ชะตากรรมจาก‘ผู้ชนะ’

ชะตากรรมจาก‘ผู้ชนะ’

การต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ถึงที่สุดแล้วฝ่ายไหนจะขึ้นไปยืนอยู่บนแท่นผู้ชนะ ระหว่างพรรคการเมืองที่อาศัยความไว้วางใจของประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว กับพรรคที่มีโครงสร้างอำนาจซึ่งออกแบบไว้พร้อมเข้ามาจัดการเกื้อหนุนให้

โครงสร้างการเมืองที่ถูกออกแบบไว้ชัดเจนในทาง “เกื้อหนุนการสืบทอดอำนาจ”

Advertisement

ทำให้มีความเชื่อกันไปแล้วว่าที่สุด “ใครจะเป็นผู้ชนะ”

ชัยชนะในที่นี้ไม่ใช่ผลการเลือกตั้ง ไม่ใช่พรรคไหนจะได้รับเลือกตั้งให้มี ส.ส.มากที่สุดในสภาเหมือนชัยชนะที่ประกาศได้อย่างภาคภูมิ อย่างมีศักดิ์ศรีเหมือนในอดีต

แต่เป็นชัยชนะในฐานะพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีอะไรเหมือนเก่า แค่ได้ ส.ส.ตามกติกาที่ออกแบบไว้ ให้พอที่กลไกตามโครงสร้างอำนาจสามารถเข้ามาสนับสนุนจัดการให้ได้

Advertisement

ชัยชนะอยู่ที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” ให้ได้ เพราะเมื่อได้ “อำนาจนายกรัฐมนตรี” มาแล้วทุกอย่าง
ก็ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ “อำนาจยุบสภา” ข่มขวัญพรรคการเมืองที่ต่างรู้ว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งนั้นเป็นความหนักหนาสาหัสของชีวิต ไม่มีนักการเมืองคนไหนอยากให้เลือกตั้งบ่อยๆ ดังนั้นอะไรที่ยอมได้มักจะยอมกันไปก่อน

แค่มี “อำนาจนายกรัฐมนตรี” ก็ควบคุมได้

แม้จะเริ่มต้นอย่างไม่มั่นคง เพราะใช้กลไกของการสืบทอดอำนาจมาจัดการมากกว่าความนิยมชมชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ แต่เมื่อได้อำนาจมาแล้วการสร้างเสถียรภาพหรือความมั่นคงสามารถทำได้โดยไม่ยากเย็น

เสถียรภาพที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ในสภา

ในความเป็นจริงคือ ไม่ว่าช่วงหาเสียงประกาศคำแรงถึงขั้นตัดญาติขาดมิตร ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยอย่างไร แต่เมื่อรู้ชัดว่าใครยึด “อำนาจนายกรัฐมนตรี” ไปได้ พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็อ่อนลงเหมือน
“ลิงเห็นสวนกล้วย” ต่างหาเหตุผลที่จะขอเข้าร่วมอย่างไม่เหลือความละอายที่ต้องเลียน้ำลายตัวเองเพื่อกลืนกลับ

การเมืองที่มุ่งไปที่การได้มีส่วนร่วมในอำนาจ คนที่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของโควต้าอำนาจที่จะเป็นผู้แบ่งปันย่อมได้รับความเคารพนบนอบ โดยไม่ต้องมีอะไรยึดโยงกับประชาชนอีกแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นคือ หากต้องการเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมก็ทำได้ง่ายมาก โดยสร้าง “ระบบเพาะเลี้ยงงูเห่า” ขึ้นมา จะทำให้แม้ผู้บริหารพรรคบางพรรคประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยอย่างแข็งขันเอาเป็นเอาตาย แต่ไม่ใช่ว่าจะทำให้ “ส.ส.ในพรรคมีพฤติกรรมอย่างที่ ผู้บริหารพรรคกำหนด”

เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.จะมาจากพรรคไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่พรรคร่วมรัฐบาล เสถียรภาพประกาศได้เลยว่ามาจาก “ส.ส.ฝ่ายค้านจำนวนหนึ่ง” ในถูกบริหารจัดการด้วย “ระบบเพาะเลี้ยงงูเห่า”

เป็นความแปลกประหลาดที่สามารถบริหารจัดการได้ตามกติกาที่ออกแบบไว้เพื่อส่งเสริมการสืบทอดอำนาจ โดยไม่มีใครทำอะไรได้

ในการหาเสียงเลือกตั้งที่กำลังดำเนินไป จะเห็นว่าพรรคที่มีโอกาสในอำนาจขึ้นอยู่กับความนิยมชมชอบของประชาชนเท่านั้น จะบริหารจัดการการหาเสียงอย่างเป็นการเป็นงาน เป็นระบบที่ทำความเข้าใจกับประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ พร้อมนำเสนอนโยบายที่ศึกษามาเป็นอย่างดีว่าทำแล้วประชาชนจะได้รับประโยชน์

แต่อีกฝ่ายที่ไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากนัก เพราะรู้อยู่แล้วและเชื่อว่ากติกาและโครงสร้างอำนาจที่ออกแบบไว้จะจัดการให้สืบทอดอำนาจได้ แค่ตามน้ำหาเสียงไปเท่าที่ต้องแสดงกันไป

จำนวน ส.ส.ที่ได้ยังต้องห่างกันลิบลับ ฝ่ายหนึ่งต้องให้ได้มากกว่าค่อนสภา หรือ 376 คนขึ้นไป
อีกฝ่ายหนึ่งขอแค่ 25 เสียง พอที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ต่อให้เป็นการทุ่มเงินเพื่อซื้อเก้าอี้ ส.ส. ย่อมเห็นได้ชัดว่าใครทำได้ทันที ใครทำได้ยาก

ที่สุดแล้วใครจะเป็น “ผู้ชนะ” โครงสร้างการเมืองที่เป็นอยู่ ยังแทบไม่เกี่ยวกับประชาชนส่วนใหญ่เลย

ตราบใดที่ “นักการเมืองส่วนใหญ่” ยังมุ่งแสวงอำนาจเพื่อผลประโยชน์ และประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าต้องมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงระบบที่ออกแบบไว้เช่นนี้อย่างจริงจัง

“ผู้ชนะ” จะยังนำความอ่อนระอา และน่าเศร้าในชะตากรรมของประเทศมาให้เหมือนเดิม

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image