และ “ทำต่อ” จึงเป็นความหวัง

ไม่ต้องใส่ใจว่าคนส่วนใหญ่จะคิดจะรู้สึกอย่างไร แค่ทำให้กลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายเหล่านี้เทคะแนนมาให้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ไม่แบ่งไปให้พรรคในสายเดียวกัน

นั่นเป็นความสำเร็จตามเป้าหมายแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะกล้ากระกาศมอตโตการเมืองที่ชวนให้อึ้งกันทั่วหน้าแบบนั้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image